คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความถูกต้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 139 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8019/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐาน (สำเนาเอกสาร) แม้ต้นฉบับสูญหาย หากไม่มีข้อโต้แย้งความถูกต้อง
แม้สำเนาใบส่งของจะเป็นสำเนาเอกสารก็ตาม แต่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าต้นฉบับถูกทำลายไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้ ทั้งโจทก์ได้แนบสำเนามาท้ายฟ้อง จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว เพียงแต่คัดค้านว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนามิใช่ต้นฉบับ จึงฟังได้ว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องเป็นจริงแล้ว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานเอกสารต้องพิสูจน์ความแท้จริงและถูกต้อง หากไม่มีกฎหมายยกเว้น และจำเลยมีภาระพิสูจน์หากฟ้องว่าโจทก์ปกปิดข้อมูล
พยานเอกสารที่ส่งมาตามคำสั่งเรียกของศาลนั้น คงรับฟังได้แต่เพียงว่าผู้จัดส่งเป็นผู้ครอบครองเอกสารนั้นไว้ แต่การที่จะรับฟังได้ว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องนั้น ผู้อ้างเอกสารจะต้องนำสืบพิสูจน์ต่อศาลอีกชั้นหนึ่ง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าไม่ต้องพิสูจน์ รายงานแพทย์ที่โรงพยาบาลที่จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกมาจากโรงพยาบาลนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่ต้องพิสูจน์ความแท้จริงและความถูกต้อง เมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าโจทก์มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดีในขณะทำสัญญาประกันชีวิตและไม่เคยแจ้งแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง จำเลยมีภาระในการพิสูจน์ว่ารายงานแพทย์ดังกล่าวที่ระบุว่าโจทก์มีประวัติเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงนั้นแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยอ้างส่งรายงานแพทย์ลอย ๆ โดยมิได้นำแพทย์ที่ซักประวัติโจทก์หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาเบิกความยืนยันให้เห็นว่าเป็นรายงานแพทย์ที่แท้จริงและถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ให้รายละเอียดกับแพทย์ผู้ตรวจรักษาตามรายงานแพทย์เอกสารหมาย ป.ล. 3 ไว้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9220/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังเอกสารแปล & อายุความฟ้องเรียกเงินคืน
โจทก์อ้างเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลซึ่งมีผู้แปลอาชีพเป็นผู้แปลประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ จำเลยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ขณะเบิกความถึงเอกสารดังกล่าวว่าคำแปลไม่ถูกต้อง ทั้งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องนำผู้แปลเอกสารภาษาต่างประเทศมาสืบเพื่อรับรองความถูกต้องของคำแปล เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่าคำแปลตอนไหนไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนอย่างไร จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะโต้แย้งหรือเสนอคำแปลที่ถูกต้องได้ แต่จำเลยที่ 1 หาได้กระทำการดังกล่าวไม่ จึงถือได้ว่าคำแปลดังกล่าวถูกต้องแล้ว และศาลชอบที่จะรับฟังเอกสารดังกล่าวได้
ธนาคารโจทก์สาขาท่าแพโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้ง ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 หัวหน้าศูนย์บริการการค้าต่างประเทศของโจทก์ สาขาท่าแพ ตรวจสอบการจ่ายเงินให้ลูกค้าทั้งสองครั้ง พบว่าเป็นการจ่ายตามคำสั่งของลูกค้าต่างประเทศเพียงครั้งเดียว จึงถือว่าโจทก์ทราบเหตุการโอนเงินผิดพลาดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2537 จึงยังไม่พ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืน คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานเอกสาร: สำเนาเอกสารต้องมีข้อตกลงความถูกต้องจากทุกฝ่าย
ป.วิ.พ. มาตรา 93 บัญญัติว่า "การอ้างเอกสารเป็นพยานนั้น ให้ยอมรับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่ (1) เมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว?" จำเลยทั้งสองได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การโดยแจ้งชัดว่า โจทก์มิได้รับประกันภัยรถยนต์คันพิพาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารแล้ว เมื่อไม่ต้องด้วยกรณีข้อยกเว้นดังกล่าว สำเนาเอกสารจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4658/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขชื่อจำเลยในคำพิพากษาและการลงโทษความผิดเครื่องหมายการค้า
โจทก์ฟ้องบริษัทรุ่งชัยอะไหล่เทรดดิ้ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ที่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในช่องคู่ความว่าบริษัทรุ่งชัยเทรดดิ้ง จำกัดจึงเป็นกรณีการพิมพ์ผิดพลาดซึ่งชอบที่จะแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจที่จะแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9578/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดค่าเสียหายขนส่งสินค้าและความถูกต้องของการกำหนดค่าทนายความ
จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าประเภทน้ำยางดิบจำนวน4 ตู้คอนเทนเนอร์ จากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปส่งให้แก่ผู้ซื้อที่เมืองเซนต์ ชองประเทศแคนาดา โดยโจทก์รับทำการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ส่วนจำเลยผู้ส่งมีหน้าที่รับตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรจุสินค้าน้ำยางดิบเข้าตู้เอง ขณะจำเลยส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ให้แก่โจทก์ ตู้อยู่ในสภาพเรียบร้อยดี โจทก์จึงได้ออกใบตราส่งแบบปราศจากข้อสงวนให้แก่จำเลย เมื่อสินค้าไปถึงประเทศแคนาดา ระหว่างที่นำสินค้าทั้ง 4 ตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นบรรทุกบนโครงรถไฟเพื่อนำไปส่งให้แก่ผู้ซื้อ ปรากฏว่ามีน้ำยางดิบไหลหยดออกมาจากใต้ตู้ เมื่อเปิดตู้ตรวจดูแล้วพบว่าถุงที่บรรจุน้ำยางฉีกขาดบริเวณปากถุง แต่ความเสียหายมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดของจำเลยผู้ส่งในการบรรจุน้ำยางดิบเข้าถุงและบรรจุถุงเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยเป็นเงินเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และ 142(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณโทษผิดพลาดในคดีจำหน่ายยาเสพติด ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเพื่อความถูกต้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน เป็นการคำนวณโทษผิดพลาด ที่ถูกเป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยมิได้แก้ไขจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225 ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6873/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: หนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้อง ทำให้โจทก์ขาดอำนาจฟ้อง
