คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำวินิจฉัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 140 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7807/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคำวินิจฉัยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องมีเหตุผลตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. หากชอบด้วยกฎหมายถือเป็นที่สุด
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายกาค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 ก็ต่อเมื่อเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 ประกอบมาตรา 6 ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ในการทำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไว้อย่างชัดเจน คงถือเป็นหลักเกณฑ์ได้ว่า ในการใช้ดุลพินิจที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แล้วแต่กรณี จะต้องให้เหตุผลในการปฏิเสธคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และต้องเป็นเหตุที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายังมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจกึ่งตุลาการ อาจเทียบเคียงได้กับการทำคำพิพากษา จึงต้องนำหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 มาใช้บังคับโดยอนุโลม คือ การให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) และ (5) หากคำวินิจฉัยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่า ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายกาค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ซึ่งการให้เหตุผลในระดับที่วิญญูชนสามารถเข้าใจได้ก็ถือเป็นการให้เหตุผลที่เพียงพอแล้วมิใช่เป็นเหตุผลลอยๆ หรือคลุมเครือ หรือต้องให้เหตุผลในรายละเอียดทุกเรื่อง
การจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในต่างประเทศ ย่อมเป็นเรื่องของกฎหมายแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และเป็นดุลพินิจของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าของแต่ละประเทศ มิใช่เงื่อนไขที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวให้ในประเทศไทยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า และอำนาจฟ้องคดีเมื่อคำวินิจฉัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดนั้น หมายถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมนำคดีมาสู่ศาลเพื่อให้ตรวจสอบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 โดยโจทก์ไม่ต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เพราะคดีนี้มิใช่คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนฯ เนื่องจากมีผู้คัดค้านการจดทะเบียนตามมาตรา 35 ถึงมาตรา 38 แต่เป็นคดีอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนฯ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 16 และมาตรา 18 และกรณีไม่อาจนำกำหนดเวลายื่นฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 38 มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่ง ป.พ.พ. เพราะจะเป็นการนำบทกฎหมายใกล้เคียงกันอย่างยิ่งมาใช้บังคับในลักษณะจำกัดสิทธิของประชาชน
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติให้ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่าง หรือรูปทรงของวัตถุหรือสิ่งของเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน เป็นเครื่องหมายการค้าได้ แต่จะมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงจดทะเบียนตามมาตรา 6 (1) ได้หรือไม่ ต้องพิจารณามาตรา 7 เป็นสำคัญ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารูปขวดที่เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะเป็นภาพที่ปรากฏลายเส้นโค้งมนมีสัดส่วนตั้งแต่ฐานจรดปลายแสดงให้เห็นเป็นรูปภาพขวดน้ำอัดลมที่ประกอบด้วยเส้นตรงกึ่งกลางของรูปขีดไว้ในแนวตั้งซึ่งมีระยะห่างเท่ากันจำนวนสามเส้นพาดคล่อมระหว่างกรอบสี่เหลี่ยมที่จัดไว้ตรงกลางลำตัวของรูปภาพขวดอันนับได้ว่าเป็นภาพที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปขวดดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้านี้จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (6) และเมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งเครื่องหมายดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะแล้วย่อมไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายตามประกาศนายทะเบียนฯ ตามมาตรา 17 เพราะกรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 นั้น หมายถึงเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะอันพึงจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แต่เครื่องหมายการค้ารายนั้นมีส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหลายส่วนเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวกแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนปฏิเสธไม่ขอคือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวหรือแสดงปฏิเสธอย่างอื่นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5377/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ไม่มีกำหนดระยะเวลา 90 วัน
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอ เนื่องจากเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยแล้ว และโจทก์เห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อาจฟ้องต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ซึ่งการใช้สิทธิทางศาลในกรณีเช่นนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ หรือในกฎหมายอื่นใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องเป็นคดีนี้ได้ ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 38 วรรคสอง และมาตรา 39 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่ถูกต้อง และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำประดิษฐ์
คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ บัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุด แต่คำวินิจฉัยจะเป็นที่สุดได้ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในการพิจารณาความถูกต้องตามกฎหมายหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ ศาลย่อมมีอำนาจฟ้องพิจารณาถึงความชอบหรือไม่ชอบในเหตุผลของคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนหรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าได้วินิจฉัยไปโดยชอบด้วยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและถูกต้องตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ หรือไม่ด้วย เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยได้
เครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX เป็นคำที่นำมาจากส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เป็นคำภาษาอังกฤษ แม้พิจารณาแยกกัน คำว่า NEW แปลว่าใหม่ และคำว่า MAX เป็นคำย่อมาจาก MAXIMUM แปลว่าสูงสุด แต่เมื่อเป็นคำรวมกัน คำนี้ไม่มีคำแปลและไม่ได้สื่อให้เกิดความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงถึงรุ่นใหม่ที่สุดหรือสมัยใหม่ที่สุด ทั้งได้ขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 26 รายการสินค้า กระดุมแป็บที่ยึดแบบเลื่อน ซิป ที่ยึดซิป หัวเข็มขัดใช้กับเสื้อผ้า/รองเท้า กระดุม ตะขอ ตาไก่ใช้กับเสื้อผ้า ตรา/เครื่องแสดงสัญลักษณ์ติดเสื้อผ้าที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะ ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวกับการออกแบบและแฟชั่น จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำประดิษฐ์ที่มีลักษณะพิเศษหรือเฉพาะและไม่เล็งเห็นลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 (1) (2) อันพึงจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6569/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลยุติธรรมอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และหลักการไม่ส่งเรื่องให้วินิจฉัยซ้ำ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคท้าย บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ศาลยุติธรรมย่อมยกขึ้นอ้างในคดีได้โดยไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก
ที่จำเลยทั้งสามอ้างว่า พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 30, 32, 42 ทวิ, 45 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46, 50, 87 นั้น จำเลยทั้งสามมิได้ให้เหตุผลว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างไร จึงมิใช่กรณีที่ศาลฎีกาจะต้องส่งข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสามไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6094/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องคัดค้านคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ชัดเจน การบรรยายเหตุผลเก่าไม่เพียงพอ
ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 216 และ 225 วางหลักไว้ว่า ฎีกาทุกฉบับต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ แต่ฎีกาของจำเลยเพียงบรรยายว่าเหตุผลที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ทั้งหมดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อปลีกย่อยไร้สาระนั้น จำเลยเห็นว่าล้วนแล้วแต่จะเป็นแก่นสาระน่าตั้งเป็นข้อสังเกตถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าได้ดำเนินการไปอย่างสุจริตโปร่งใสหรือไม่ และมีคำขอในท้ายฎีกาเพียงขอให้ศาลฎีกาให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ฎีกาของจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดขึ้นคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานไม่ขัดกฎหมาย แม้มีการวินิจฉัยเรื่องเงินเดือนและไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญ
สหภาพแรงงาน ส. ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ จนกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่กิจการของโจทก์เป็นกิจการขนส่งอันเป็นกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 (8) พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจึงส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 23 วรรคสอง ดังนี้ มาตรา 23 วรรคสอง เพียงแต่กำหนดเวลาเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว มิได้ประสงค์จะจำกัดอำนาจของจำเลยที่ 1 หรือให้คำวินิจฉัยสิ้นผลบังคับแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้สหภาพแรงงาน ส. และโจทก์ทราบเกินกำหนด 10 วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์ก็ไม่ทำให้อำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หมดไปหรือทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อคนในกรณีที่โจทก์มีผลประกอบการตามงบดุลกำไรมากกว่า 20,000,000 บาทนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยเพื่อระงับข้อพิพาทแรงงานตามที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับลูกจ้างตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการแข่งขันกันโดยเสรีและเป็นธรรม และมิใช่เป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการของโจทก์ อีกทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยในข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง จึงไม่อาจใช้บังคับแก่สถานประกอบกิจการอื่นที่ไม่มีข้อพิพาทแรงงานได้ คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44 ที่บัญญัติว่ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ได้ หมายความว่า ถ้ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เห็นว่า กรณีมีความจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาและวินิจฉัยก็อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นก็ได้ โดยบทบัญญัติมาตรานี้มิได้บังคับว่าต้องเชิญบุคคลดังกล่าวมาให้ความเห็นเสมอไป ดังนั้น แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะไม่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นก็ไม่ขัดต่อ มาตรา 44
การพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว มิใช่เป็นการเข้าไปร่วมบริหารกิจการของโจทก์ จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1144
การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานโดยให้โจทก์ปรับเงินเดือนของพนักงานขับรถหัวผ่าที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท เป็นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท มิใช่เป็นการพิจารณากำหนดและประกาศให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นการวินิจฉัยให้ปรับค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่ยื่นต่อโจทก์แล้วกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 78, 79 และ 88

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8944/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันคดีอาญา: คำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ฎีกาไม่รับพิจารณา
ป.วิ.อ. มาตรา 119 บัญญัติว่า ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ดังนั้น ผู้ประกันซึ่งผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดวันนัดของศาล ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 2 เกี่ยวกับค่าปรับตามสัญญาประกันอีกไม่ได้ เพราะคดีถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7645/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด ผู้มิอาจฟ้องให้คำวินิจฉัยเป็นโมฆะได้ แม้อ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ข้อเท็จจริงที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ล้วนแต่มีความหมายแสดงให้เห็นได้โดยแจ้งชัดว่าเป็นกรณีการใช้ดุลยพินิจในการทำคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามตามอำนาจหน้าที่ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพียงแต่คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามไม่เป็นไปตามทิศทางที่โจทก์ประสงค์เท่านั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือจำเลยทั้งสามได้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันจะถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 , 421
การฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ จะกระทำได้ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มิได้บัญญัติให้อำนาจบุคคลใดฟ้องเช่นนั้นได้ โจทก์จะอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 4 อันเป็นบททั่วไปมาเป็นมูลฐานฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7645/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและการละเมิด: คำวินิจฉัยที่ไม่เป็นไปตามความประสงค์โจทก์มิใช่ละเมิด
จำเลยใช้ดุลพินิจในการทำคำวินิจฉัยในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพียงแต่คำวินิจฉัยของจำเลยไม่เป็นไปตามที่โจทก์ประสงค์เท่านั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือจำเลยได้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ อันจะถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 421
จำเลยในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรีศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และ 268 การทำคำวินิจฉัยของจำเลยเป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งของการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267การฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะจะกระทำได้ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น เมื่อมิได้บัญญัติให้อำนาจบุคคลใดฟ้องเช่นนั้นได้ โจทก์จะอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 อันเป็นบททั่วไปมาเป็นมูลฐานฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของจำเลยเป็นโมฆะหาได้ไม่
of 14