คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความสมบูรณ์ของสัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8011/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อสมบูรณ์ แม้ลงลายมือชื่อเฉพาะสัญญาต่อท้าย
คู่สัญญาลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในสัญญาเช่าซื้อแม้เพียงแห่งเดียวก็มีผลเป็นสัญญาเช่าซื้อที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อที่ทำขึ้นพร้อมกับหนังสือสัญญาเช่าซื้อและคู่สัญญาตกลงให้สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อทั้งหมด ย่อมเป็นสัญญาเช่าซื้อที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย มิใช่ว่าจะต้องลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในหนังสือสัญญาในส่วนของสัญญาเช่าซื้ออีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2511

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อกับคนต่างด้าว: สิทธิในการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ภายใต้สนธิสัญญาและความสมบูรณ์ของสัญญา
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินของโจทก์ และจำเลยผิดสัญญาและค้างชำระเงิน. จำเลยให้การรับว่า ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จริง แต่อ้างว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ เพราะจำเลยเป็นคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์.ในอสังหาริมทรัพย์ และทำสัญญาด้วยความสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรม. ดังนี้ จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นใหม่ว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายและสำคัญผิดในสารสำคัญของนิติกรรม. มิใช่เพียงปฏิเสธว่าไม่ผิดสัญญาเท่ากับจำเลยต่อสู้ว่าการที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อ ไม่เป็นผิดสัญญา. จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบก่อนว่าสัญญานั้นไม่มีผลผูกพันอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญา.
สนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีนซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2489 ความในข้อ 6แห่งสนธิสัญญามีว่า คนชาติแห่งอัครภาคีแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตลอดทั่วอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น. ยังมีผลใช้บังคับตลอดไป ไม่ว่ารัฐบาลของสาธารณรัฐจีนจะไปตั้งอยู่ที่ไต้หวันหรือเกาะฟอโมซา. เพราะสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีนยังมีต่อกันอยู่ หาได้ถูกยกเลิกไปไม่.
สำเนาหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 2639/2504 ลงวันที่ 16กุมภาพันธ์ 2504 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ระบุสัญชาติคนต่างด้าวที่มีสิทธิขออนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินตามมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน. โดยไม่ระบุคนต่างด้าวสัญชาติจีนรวมอยู่ด้วย. และจำเลยแนบติดมาท้ายฎีกาของจำเลยนั้น. จำเลยไม่ได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้ก่อน.และไม่มีเจ้าหน้าที่รับรองว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้องทั้งไม่ใช่กฎหมาย. ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย.
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 มิได้บัญญัติห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน. จำเลยซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติจีนและเป็นผู้เช่าซื้อที่ดินของโจทก์ยังอยู่ในวิสัยที่จะไปขออนุญาตถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้และไม่ใช่สัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัย. สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยจึงสมบูรณ์ (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5-6/2511).
ฎีกาจำเลยในข้อที่ว่า การชำระเงินค่าเช่าซื้อ แม้จะผิดพลาดไปบ้างโจทก์ไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาก็ดี. หรือโจทก์ยังไม่ได้บอกกล่าว.ให้จำเลยชำระเงินค่าเช่าซื้อ.ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาก็ดี. จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น จำเลยจะยกขึ้นในชั้นฎีกาไม่ได้.
จำเลยฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ชำระเงินให้ ป. ซึ่งโจทก์เป็นหนี้ ป. แทนโจทก์. โจทก์ปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้ชำระเงินแทนและโจทก์มิได้เป็นหนี้แต่จำเลยกลับนำสืบว่าจำเลยส่งมอบข้าวสาร. ไม่ใช่ชำระเงินแทน. จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องแย้งของจำเลย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1258/2493

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมรับสัญญายอมความและการสืบพยาน จำเลยต้องนำสืบหากกล่าวอ้างว่าสัญญาไม่สมบูรณ์
โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ศาลบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและเรียกค่าเสียหาย จำเลยต่อสู้ว่าสัญญาประนีประนอมนั้นไม่สมบูรณ์โดยเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของโจทก์ และเถียงในเรื่องค่าเสียหาย ครั้นต่อมายอมรับในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่า โจทก์จำเลยยอมรับว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามสำเนาท้ายฟ้องจริง คู่ความคงโต้เถียงกันเฉพาะราคานาพิพาทและค่าเสียหายเท่านั้น และในที่สุดไม่ติดใจโต้เถียงเรื่องราคานาเรื่องค่าเสียหาย จำเลยก็รับในที่สุดว่าคิดเป็นเงิน 800 บาท ดังนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้โต้เถียงต่อไปแล้วว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่สมบูรณ์และเมื่อเรื่องราคานาและจำนวนค่าเสียหายจำเลยก็ไม่เถียงต่อไปแล้ว คดีก็เป็นอันไม่มีประเด็นที่จะสืบกันต่อไป ศาลพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญายอมความนั้น และให้ใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์จำเลยยอมรับกันได้ทีเดียว จำเลยจะมาเถียงในชั้นฎีกาว่าจำเลยไม่ได้รับในเรื่องความสมบูรณ์ของสัญญาประนีประนอมรายนี้ย่อมฟังไม่ได้
จำเลยรับว่าจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมตามที่โจทก์นำมาฟ้องจริง แต่ต่อสู้ว่าสัญญาไม่สมบูรณ์โดยเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของโจทก์ ประเด็นข้อนี้จึงตกเป็นหน้าที่จำเลยจะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525-526/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้ยืนยันหลักการเรื่องการยื่นคำร้องซ้ำ และอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญา
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติให้สิทธิคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านใช้สิทธินี้โดยเป็นผู้ร้องขอไปแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขออย่างเดียวกันอีกในเดือนเดียวกันโดยอ้างเหตุใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้คัดค้านสามารถยกขึ้นอ้างได้ในขณะยื่นคำร้องขอครั้งก่อน และประเด็นตามคำร้องทั้งสองครั้งเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีตามคำร้องขอไปแล้ว ถือว่าเป็นการที่ผู้คัดค้านรื้อร้องฟ้องให้ศาลวินิจฉัยกันใหม่อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียว คำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านฉบับหลังจึงซ้ำกับคำร้องขอฉบับแรก ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ปัญหานี้แม้ผู้ร้องมิทันยกขึ้นต่อสู้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพิ่งยกขึ้นในคำแก้อุทธรณ์ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งจำหน่ายคดีเพื่ออนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์อ้างสัญญาเป็นโมฆะ คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญา
การที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 ซึ่งในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ คู่ความแถลงรับว่าได้มีการทำสัญญาพิพาท และโจทก์รับด้วยว่าฝ่ายจำเลยได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว และศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวในรายงานกระบวนพิจารณา อันถือได้ว่าเป็นการไต่สวนแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 บัญญัติว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก ดังนั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาพิพาทตกเป็นโมฆะ และส่งผลต่อความเป็นโมฆะถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในการระงับข้อพิพาทซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จะทำการวินิจฉัย การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้จำหน่ายคดีตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว