คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความรับผิดนายจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 98 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดนายจ้างต่อละเมิดของลูกจ้าง และการประกันภัยอุบัติเหตุทางรถยนต์
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พารองประธานกรรมการจำเลยที่ 1 นั่งรถไปด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 2 ขับรถไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถือว่าทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นวันหยุดไม่ใช่วันทำงานปกติของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะอ้างว่า เกิดเหตุละเมิดนอกเวลาทำการงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่เพราะเป็นเรื่องภายในระหว่างพนักงานของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการกระทำของลูกจ้าง, การชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถ และความรับผิดของบริษัทประกันภัย
คำฟ้องโจทก์บรรยายแล้วว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างและขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกที่ลูกจ้างโจทก์ขับได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งเพียงพอให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ ส่วนที่ไม่ได้ระบุว่าลูกจ้างโจทก์เป็นใคร มิใช่ข้อสาระสำคัญและเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พารองประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ไปด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 2 ขับรถไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถือว่าทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นวันหยุดมิใช่วันทำงานปกติของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเกิดเหตุนอกเวลาทำการงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่
โจทก์นำรถยนต์บรรทุกไปซ่อมแซมไม่สามารถใช้งานได้เป็นเวลา 173 วัน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างซ่อมแซม และค่าเสียหายจากการขาดรายได้ที่ส่งหนังสือพิมพ์ซึ่งบรรทุกอยู่ในรถขณะเกิดเหตุไปจำหน่ายไม่ทันและหนังสือพิมพ์ถูกส่งคืน
ตามกรมธรรม์ระบุว่า จำเลยร่วมจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ดังนี้ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถและค่าเสียหายที่ขาดรายได้จากหนังสือพิมพ์ของโจทก์ที่ส่งล่าช้าจำหน่ายไม่ได้ ย่อมเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อันเกิดจากการกระทำละเมิดโดยตรงที่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดนายจ้างต่อการกระทำของลูกจ้างเมื่อลูกจ้างกระทำโดยพลการนอกเหนือขอบเขตงาน
จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานสวนป่าไม่มีหน้าที่ขับรถหรืออำนาจสั่งใช้รถได้โดยลำพัง ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานสวนป่าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา การที่ ป. ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งมิใช่คนงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาขอความช่วยเหลือจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีอาการท้องร่วงให้นำตัวส่งโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นรถที่ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 ไปส่ง ป. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วไปเกิดเหตุชนกับรถบรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยความเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง และกระทำไปโดยพลการนอกเหนือขอบเขตกิจการงานของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ความรับผิดของนายจ้าง, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าเสียความสามารถ และความเสียหายทางจิตใจ
โจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในทางการที่จ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2), 1087
การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งต่อไปย่อมสามารถประกอบอาชีพการงานมีรายได้เช่นคนปกติทั่วไป หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอาการไม่รู้สึกตัวสมองบวม กะโหลกศีรษะยุบ เลือดออกใต้หนังศีรษะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลก ต้องใช้เวลารักษานานอาจเป็นปี หลังผ่าตัดแล้วโจทก์ที่ 1 ยังมีอาการสมองไม่รับรู้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พูดไม่ได้ ต้องจ้างผู้ดูแลตลอดเวลาทั้งไม่ปรากฏว่าจะสามารถรักษาให้โจทก์ที่ 1 หายเป็นปกติไว้ ปัจจุบันโจทก์ที่ 1 ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 สูญเสียความสามารถที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้โดยสิ้นเชิง โจทก์ที่ 1 จึงได้รับความเสียหาย โดยไม่คำนึงว่าจะต้องมีอาชีพแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ต้องทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดและทุพลภาพไม่สามารถช่วยตัวเองได้ไปตลอดชีวิต ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เสียความสามารถในการประกอบการงานเป็นเงิน 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 500,000 บาท เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1160/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้างขณะปฏิบัติงาน แม้ลูกจ้างไม่มีหน้าที่ขับรถ
ส. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้จำเลยที่ 1และคนงานไปส่งวัสดุก่อสร้างโดยใช้รถยนต์บรรทุกสิ่งของไปส่ง มี ร. เป็นคนขับ ในระหว่างที่มีการขนถ่ายสิ่งของจำเลยที่ 1 ได้ติดเครื่องยนต์ทำให้รถยนต์แล่นไปชนโจทก์แม้จำเลยที่ 1 จะมีหน้าที่ขนวัสดุก่อสร้างไม่มีหน้าที่ขับรถ และรถยนต์คันเกิดเหตุมี ร. เป็นคนขับประจำ แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 การที่จำเลยที่ 1 ขึ้นไปติดเครื่องยนต์ในระหว่างทำการงานให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดย ร. ไม่ได้ควบคุมดูแล ทำให้รถแล่นไปชนโจทก์ ต้องถือว่าการละเมิดเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315-327/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างในการเลิกจ้างและสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและโบนัส กรณีบริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนจัดตั้งธนาคาร จ. โดยตกลงให้จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานของธนาคารรวมทั้งโจทก์ไปก่อน จำเลยจึงเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นในธนาคารและเป็นแกนนำในการจัดตั้งธนาคาร จำเลยกับผู้ร่วมทุนทั้งหมดย่อมมีฐานะร่วมเป็นนายจ้างของโจทก์ประกอบกับโครงการจัดตั้งธนาคาร จ. จะต้องระงับลงเพราะจำเลยกับบริษัทเงินทุน ซ. หนึ่งในผู้ร่วมทุนถูกทางราชการสั่งให้ระงับการดำเนินการ ธนาคาร จ. จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยอุทธรณ์ว่า ธนาคาร จ. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำเลย และมีผู้ร่วมก่อการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย จนปัจจุบันนี้จำเลยก็ยังมิได้เข้าชื่อซื้อหุ้นธนาคาร จ. จะถือว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นมิได้ จำเลยมิได้มีส่วนควบคุมดูแลสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแทนธนาคาร จ. เท่านั้น จำเลยมิได้เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสิบสาม จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงค่าจ้างค้างจ่าย อายุงาน และค่าจ้างอัตราสุดท้ายไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว เมื่อจำเลยไม่ให้การปฏิเสธก็ต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีอายุงาน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
แม้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 37 วรรคสอง จะให้สิทธิแก่จำเลยที่จะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การเป็นหนังสือแล้วก็ต้องเป็นไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งในข้อใดย่อมถือว่าจำเลยให้การรับในข้อนั้นแล้ว
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรับที่จะจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ตามฟ้องเนื่องจากมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย เท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธในประเด็นนี้โดยชัดแจ้งแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบในประเด็นนี้ประกอบกับสัญญาจ้างงานระบุว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งธนาคาร จ. เป็นนิติบุคคล โจทก์ทั้งสิบสามจะได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่าง ๆ ของจำเลยในส่วนที่มิได้ระบุไว้ในสัญญานี้ ยกเว้นเรื่องการจ่ายเงินโบนัสจะเป็นไปตามประกาศของโครงการธนาคาร จ. จนกว่าจะมีการจัดตั้งธนาคาร จ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบข้อบังคับของธนาคาร จ. แสดงว่า โจทก์จะได้รับเงินโบนัสต่อเมื่อมีการจัดตั้งธนาคาร จ. เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อไม่อาจจัดตั้งธนาคารดังกล่าวได้ ประกอบกับระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่ได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส
จำเลยอุทธรณ์ว่า พระราชกฤษฎีกาการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540บัญญัติให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจัดการชำระบัญชีรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยออกประมูลเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทุกราย โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เฉลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยใช้สิทธิไม่สุจริตยื่นฟ้องคดีนี้จึงไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้อันเป็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พระราชกฤษฎีกาการปฏิรูปสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเท่านั้นเมื่อคดีนี้ไม่ใช่คดีล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2258/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดนายจ้างต่อการตายจากโรคหัวใจล้มเหลวเนื่องจากการทำงาน แม้ไม่ได้เกิดขณะปฏิบัติงาน
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5 กำหนดนิยามของคำว่าเจ็บป่วยไว้ ซึ่งเห็นได้จากคำนิยามดังกล่าวว่าจะต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างแต่ละราย โดยพิจารณาตามลักษณะหรือสภาพของงานนั้น ๆ โดยหาได้มีข้อจำกัดว่าการที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องเป็นการเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่นายจ้างไม่ งานที่ผู้ตายทำมีลักษณะหรือสภาพของงานที่ต้องใช้แรงงานมากต้องอยู่กับสภาพเสียงดังก่อให้เกิดความอ่อนเพลียและความเครียดแก่ผู้ตายอย่างมากผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคหลอดโลหิตหัวใจล้มเหลวอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ถือได้ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานต้องด้วยคำนิยามว่า เจ็บป่วย ตามบทกฎหมายข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้างขณะปฏิบัติงาน และการจ่ายเงินเยียวยาโดยไม่มีผลบังคับ
พ.และ ค.ลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และที่ 5 นำรถยนต์กระบะของนายจ้างออกไปนอกสถานที่ทำการจนกระทั่งถึงที่เกิดเหตุรถชนกัน โดยก่อนเกิดเหตุ1 วัน พ.ได้ขอยืมรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากหัวหน้าช่างของจำเลยที่ 4 ออกไปข้างนอกเพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยวรับประทาน การรับประทานอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพให้มีชีวิตอยู่มีกำลังในการทำงาน ถึงแม้จำเลยที่ 4 มีระเบียบว่า เมื่อเลิกงานแล้วคนงานจะออกไปจากที่ก่อสร้างไม่ได้และผู้มีหน้าที่ขับและเก็บรักษารถจะนำรถไปใช้หลังจากเลิกงานแล้วไม่ได้ก็ตาม ก็เป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยที่ 4กับพนักงาน การที่ พ.กับพวกซื้อก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ จึงได้ไปรับประทานอาหารในเขตจังหวัด 1 ชั่วโมง ต่อจากนั้นจึงได้พากันไปที่บ้าน ว. ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่ก่อสร้าง60 กิโลเมตร จึงยังเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบของการอนุญาตของหัวหน้าช่างผู้มีสิทธิอนุญาตให้นำรถไปใช้แทนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายจ้าง อันถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ร่วมรู้เห็นในการให้ พ.นำรถออกไปใช้ดังกล่าวด้วย การที่ พ.นำรถออกไปใช้ดังกล่าวเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 5 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดอันเกิดจากการนำรถไปกระทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย
