คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความรับผิดกรรมการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2523 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของกรรมการและผู้บังคับบัญชาต่อเงินฝากในสวัสดิการเงินกู้ที่ไม่จดทะเบียน
สโมสรนายทหารกองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ 1 ตั้งสวัสดิการเงินกู้ขึ้น ดำเนินงานโดยคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับการเป็นผู้แต่งตั้งตามตำแหน่งของหน่วย ผลัดเปลี่ยนกันไปโดยอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้บังคับการ ทุนของสวัสดิการเงินกู้ได้มาจากเงินของหน่วยงานกับเงินของข้าราชการที่เป็นสมาชิกสโมสรนำมาฝาก ปี พ.ศ. 2514 จำเลยที่ 1 มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองรบพิเศษฯ แห่งนี้ ได้เป็นประธาน กรรมการสวัสดิการ เงินกู้โดยรองผู้บังคับการเป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นกรรมการ และจำเลยที่ 4 คงเป็นกรรมการและผู้จัดการตามเดิมต่อไป โจทก์นำเงินเข้าฝากไว้ในสวัสดิการเงินกู้เป็นจำนวน 230,000 บาท สวัสดิการเงินกู้ไม่จ่ายเงินปันผลให้โจทก์ โจทก์จึงเรียกเงินฝากคืนพร้อมทั้งเงินปันผล เช่นนี้ สวัสดิการเงินกู้มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การดำเนินงานทั้งหลายจึงอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการผู้ได้แต่งตั้งดังปรากฏตามระเบียบว่าด้วยเงินกู้ แม้คณะกรรมการนี้จะมีการแต่งตั้งเปลี่ยนกันไปหลายครั้งตามตำแหน่งนับแต่เริ่มตั้งสวัสดิการเงินกู้จนถึงปัจจุบัน ก็ต้องถือว่าคณะกรรมการใหม่ยอมรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดจากคณะกรรมการชุดเดิมที่ดำเนินการสวัสดิการเงินกู้ไว้ จะยกข้ออ้างว่าตนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและไม่ได้รับมอบหมายการงานหาได้ไม่ จำเลยที่ 5 รับเงินจากโจทก์ไว้ในนามของคณะกรรมการ ซึ่งกรรมการอื่นต้องร่วมรับผิดในเงินฝากของโจทก์ด้วย และเป็นนิติสัมพันธ์ ทางสัญญาตามกฎหมาย ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 พ้นจากตำแหน่งกรรมการสวัสดิการ เงินกู้ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ไม่เป็นผลลบล้างอำนาจฟ้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิม ให้หมดไป สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาการ จำเลยที่ 1 ก็เข้าเป็นประธานกรรมการดำเนินการสวัสดิการเงินกู้ต่อมา แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะไปราชการและแต่งตั้งคณะกรรมการสวัสดิการเงินกู้ขึ้นใหม่คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แต่คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งยังคงอยู่ในความควบคุมดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อบุคคลภายนอก เช่นโจทก์ ผู้ได้รับความเสียหายด้วย