คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความลวงสาธารณชน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความแตกต่างและความลวงสาธารณชน
เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรไทยและอักษรโรมันคำว่าบิกกุ๊กBigCookแฟตกุ๊กFatCook และมาสเตอร์กุ๊กMasterCook ซึ่งตัวอักษรไทยอยู่ด้านบนของอักษรโรมันและไม่มีรูปพ่อครัวประดิษฐ์อยู่ด้วยจึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประเภทที่เป็นรูปพ่อครัวประดิษฐ์คล้ายขวดทรงกระบอกเอนตัวยืนยิ้มมีอักษรไทยคำว่ากุ๊ก หรือมีอักษรไทยคำว่ากุ๊กและอักษรโรมันคำว่าCook รวมกันอยู่บนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์อย่างชัดแจ้งไม่เหมือนหรือคล้ายกันแต่อย่างใดและเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวยังแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประเภทที่ใช้อักษรไทยคำว่ากุ๊ก หรืออักษรโรมันคำว่าCook หรืออักษรไทยและอักษรโรมันดังกล่าวรวมกันอย่างมากโดยคำว่าบิกกุ๊กBigCook และแฟตกุ๊กFatCook เป็นคำ2พยางค์คำว่ามาสเตอร์กุ๊กMasterCook เป็นคำ3พยางค์การจัดวางตัวอักษรและขนาดตัวอักษรของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยก็ยังแตกต่างกันมากเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีคำว่ากุ๊กและคำCook เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตามแต่คำว่ากุ๊ก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2525หมายถึงพ่อครัวทำกับข้าวฝรั่งและคำดังกล่าวก็เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากคำอักษรโรมันคำว่าCookซึ่งเป็นคำสามัญที่มีคำแปลตามพจนานุกรมคำดังกล่าวจึงเป็นคำสามัญทั่วๆไปไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะใช้คำดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวและหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าวได้จำเลยจึงนำคำดังกล่าวไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความแตกต่างของเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความลวงสาธารณชน, ลักษณะเครื่องหมาย, และการใช้สินค้า
เครื่องหมายการค้าของจำเลยประกอบด้วยอักษรโรมันคำว่า"Madam Cook" กับอักษรไทยคำว่า "มาดามกุ๊ก" เป็นคำ 3 พยางค์ โดยอักษรโรมันอยู่ด้านบนของอักษรไทย และอักษรไทยมีขนาดเล็กกว่าอักษรโรมันเล็กน้อยส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรไทยคำว่า "กุ๊ก" และอักษรโรมันคำว่า"COOK" พยางค์เดียว และอักษรไทยคำว่า "กุ๊ก" เป็นอักษรตัวขนาดใหญ่กว่าอักษรโรมัน อักษรโรมันวางอยู่บนพยัญชนะ "ก" ตัวที่ 2 ในระดับเดียวกันกับวรรณยุกต์ไม้ตรี เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นอักษรไทยและอักษรโรมันเป็นอักษรประดิษฐ์และอักษรโรมันคำว่า "Madam Cook" ใช้อักษรตัวพิมพ์เล็ก คงใช้ตัวพิมพ์ใหญ่เฉพาะตัวอักษร "M" และ "C" ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันเป็นอักษรธรรมดามิใช่อักษรประดิษฐ์ อักษรโรมันคำว่า"COOK"" ใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจึงแตกต่างกัน แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีคำว่า "กุ๊ก" และคำว่า "Cook" เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นคำเดียวกับคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตาม แต่คำดังกล่าวก็เป็นคำสามัญทั่ว ๆ ไปมิใช่คำประดิษฐ์ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าว และเครื่องหมาย-การค้าของทั้งโจทก์และจำเลยก็มีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน โดยของโจทก์เรียกว่า "กุ๊ก" ส่วนของจำเลยเรียกว่า "มาดามกุ๊ก" การจัดตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็เป็นไปตามปกติธรรมดา โดยเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นอักษรโรมันคำว่า "Madam" มีขนาดเดียวกันกับคำว่า "Cook"อันเป็นการให้ความสำคัญในถ้อยคำแต่ละพยางค์เท่าเทียมกัน มิได้จัดให้อักษรคำว่า"Cook" หรือ "กุ๊ก" มีขนาดใหญ่หรือเน้นให้ดูโดดเด่นเป็นพิเศษเพื่อเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งสินค้าที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเพียงชนิดเดียวคือสินค้าน้ำมันพืชและเน้นเครื่องหมายการค้าโดยใช้ตัวอักษรสีแดงสด ส่วนจำเลยแม้จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกที่ 42 รายการสินค้าทั้งจำพวกซึ่งรวมถึงสินค้าน้ำมันพืชด้วย แต่จำเลยก็ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับอาหารสำเร็จรูปที่จำเลยผลิตขึ้น ได้แก่ แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย หูฉลามน้ำแดงเปรี้ยวหวานอาหารทะเล ปลากระพงน้ำแดง โดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นอักษรโรมันว่า "Madam Cook" และส่งออกไปขายยังต่างประเทศ มิได้ผลิตขายในประเทศไทย ทั้งอักษรโรมันคำว่า "Madam Cook" บนซองบรรจุอาหารสำเร็จรูปก็มีลักษณะตรงกับที่จำเลยจดทะเบียนไว้ มิได้จัดตัวอักษรหรือใช้สีสันหรือกระทำการใดอันเป็นการเน้นคำว่า "Cook" แต่อย่างใด แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาไม่สุจริตที่จะทำให้สาธารณชนหลงผิดหรือลวงขายสินค้าของตนให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างชัดเจน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน