คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำฟ้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 886 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8612/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องเกี่ยวกับการบังคับคดีต้องยื่นต่อศาลเดิม ไม่ใช่ฟ้องคดีใหม่ แม้เคยมีคำสั่งยกคำร้องแล้ว
คำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์จำเลยตกลงกันว่าให้โจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาเพียง 360,000 บาท นอกนั้นไม่ติดใจดำเนินการบังคับคดีกับโจทก์ โจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิบังคับคดีกับโจทก์ ขอให้เพิกถอนการบังคับคดีเสีย แม้โจทก์จะกล่าวมาในคำฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายอันเป็นข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์มาด้วย แต่โจทก์มิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยผิดสัญญา คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิม มิใช่ฟ้องเป็นคดีใหม่
ตามคำร้องของโจทก์ที่ยื่นในคดีเดิมเป็นเรื่องที่อ้างว่าการดำเนินการบังคับคดีในคดีเดิมไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์ เป็นคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปโดยครบถ้วนและถูกต้องและได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในคดีเดิมซึ่งเป็นศาลที่ได้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะนัดพร้อมเพื่อสอบถามคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อนที่จะได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยมิได้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวน โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดแล้ว แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีต่อศาลชั้นต้นในกรณีดังกล่าวอีกได้เพราะเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีตามมาตรา 148 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8388/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องที่ไม่ชัดเจนและฟุ่มเฟือย ทำให้ศาลไม่รับฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญา
คำฟ้องโจทก์มีเนื้อหาเกินควรกว่าที่จำเป็นและมีมากตอนที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ อาทิ ฟ้องข้อ 1 ใช้ถ้อยคำว่า ข้อหาหรือฐานความผิดระหว่างพิจารณาเนื้อหาสาระผลงาน มาตรา 17, 24, 26 และ 27 พร้อมกฎกระทรวงฉบับที่ 21 และยื่นคำขอเป็นครั้งแรกละเมิดมาตรา 24, 25 และ 26 และข้อหาหรือฐานความผิดเบื้องหลังผลงานพ้นจากมาตรา 24, 25, 26 ไปแล้ว และได้เข้าสู่มาตรา 27 หรือในข้อ 2 มีถ้อยคำว่า ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิดผิดสัตยาบรรณ รับรองผลไม่เสียหาย ซึ่งอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายในเรื่องใด หรือการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร หรือฟ้องข้อ 3 มีข้อความว่า ข้อหาหรือฐานความผิด คำสั่งยกคำขอมิชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์กล่าวหาผู้อำนวยการสำนักสิทธิบัตรว่าเซ็นคำสั่งยกคำขอไม่ถูกต้องเพราะจะปฎิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามิได้เนื่องจากไปขัดข้ามตำแหน่งทางปกครองระดับกรมของรองอธิบดีซึ่งปกครองระดับสำนักงานและเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ เป็นต้น จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับอีกด้วย ทั้งคำฟ้องของโจทก์ยังมีความฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจจึงเป็นคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7904/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการรอการลงโทษสำหรับเจ้าพนักงานที่กระทำผิด
ตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 15 นั้น ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ ออกมาใช้บังคับโดยบัญญัติให้ พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ เป็นอันยกเลิกตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไปและกำหนดให้นำ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ มาใช้บังคับแทน การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพ.ร.บ. ดังกล่าวซึ่งถูกยกเลิกไปถือเท่ากับฟ้องของโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7317/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชัดเจนของคำฟ้องและหลักความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับรถยนต์คันดังกล่าวไปด้วยความเร็วสูง ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวเสียหลักพุ่งชนการ์ดเรล เสา และราวบันไดของโจทก์เสียหาย และมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6991/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา: การบรรยายลักษณะการกระทำในคำฟ้อง
ข้อความว่า "ข่มขืนกระทำชำเรา" หมายถึง การร่วมประเวณีกับหญิงซึ่งไม่ใช่ภรรยาของตน การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะของการข่มขืนกระทำชำเรา แต่เป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5182/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความไม่ชัดเจนของคำฟ้องฐานรับของโจรช่วงเวลากระทำผิด ทำให้ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด
