คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความเสียหายต่อเนื่อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5273/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีแรงงาน ต้องมีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยจะกระทำซ้ำ หรือโจทก์จะได้รับความเสียหายต่อเนื่อง
คำสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีแรงงานอยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 254 , 255 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31 , 58 ซึ่งเจตนารมณ์ในการอนุญาตให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์ ต้องเป็นกรณีจำเลยตั้งใจจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย จำเลยที่ 1 มีคำสั่งพักงานโจทก์ก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง และมีคำขอให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาประมาณ 6 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการอันเป็นการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปอีกแต่อย่างใด เหตุที่อ้างว่าคำสั่งพักงานทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังคำสั่งพักงานเกือบ 7 เดือน ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะได้รับพิจารณาแต่งตั้งเพราะโจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยถึง 5 เรื่อง ประกอบกับคำขอคุ้มครองชั่วคราวตรงตามประเด็นข้อพิพาทในคดีที่จะต้องวินิจฉัยก่อน การยื่นคำขอก็ล่วงเลยเวลาอันควร หากนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์มาใช้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เช่นกัน จึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31 , 58 มาใช้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3928/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดจากการก่อสร้างถนน: การพิจารณาจุดเริ่มต้นความเสียหายต่อเนื่อง
วันที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์เริ่มตั้งแต่วันใดไม่ปรากฏแต่บันทึกความเสียหายที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ไว้ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2522 และหลังจากนั้นปรากฏว่าบ้านของโจทก์ยังเสียหายเพิ่มเติมขึ้นอีกเรื่อย ๆ แม้จำเลยจะมีหลักฐานการรับมอบงานช่วงหน้าบ้านโจทก์แสดงว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนในส่วนวางท่อระบายน้ำ ถมทรายบนท่อ พร้อมทั้งบดอัดแน่น และทำผิวจราจรถมทรายและบดอัดแน่นเสร็จตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 แล้วก็ตามแต่หลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2522 ยังมีการทำถนนบริเวณหน้าบ้านโจทก์ต่อไป การที่บ้านโจทก์ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่8 ธันวาคม 2522 จึงสืบเนื่องมาจากการทำถนนของจำเลยที่ 1 นั่นเองโจทก์ให้ช่างซ่อมตัวบ้านไม่ให้ทรุด ลงอีกในปลายปี 2523 และฟ้องคดีนี้วันที่ 23 เมษายน 2524 ยังไม่พ้นเวลา 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448จึงไม่ขาดอายุความ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิดต่อเนื่อง: การยึดครองทรัพย์สินโดยมิชอบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจนกว่าจะมีการเลิกยึดครอง
คดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เข้าซ่อมแซมอาคารพิพาทครั้งแรกวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 ครั้งที่สองวันที่ 26 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2550 และหลังจากเดือนเมษายน 2550 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2551 พวกจำเลยยังคงครอบครองและยึดหน่วงอาคารพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ โจทก์มีรูปถ่ายความเสียหายของอาคารที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างนั้นมาแสดง ซึ่งจากการประมวลรูปถ่ายดังกล่าว สรุปได้ว่าระหว่างเดือนเมษายน 2550 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2551 ที่จำเลยที่ 2 กับพวกเข้ายึดถือครอบครองอาคารพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยที่ 2 กับพวกมีโอกาสก่อให้เกิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินในอาคารได้ทุกเมื่อ ความเสียหายดังกล่าวเป็นการละเมิดที่สืบต่อเนื่องกันมาโดยพวกจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินให้ดี ไม่บำบัดปัดป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ อายุความละเมิดยังไม่เริ่มนับจนกว่าพวกของจำเลยจะเลิกยึดถือครอบครองอาคารพิพาทโดยไม่ชอบเพราะหากจำเลยกับพวกยังอยู่ในอาคารพิพาทแล้วไซร้ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่พวกจำเลยสามารถทำละเมิดแก่ทรัพย์สินของโจทก์ได้ทุกขณะเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายเพิ่มมากขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง แต่เมื่อพวกจำเลยออกไปจากอาคารพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมเข้าไปตรวจสอบความเสียหายได้อย่างอิสระตามวิถีที่เจ้าของทรัพย์สินพึงกระทำได้ ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่ 11 มกราคม 2551 ที่พวกจำเลยออกไปจากอาคารพิพาทถึงวันฟ้องวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่การกระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