โจทก์ได้จ่ายเงินให้บิดามารดาของผู้ตายไปคนละ 3,000 บาทรวม 6,000 บาท เป็นการจ่ายให้ไปเพื่อมนุษยธรรม จึงเป็นเรื่องการจ่ายให้เปล่าไม่ต้องการผลตอบแทน กรณีจึงเป็นเรื่องให้โดยเสน่หาของโจทก์เองมิใช่เป็นเรื่องค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินในส่วนนี้จากผู้กระทำละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5638/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดนายจ้างต่อละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้าง แม้ผู้ขับไม่ใช่ลูกจ้างโดยตรง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุโดยคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และขับโดยประมาทชนรถยนต์โดยสารซึ่งโจทก์โดยสารมา ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสและศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุ ว.ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์มาด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ซึ่งโจทก์โดยสารมาได้รับความเสียหายมีผู้โดยสารได้รับอันตรายสาหัสและเสียชีวิตโดย ว.ประมาทแต่ฝ่ายเดียวชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 อุทธรณ์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุ ว.ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2ด้วยความประมาทแต่ฝ่ายเดียวและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์นั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังนี้เมื่อนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายจึงอาจจะฟ้องนายจ้างหรือลูกจ้างคนใดก็ได้ และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องถึงความรับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไว้ชัดแจ้งครบถ้วนแล้วว่า ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างและข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดและเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการกระทำละเมิดของผู้ขับรถในทางการจ้าง และข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
ปัญหาว่าเหตุรถชนเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายเดียวหรือเจ้าพนักงานตำรวจมีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่1ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นจำเลยที่3ได้ยกปัญหาข้อนี้ต่อสู้ไว้ในคำให้การแม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่3จะไม่ได้อุทธรณ์เพราะจำเลยที่3ชนะคดีในศาลชั้นต้นแต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่3ร่วมรับผิดจำเลยที่3ก็ยกปัญหาข้อนี้ต่อสู้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่3ต้องร่วมรับผิดศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ด้วยที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยอ้างว่าจำเลยที่3ไม่ได้อุทธรณ์จึงไม่ชอบ เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงติดตามจับกุมจำเลยที่1ที่ขับรถฝ่าฝืนกฎจราจรจำเลยที่1กลับขับรถส่ายไปมาและยกกระบะท้ายรถให้หินเกล็ดที่บรรทุกร่วงหล่นลงมากีดขวางเส้นทางจราจรเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับแซงรถยนต์ที่จำเลยที่1ขับไปได้ครึ่งคันจำเลยที่1ก็หักรถเข้ามาชนรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงเป็นเหตุให้รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงเสียหลักขวางถนนจึงถูกรถยนต์ที่จำเลยที่1ขับชนซ้ำอีกครั้งทำให้รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงตกลงไปในคลองดังนี้เหตุรถชนกันจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1ฝ่ายเดียว ขณะเกิดเหตุรถยนต์ชนเป็นเวลาที่อยู่ระหว่างจำเลยที่1ขับรถหลบหนี้เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของจำเลยที่2ผู้เป็นนายจ้างประสงค์แม้การกระทำของจำเลยที่1ในขณะเดียวกันนั้นจะเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาในข้อหาต่างๆด้วยก็เป็นการกระทำความผิดในทางอาญาโดยลำพังส่วนความรับผิดของจำเลยที่1ในทางแพ่งที่จำเลยที่1กระทำโดยประมาทเลินเล่อขับรถชนรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงจนได้รับความเสียหายนั้นยังเป็นการกระทำที่อยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่2ซึ่งจำเลยที่2จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1 รถยนต์ของจำเลยที่2ซึ่งจำเลยที่3เป็นผู้รับประกันคันเกิดเหตุขณะเกิดเหตุได้ทำการบรรทุกหินไปตามถนนโดยไม่ปรากฏว่าใช้รถยนต์ดังกล่าวบรรทุกสิ่งของใดๆที่ผิดกฎหมายหรือจำเลยที่1และที่2มีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้รถยนต์คันดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายแม้จำเลยที่1ผู้ขับจะขับรถผิดกฎจราจรและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่อันเป็นความผิดอาญาก็เป็นการกระทำต่างหากจากการใช้รถยนต์บรรทุกหินโดยชอบและเหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1ผู้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวโดยลำพังถือไม่ได้ว่าการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นการใช้ในทางที่ผิดกฎหมายตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยอันจะทำให้จำเลยที่3ได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด
of 10