การที่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 เกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักเอาไม้มะค่าโมงแปรรูปจำนวน 235 แผ่น ที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญาขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของ ว. ผู้เสียหายไปโดยทุจริต และบรรยายฟ้องข้อ 2 เกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจรว่า ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2545 จำเลยรับของโจรไม้มะค่าโมงจำนวน 8 แผ่น อันเป็นส่วนหนึ่งของไม้มะค่าโมงของกลางตามฟ้องข้อ 1 ที่ถูกคนร้ายลักไป หาใช่การบรรยายฟ้องที่ระบุว่า เวลากระทำผิดทั้งหมดในความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นก่อนที่ไม้มะค่าโมงถูกคนร้ายลักเอาไป อันจะมีผลทำให้เป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรไม่ ทั้งนี้เพราะฟ้องข้อ 2 โจทก์มิได้ระบุว่า เหตุรับของโจรเกิดขึ้นเพียงวันเดียวในวันที่ 6 มิถุนายน 2545 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมไม้ของกลางบางส่วนเท่านั้น หากแต่โจทก์ระบุว่า เหตุรับของโจรเกิดตั้งแต่วันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ถึงวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 2 ซึ่งคำว่า ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 หมายถึง ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 อันมีช่วงระยะเวลานานถึง 1 เดือน วันเกิดเหตุความผิดฐานรับของโจรตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องข้อ 2 จึงอาจเป็นวันใดวันหนึ่งในช่วงเวลา 1 เดือนดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นเวลาภายหลังจากที่มีคนร้ายลักไม้ของกลางตามฟ้องข้อ 1 แล้วก็ได้ การบรรยายฟ้องเช่นนี้จึงหาใช่การบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรก่อนเกิดความผิดฐานลักทรัพย์ อันจะมีผลทำให้คำฟ้องโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรไม่
การที่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 ระบุเกี่ยวกับเวลาการทำผิดฐานรับของโจรว่า เหตุรับของโจรเกิดตั้งแต่วันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 คือตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ถึงวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 2 คือวันที่ 6 มิถุนายน 2545 อันเป็นวันเวลาก่อนที่จะถึงวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 เป็นคำฟ้องที่สับสนขัดต่อสภาพและความเป็นจริง ไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3421/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องภาษีอากรที่ชัดเจนเพียงพอ ศาลต้องให้แก้ไขหรือวินิจฉัย ไม่ยกฟ้อง
ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 13 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย และวรรคสองกำหนดว่า ถ้าจำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่เข้าใจคำฟ้องในส่วนใดศาลอาจสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยอธิบายรายละเอียดในส่วนนั้นให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบอย่างไร และขัดต่อประมวลรัษฎากรอย่างไร เป็นคำฟ้องที่ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา หากศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยรับฟังได้ ศาลภาษีอากรกลางต้องมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้นตามข้อกำหนดดังกล่าว การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3286/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และคืนค่าขึ้นศาล
ฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) การที่ศาลยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยมิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง จึงเป็นการไม่ชอบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายมาโดยชัดเจนถึงข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดของจำเลยแล้วจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้าย ป.วิ.พ. ตาราง 1 (2) (ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลดังกล่าวเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดต้องรับผิดเกินจำนวนที่ลงหุ้นได้ต่อเมื่อมีการสอดเข้าไปจัดการงานของห้างหุ้นส่วน และต้องมีการบรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวในคำฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด จึงถือไม่ได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จำสืบว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง ศาลไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2898/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องรีดเอาทรัพย์ต้องระบุความลับและการเปิดเผยทำให้เสียหาย
โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่า ภาพเปลือยของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยเป็นความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามเสียหาย ทั้งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะหากไม่ใช่ความลับที่เปิดเผยแล้วจะทำให้ผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามต้องเสียหาย ก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ใช่ความลับที่ผู้เสียหายประสงค์จะปกปิดเอาไว้มิให้เปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338 ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยทั้งสองจะเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำฟ้องที่ไม่ชอบนั้นได้
of 89