คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความล่าช้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 92 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายที่ล่าช้าเกิน 8 วัน นับแต่ทราบข้อเท็จจริง
คำร้องของผู้ร้องที่กล่าวอ้างว่าการส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างพฤติการณ์การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่ว่าด้วยการส่งคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้ แม้เป็นระยะเวลาภายหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ตามคำร้องของผู้ร้องยอมรับว่า ได้ทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 การที่ผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 เกินกว่า 8 วัน จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการบอกเลิกสัญญาซื้อขายจากการขายทอดตลาด: การพิจารณาความล่าช้าในการโอนกรรมสิทธิ์และผลกระทบต่อผู้ซื้อ
ข้อเท็จจริงตามคำร้องไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในขณะเข้าสู้ราคาและซื้อที่ดินว่าจะนำที่ดินไปพัฒนาเพื่อแสวงหากำไรเมื่อใด อย่างไร ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการได้รับโอนที่ดินล่าช้าจะทำให้ผู้ร้องเสียประโยชน์ในเชิงธุรกิจถึงขนาดว่าที่ดินนั้นหมดประโยชน์แก่ผู้ร้อง กรณีไม่อาจถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับรู้เรื่องดังกล่าว
การขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำสั่งศาลนั้นบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมต้องทราบว่าผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดอาจยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นทันที เพราะอาจมีการร้องคัดค้านการขายทอดตลาด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 388 ที่จะถือว่าการซื้อขายจะเป็นผลสำเร็จก็แต่ด้วยมีการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่ดำเนินการขายทอดตลาดและคดีในชั้นที่ อ. ร้องคัดค้านการขายทอดตลาดศาลมีคำสั่งยกคำร้อง หาได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องกลายเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 ไม่
การขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำสั่งศาล ผู้สู้ราคาจะพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาด แต่กรณีของผู้ร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเสนอราคาสู้สูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจยกบทบัญญัติดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 514 ขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากความผูกพันหรือบอกเลิกสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1663/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับในสัญญาที่สูงเกินส่วน ศาลลดลงได้ และพิจารณาความล่าช้าในการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
ค่าปรับหรือเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยขอผ่อนผันการทำงานอีกหลายครั้งแต่จำเลยก็ทำงานไม่แล้วเสร็จ พฤติการณ์ของจำเลยอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ โจทก์ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจำเลยไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จได้ น่าจะต้องละทิ้งงานและเกิดความเสียหาย โจทก์จึงควรใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควร แต่โจทก์กลับละเลยปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเกือบ 1 ปี จึงบอกเลิกสัญญา ความเสียหายจึงเกิดจากความล่าช้าของโจทก์ที่ไม่บอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควรอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง และเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ปรับจำเลยวันละ 5,000 บาท จึงนับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความล่าช้าในการขอสำเนาคำพิพากษาเป็นเหตุให้ไม่ขยายเวลาอุทธรณ์ได้ หากเกิดจากความประมาทเลินเล่อของทนายความ
คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2544 แม้ทนายจำเลยจะได้ยื่นคำแถลงขอถ่ายสำเนาคำพิพากษาไว้ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2545 และยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษา แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545 เจ้าหน้าที่ศาลได้บันทึกไว้ในคำแถลงของจำเลยดังกล่าวว่าได้ดำเนินการถ่ายเอกสารให้แก่จำเลยเสร็จแล้วและยังปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2545 อีกว่า โจทก์ได้มาติดต่อขอรับสำเนาคำพิพากษาจากศาลไปแล้ว ดังนี้ทนายจำเลยย่อมสามารถมาติดต่อขอรับสำเนาคำพิพากษาได้ตั้งแต่วันดังกล่าวเช่นกัน แต่จำเลยกลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยมาติดต่ออีกครั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 แสดงให้เห็นว่าทนายจำเลยไม่เอาใจใส่ที่จะมาติดต่อขอรับสำเนาคำพิพากษาอย่างจริงจัง ที่ทนายจำเลยอ้างว่า เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษา จึงยื่นอุทธรณ์ไม่ทันเพราะมีกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไว้แล้วเหลือเพียง 7 วันนั้น จึงเป็นเพราะความบกพร่องของทนายจำเลยเอง ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นคำให้การ: เหตุผลความล่าช้าของจำเลยไม่เพียงพอ ศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนก่อนออกคำสั่ง
ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การในขณะที่เหลือเวลาทำการเพื่อยื่นคำให้การอีกเพียง 2 วัน โดยอ้างว่าเพิ่งได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นทนายความในวันนี้ ต้องสอบถามรายละเอียดในคดี และตรวจเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนต้องไปดูสถานที่ตั้งของที่ดินพิพาท เพื่อทำคำให้การได้ถูกต้อง โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องหรือความจำเป็นอย่างใดจึงติดต่อหาทนายความล่าช้า ความล่าช้าดังกล่าวเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 เอง ที่ปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลายื่นคำให้การล่วงเลยไปถึง 13 วัน โดยไม่ขวนขวายติดต่อหาทนายความแต่เนิ่น ๆ และแม้ว่าจะเหลือเวลาทำการอีกเพียง 2 วัน แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องในฐานะเจ้าของรวมให้จำเลยทั้งสองรังวัดแบ่งแยกที่ดินกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งได้ครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้ว และมีแผนที่สังเขปท้ายฟ้องอีกด้วย รูปคดีจึงไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด หากทนายจำเลยที่ 1 สอบถามข้อเท็จจริงอย่างจริงจังและรีบไปดูที่ดินโดยเร็ว เวลาที่เหลือ 2 วัน ก็เพียงพอที่จะทำคำให้การยื่นต่อศาลได้ทันกำหนดเวลา ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันจะพึงขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่อ้างมาในคำร้องเพียงพอที่จะวินิจฉัยมีคำสั่งได้แล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจทำคำสั่งไปได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และไต่สวนคำร้องก่อนแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นคำให้การ: เหตุผลความล่าช้าของผู้ถูกฟ้องต้องมีน้ำหนัก, รูปคดีไม่ซับซ้อน, ศาลมีอำนาจสั่งโดยไม่ต้องไต่สวน
จำเลยที่ 1 เพิ่งติดต่อหาทนายในขณะที่ยังเหลือเวลายื่นคำให้การอีกเพียง 2 วันโดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องหรือความจำเป็นอย่างใดจึงมาติดต่อหาทนายล่าช้า จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลายื่นคำให้การล่วงเลยไปถึง 13 วันโดยไม่ขวนขวายติดต่อหาทนายแต่เนิ่นๆรูปคดีจึงไม่ยุ่งยากซับซ้อน เวลาที่เหลือ 2 วันก็เพียงพอที่จะทำคำให้การยื่นต่อศาลชั้นต้นได้ทันกำหนดเวลา ข้ออ้างตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันจะพึงขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่อ้างมาในคำร้องเพียงพอที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งได้แล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจทำคำสั่งไปได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และไต่สวนคำร้องก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินค้างชำระตามคำพิพากษา การเรียกรับเงินภายใน 5 ปี และผลกระทบจากความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ศาล
เงินค้างจ่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 หมายถึงบรรดาเงินทั้งหมดที่ค้างจ่ายอยู่ที่ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาภายใน 5 ปี จึงจะตกเป็นของแผ่นดิน จำเลยนำเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยมาวางศาลเพื่อชำระแก่โจทก์เมื่อวันที่ 2ธันวาคม 2534 โจทก์ยื่นคำแถลงให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 แต่เจ้าหน้าที่ศาลหาสำนวนไม่พบ จนกระทั่งวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จึงแจ้งโจทก์ว่าพบสำนวนแล้ว ดังนั้น ระยะเวลา 1 ปีเศษ ที่เจ้าหน้าที่ศาลหาสำนวนไม่พบจึงเป็นพฤติการณ์พิเศษอันมิใช่ความผิดของโจทก์ที่เพิกเฉยไม่เรียกเอาภายใน 5 ปี เพราะเมื่อโจทก์ทราบว่าพบสำนวนแล้วก็ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่จำเลยวางศาลเพื่อชำระหนี้ในวันรุ่งขึ้นทันทีต้องถือว่าโจทก์ผู้มีสิทธิได้เรียกเอาคืนภายใน 5 ปีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 799/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเวนคืน: พิจารณาความล่าช้าในการจ่ายค่าทดแทน & ราคาปัจจุบัน
อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาฯและเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ในฐานะอธิบดีกรมทางหลวงย่อมจะต้องดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้สร้างทางและ ขยายทางหลวงแผ่นดินตามชื่อของพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งที่ดินดังกล่าว กรมทางหลวง จะดำเนินการเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งตนมิได้มีกรรมสิทธิ์อยู่ก่อนหาได้ไม่ จึงต้องเสนอให้รัฐจัดการ เวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวเพื่อใช้ก่อสร้างทางและขยายทางหลวงแผ่นดิน ดังนี้ อธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย จึงเป็นผู้แสดงเจตนาแทนกรมทางหลวง เกี่ยวกับการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม และการสร้างทางหลวงแผ่นดินอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม ตามพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มาตรา 15 กระทรวงคมนาคมจึงต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ กำหนดยังไม่เป็นธรรมและรัฐมนตรีว่า การกระทรวงคมนาคม ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องกระทรวงคมนาคมให้ร่วมรับผิดด้วยได้
