คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำฟ้องไม่ชัดเจน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4800/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับเหมาชั้นต้นต่อลูกจ้างของผู้รับเหมาช่วง: การฟ้องไม่ชัดเจนและฐานะนายจ้าง
ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างสร้างสถานีอนามัยและบ้านพักสถานีอนามัย โดยได้ระบุวันที่อ้างว่าจำเลยจ้างโจทก์ และระบุประเภท ตำแหน่ง อัตราค่าจ้างกำหนดวันจ่ายค่าจ้างไว้ด้วย รวมทั้งจำเลยทั้งสองค้างค่าจ้างโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด และเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อันเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วคำฟ้องโจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7เป็นบทบังคับในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงเป็นนายจ้างของลูกจ้างแต่ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้เท่านั้น กรณีมิได้หมายความว่า ผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้าง ก็ดี หรือลูกจ้างก็ดี เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หากโจทก์ประสงค์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 7 แล้ว ก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ตรงกับบทกฎหมาย ดังกล่าวให้แจ้งชัด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานฟังมาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นโดยมีโจทก์ที่ 1เป็นผู้รับเหมาช่วง ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 และคำให้การของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ และศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 จะนำคำฟ้อง มายื่นใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 744/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่ชัดเจน ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดหากผู้เอาประกันภัยไม่มีความรับผิด
โจทก์ฟ้องจำเลยที่2ให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุที่จำเลยที่1ขับแต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่1ขับรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะอะไรหรือมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันอันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่1เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงเหตุที่จะให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดเช่นนี้แล้วเท่ากับคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดเป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองจำเลยที่2ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบจึงไม่ต้องรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่ชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดหนี้และผู้รับผิดชอบ ทำให้ศาลยกฟ้อง
คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าจำเลยคนไหนเป็นผู้เบิกเงินไปจากบัญชี เริ่มเบิกเงินเมื่อใด ครั้งสุดท้ายวันใดจำนวนเงินที่เบิกไปจากบัญชีเบิกไปตามสัญญาฉบับไหน แต่ละสัญญาและรวมทั้งสองสัญญาเป็นเงินจำนวนเท่าใดโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราใดเมื่อครบกำหนดตามสัญญามีจำนวนหนี้แต่ละสัญญาอย่างไร เงินฝากของจำเลยที่โจทก์นำมาหักชำระหนี้เป็นเงินฝากของจำเลยคนไหน มีจำนวนเท่าใดและนำไปหักหนี้ตามสัญญาฉบับไหน ยอดหนี้ที่ยังเหลืออยู่เป็นหนี้ตามสัญญาฉบับไหน โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3จะต้องรับผิดในหนี้จำนวน 378,397.80 บาท แต่คำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2529จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากนี้ตามคำฟ้องไม่ได้กล่าวไว้ว่ามีการเบิกเงินไปจากบัญชีครบวงเงินจำนวน 200,000 บาท เมื่อใดเพราะตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่มีการเบิกเงินเกินบัญชี มิใช่คิดจากวันทำสัญญา คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4717/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่ชัดเจน ขาดรายละเอียดการประเมินภาษี ศาลยกฟ้องตาม พ.ร.บ.ศาลภาษีอากร
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าในปี 2523 ถึง 2525 นั้น ปีภาษีใดเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มจำนวนเท่าใด เงินเพิ่มภาษีอีกจำนวนเท่าใด เหตุใดโจทก์จึงต้องเสียเพิ่ม เพราะการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 กำหนดให้เสียเป็นรอบระยะเวลาบัญชีจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณจากรายได้หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรีและเมื่อเจ้าพนักงานประเมินเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งการประเมินให้เสียภาษีตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ก็ต้องตรวจสอบไต่สวนและแจ้งการประเมินตามรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว หากผู้ต้องเสียภาษีเห็นว่าการประเมินในส่วนใดมิชอบ ก็มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่โจทก์กล่าวในฟ้องคลุมมาว่าเจ้าพนักงานประเมินแจ้ง ให้โจทก์นำเอกสารและบัญชีไปตรวจสอบแต่โจทก์ส่งให้ไม่ครบจึงแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีรวม3 ปีภาษีเป็นเงิน 954,783 บาท โดยมิได้แยกเป็นรายปีให้แจ้งชัดตามสภาพแห่งข้อหา คำขอท้ายฟ้องก็ระบุเพียงว่าขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย โดยมิได้ระบุว่าเป็นการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเลขที่และลงวันที่เท่าใด เอกสารท้ายฟ้องที่จะแสดงถึงสภาพแห่งข้อหาและการประเมินรวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ขอให้เพิกถอนดังกล่าวก็ไม่มี เป็นคำฟ้องที่ไม่แจ้งชัดทั้งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1970/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเบิกความเท็จซ้ำ: สิทธิฟ้องไม่ระงับหากศาลยกฟ้องเนื่องจากคำฟ้องไม่ชัดเจน
จำเลยเคยถูก ข. ฟ้องว่าเบิกความเท็จมาแล้ว ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) โจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีเดียวกันอีก คดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม มาตรา 39(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16561/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่ชัดเจน ขาดองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและอาญา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ตามฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่าข้อมูลต่างๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้า ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ แต่โจทก์หาได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในฟ้องไม่ ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร รวมทั้งการกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 นี้โจทก์ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า โดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด แต่โจทก์ก็หาได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวไม่ นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า จำเลยทั้งห้าได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ การบรรยายฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ละเมิดสิทธิในทางแพ่งมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10342/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยฟ้องซ้ำ เหตุคำฟ้องฎีกาไม่ชัดเจนเรื่องเหตุเดียวกัน และยืนตามศาลชั้นต้นเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม
คำฟ้องฎีกาของจำเลยบรรยายแต่เพียงว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1089/2544 ของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า บ. เป็นหนี้จำนองโจทก์ โดยจำเลยซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง ที่โจทก์มาดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีกครั้งหนึ่งจึงเป็นฟ้องซ้ำ โดยไม่ได้กล่าวบรรยายฟ้องให้เห็นว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีแพ่งดังกล่าวเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกันมาแล้วอย่างไร อันจะเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 คำฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 737 แม้เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ โจทก์ผู้รับจำนองจะเลือกฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้
ค่าฤชาธรรมเนียมศาลตามที่บัญญัติไว้ในตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีให้ตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีและวรรคสองยังบัญญัติอีกว่า ค่าฤชาธรรมเนียมให้รวมถึงค่าทนายความ เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีเป็นฝ่ายแพ้คดี กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์มานั้น จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับซื้อทรัพย์ที่ได้จากการลักทรัพย์ แม้มีเจตนาค้ากำไร แต่ฟ้องไม่ชัดเจน ศาลลงโทษเฉพาะฐานรับของโจร
จำเลยรับซื้อทรัพย์ของกลางโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อ แม้จะเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรก็ตาม แต่เมื่อคำบรรยายฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยรับของโจรเพื่อค้ากำไร จึงมิอาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ เพราะโจทก์ไม่ได้ประสงค์จะให้ลงโทษตามบทดังกล่าว คงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง เท่านั้น