ในการฟ้องคดีอาญาของผู้เสียหาย ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์มีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์คงมีแต่ บ. ผู้ช่วยเลขานุการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารโดยมิได้มีการประทับตราสำคัญของโจทก์กำกับไว้ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ จึงถือไม่ได้ว่า บ. ได้กระทำการโดยชอบในฐานะผู้แทนบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีผลเท่ากับโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจฟ้องคดีนี้ได้โดยชอบ ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความแต่งตั้งทนายความฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ยื่นสำเนาหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ในชั้นฎีกาตามเอกสารท้ายฎีกาโดยฝ่ายจำเลยไม่มีโอกาสนำสืบหักล้าง จึงไม่อาจรับฟังได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยบางคนที่หลบหนี ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่ายกฟ้องจำเลยคนใด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5624/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นสำเนาเอกสารที่เจ้าพนักงานรับรอง แม้ผู้รับรองไม่มีอำนาจโดยตรง แต่เอกสารตรงกับต้นฉบับและไม่มีการโต้แย้ง
แม้สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่โจทก์อ้างส่งศาลมีสิบตำรวจตรี ม. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจลงชื่อรับรองสำเนาเอกสารดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ก็ตาม แต่เมื่อมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เพราะในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวไม่ตรงกับต้นฉบับ ทั้งจำเลยมิได้คัดค้านโต้แย้งความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนี้ เมื่อเป็นสำเนาเอกสารที่เจ้าพนักงานรับรองว่าถ่ายมาจากต้นฉบับจริงย่อมรับฟังได้โดยชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 238

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดและความถูกต้องของคำพิพากษา
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดาคำว่า "GIAN FERRENTE" อ่านว่า "เจียนเฟอร์รองเต้" หรือ"จิอองเฟอร์รองเต้" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัท จ. ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า " GIANFRANCO FERRE' " อ่านว่า "จิอองฟรังโก้เฟอร์รี่" แม้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีตัวอักษรโรมันสองคำเช่นเดียวกัน และในภาคส่วนแรกประกอบด้วยอักษรโรมัน4 ตัวแรก เหมือนกันก็ตาม แต่อักษรโรมันคำอื่นที่ประกอบเป็นคำแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า "GIAN" ประกอบด้วยอักษรโรมัน 4 ตัว ส่วนของบริษัท จ. ผู้คัดค้านคือคำว่า "GIANFRANCO" ประกอบด้วยอักษรโรมัน 10 ตัวและภาคส่วนท้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า "FERRENTE" ประกอบด้วยอักษรโรมัน 8 ตัว ส่วนของผู้คัดค้านใช้คำว่า "FERRE" ประกอบด้วยอักษรโรมัน5 ตัว รูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงแตกต่างกัน การเรียกขานเครื่องหมายการค้าของทั้งสองเครื่องหมายแตกต่างกัน คือของโจทก์เรียกขานว่า"จิอองเฟอร์รองเต้" ส่วนของผู้คัดค้านเรียกขานว่า "จิอองฟรังโก้เฟอรี่" รูปลักษณะของตัวอักษรที่ประกอบเป็นคำ จำนวนตัวอักษรโรมันทั้งหมด กับการวางรูปคำเสียงเรียกขานเครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้า " GIANFRANCO FERRE' "มีคำว่า "FRANCO" แต่ของโจทก์ไม่มีคำนี้ จึงจะทำให้ลักษณะของคำและการเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีจุดสังเกตข้อแตกต่างได้ชัด ซึ่งสาธารณชนมองเห็นความแตกต่างกันได้ เช่นนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท จ.จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "GIAN FERRENTE"ได้ จึงชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพึงดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป
ตามคำบรรยายฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จึงเป็นกรณีที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยฟ้องคดีต่อศาล ตามพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 38 วรรคสอง เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนแล้ว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ แล้วมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบ และให้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่ชำระค่าธรรมเนียมให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 ดังนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามฟ้องแล้วขั้นตอนดำเนินการต่อไปมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะดังกล่าวแล้ว ซึ่งในที่สุดนายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับขั้นตอนและเงื่อนไขตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ต่อไป มิใช่จะรับจดทะเบียนให้ได้โดยทันที และกรณียังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการปฏิบัติในขั้นตอนดังกล่าวโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลบังคับให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไปเลย และปัญหานี้เป็นปัญหาอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาว่าให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ต่อไปนั้น ยังไม่ถูกต้อง จึงควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์
of 14