หลังจากมีพ.ร.ฎกำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ - บางปะกง- ชลบุรี - ระยอง - จันทบุรี ตราด ตอนศรีราชา - สัตหีบ พ.ศ. 2513 และพ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดิน สายกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ - บางปะกง - ชลบุรี - ระยอง - จันทบุรี - ตราด ตอนศรีราชา - สัตหีบ ในท้องที่อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2520 เวนคืนที่ดินของโจทก์จนถึงกลางปี 2537 ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเลย จนกระทั่งวันที่ 27 กันยายน 2537 จำเลยที่ 2 เพิ่งมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวง ภายหลังจากวันใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกาฯ เกือบ 25 ปี โดยไม่ดำเนินการให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ภายในเวลาอันสมควร เป็นการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดโดยใช้วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือวันที่ 30 ธันวาคม 2513 ย่อมไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ และปัจจุบันในกรณีปกติของการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาฯ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งอยู่ในอำนาจของตนภายในอายุพระราชกฤษฎีกาฯซึ่งไม่เกินสี่ปี กล่าวโดยเฉพาะคือต้องจ่ายเงินค่าทดแทนหรือวางเงินค่าทดแทนให้เสร็จสิ้นภายในอายุพระราชกฤษฎีกาฯ ตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 13 วรรคสอง และมาตรา 31 การจ่ายเงินค่าทดแทนหรือวางเงินค่าทดแทนโดยเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนที่ออกตามมาตรา 6 จะดำเนินการเมื่อวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ประมาณ 2 ปี ถึง 4 ปี หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในอายุพระราชกฤษฎีกานั้น ก็ต้องออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ หรือตราพระราชบัญญัติเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดเงินค่าทดแทนก็จะเปลี่ยนไปเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่หรือเป็นวันใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ แล้วแต่กรณี ดังนั้น การที่จะกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมได้ต้องใช้หลักเกณฑ์การกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เว้นแต่วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ มาเป็นกลางปี 2535 โดยเทียบเคียงจากระยะเวลาปกติในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนที่ออกตามมาตรา 6 ต้องใช้ในการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือวางเงินค่าทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา และเหตุผลความล่าช้าที่ไม่เข้าข่ายเหตุสุดวิสัย
วันนัดสืบพยาน จำเลยซึ่งต้องนำพยานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้ายไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงถือว่าไม่มีพยานมาสืบ สั่งงดสืบพยานให้คดีเสร็จการพิจารณา รอฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วในวันนั้น การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์พร้อมคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลังพ้นกำหนดเวลา โดยอ้างว่าเพิ่งทราบคำพิพากษาเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาอุทธรณ์ไปแล้ว ถือเป็นความบกพร่องของจำเลยเอง ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ส่วนที่อ้างว่าเมื่อทราบแล้วจึงไปติดต่อคัดสำนวนใช้เวลาร่วมเดือนเศษก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ที่จะทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้อง ภายในกำหนดเวลาได้เช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องนั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยต้องแสดงความประมาทเลล่าของตนเอง มิใช่ความล่าช้าของศาล
จำเลยปล่อยเวลาล่วงเลยไปถึง 25 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้วจึงไปขอถ่ายสำเนาคำพิพากษา แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้เอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงไม่ใช่กรณีมีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยตามกฎหมายที่จะอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้
เมื่อทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์เวลา 15.35 นาฬิกา เจ้าพนักงานศาลก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปตามระบบงานที่เป็นอยู่ แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าในแต่ละวันมีคู่ความหรือประชาชนไปติดต่อกับเจ้าพนักงานศาลเป็นจำนวนมากไม่ได้มีเฉพาะจำเลยเพียงคนเดียว ซึ่งทนายจำเลยก็น่าจะรู้ดี ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานศาลนำคำร้องดังกล่าวเสนอต่อศาลและศาลมีคำสั่งในวันรุ่งขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดระบุว่าศาลต้องมีคำสั่งคำร้องในวันที่คู่ความยื่นคำร้องแต่อย่างใดด้วยสาเหตุที่ทำให้จำเลยเสียสิทธิในการยื่นอุทธรณ์มาจากจำเลยและทนายจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ได้เอาใจใส่รีบยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารเสียแต่เนิ่น และเมื่อยื่นแล้วก็ไม่ได้เอาใจใส่ประการใด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันถัดจากวันครบกำหนดอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
of 10