คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำสั่งเจ้าพนักงาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 49 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1870/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมอาคาร: ความผิดฐานดัดแปลงอาคารต้องเป็นไปตามเงื่อนไขรื้อถอน ไม่ใช่โทษทางอาญาโดยตรง
กรณีที่จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 67 กำหนดโทษไว้นั้น จะต้องเป็นกรณีฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) และคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารตามมาตรา 40 (2) ส่วนกรณีตามมาตรา 40 (3) นั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานพิจารณาเพื่อที่จะมีคำสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 ต่อไปภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) ไปแล้ว พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ไม่ได้บัญญัติไว้ในที่ใดว่า หากฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตามมาตรา 41 ที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องแล้วจะต้องได้รับโทษทางอาญา คงบัญญัติเป็นเงื่อนไขไว้ในมาตรา 42 ว่าถ้าเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 41 ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารนั้น ซึ่งหากเจ้าของอาคารฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารนี้โดยมิได้รื้อถอนภายในกำหนดก็จะมีโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 ทวิ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา 40 (3) จึงไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับเป็นการลงโทษโดยมิชอบ กรณีจึงต้องยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องเสีย ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดฐานใช้อาคารผิดประเภทและฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นถือเป็นความผิดหลายกรรม
เมื่อจำเลยได้ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยและหอพักที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 จำเลยกลับใช้อาคารดังกล่าวเป็นโรงแรม โดยยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารดังกล่าวจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และยังไม่ได้ใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้เปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสาม กระทงหนึ่ง กับมาตรา 32 วรรคท้าย และมาตรา 33 วรรคสองอีกกระทงหนึ่ง
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร และฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่ง แม้เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะได้แจ้งคำสั่งให้ระงับการการใช้อาคารทั้งสองลักษณะให้จำเลยทราบพร้อมกัน และจำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งทั้งสองดังกล่าวในขณะเดียวกันก็ตาม แต่ความผิดทั้งสองข้อหามีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน แต่ละข้อหาจะมีความผิดตลอดไปจนกว่าจำเลยได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารและจนกว่าจำเลยได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารแล้วแต่กรณี และการได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารและใบอนุญาตในแต่ละกรณี เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน และอาจได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารและใบอนุญาตในระยะเวลาที่แตกต่างกันด้วย ทั้งความผิดฐานใช้อาคารโดยไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารและฐานใช้อาคารเพื่อการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเป็นความผิดหลายกรรมอีกด้วย การกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นทั้งสองลักษณะจึงย่อมเป็นความผิดหลายกรรมแยกต่างหากจากกันได้เช่นกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 จึงต้องลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง เพียงถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5805/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น การพิพากษาโทษปรับรายวันและการใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่
ตามที่ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 21 บัญญัติว่า ผู้ใดจะก่อสร้างอาคารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ การที่จำเลยให้ นายช่างเทศบาลเขียนแบบแปลนให้ไม่ใช่การดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ จำเลยมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ย่อมต้องรู้ว่าการก่อสร้างอาคารต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากทางราชการหรือดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ก่อน แต่จำเลยกลับทำการก่อสร้างไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การก่อสร้างของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดโดยเจตนา แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยก่อนหน้านั้นไม่เป็นความผิด
จำเลยได้รับหนังสือจากนายกเทศมนตรีให้ระงับการก่อสร้างอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2539 โดย ลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้รับแทน และเมื่อพนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุในวันที่ 2 ตุลาคม 2539 ก็พบคนงานกำลังก่อสร้างอาคารพิพาทอยู่ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2539 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 รวมเป็นเวลา 121 วัน แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่ง 120 วัน นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว และเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานท้องถิ่นเพียง 120 วัน ทั้งฟ้องว่าระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 (รวมเวลา 129 วัน) จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยรายวันตลอดมาจนถึงวันฟ้องและหลังจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้องจึงไม่ชอบ เพราะเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดดังกล่าวเพียงถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 แสดงว่าหลังจากวันนั้นจำเลยอาจมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือได้ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว การลงโทษปรับจำเลยหลังจากวันนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเกินไปกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาแก้โทษจำเลยให้ถูกต้องตรงกับคำฟ้อง
การที่จำเลยทำการก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 อันเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้ว และมาตรา 40 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจ สั่งให้ระงับการก่อสร้างและพิจารณาสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 แล้วแต่กรณี การสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 หมายถึงการสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและหากเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนได้ แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนจึงไม่ต้องพิจารณาว่ากรณีของจำเลยเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ เมื่อจำเลยก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเจ้าพนักงาน ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง แต่จำเลยทราบคำสั่งแล้วจำเลยยังคงก่อสร้างต่อไปจำเลยย่อมมีความผิดตามมาตรา 40 (1) และกรณีนี้มิใช่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นความผิด จึง ไม่มีอาจนำบทบัญญัติมาตรา 2 วรรคสอง แห่ง ป.อ. มาบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5805/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตและการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ศาลแก้ไขโทษปรับรายวันให้ตรงกับคำฟ้อง
การก่อสร้างอาคารต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากทางราชการหรือดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 39 ทวิก่อน แต่จำเลยกลับทำการก่อสร้างไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นการก่อสร้างของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดโดยเจตนา แม้ต่อมาจำเลยจะยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยก่อนหน้านั้นไม่เป็นความผิด
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพียง 120 วัน ทั้งฟ้องว่าระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539(รวมเวลา 129 วัน)จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นการที่ศาลลงโทษปรับจำเลยรายวันตลอดมาจนถึงวันฟ้องและหลังจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น จึงไม่ชอบเพราะเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดดังกล่าวเพียงถึงวันที่ 2ตุลาคม 2539 แสดงว่าหลังจากวันนั้นจำเลยอาจมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือได้ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว การลงโทษปรับจำเลยหลังจากนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเกินไปกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 อันเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้ว และมาตรา 40 บัญญัติว่าในกรณีที่มีการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและพิจารณาสั่งตาม มาตรา 41 หรือมาตรา 42 แล้วแต่กรณี การสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 หมายถึงการสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและหากเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนได้ แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรื้อถอน จึงไม่ต้องพิจารณาว่ากรณีเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ เมื่อจำเลยก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง แต่จำเลยยังคงก่อสร้างต่อไป จึงมีความผิดตามมาตรา 40(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7330/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างผิดกฎหมาย, ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน, และอายุความความผิดฐานก่อสร้างผิดแบบ
จำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น ซึ่งขัดต่อมาตรา 31 วรรคหนึ่ง และแม้จำเลยจะเข้าใจโดยสุจริตหรือสำคัญผิดว่าได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร 5 ชั้นก็ตาม อาคารที่จำเลยก่อสร้างก็ยังเป็นอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตโดยไม่ต้องพิจารณาถึงเจตนาของผู้ดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด
แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาต แต่ได้รับโอนมาเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำให้จำเลยมีอำนาจดำเนินการก่อสร้างให้ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตต่อไปได้อีกและจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นจากภาระหน้าที่ในการที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตนั้นหาได้ไม่
เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารและได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารเพราะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ อันเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนและถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารได้ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารและให้รื้อถอนอาคารด้วยการก่อสร้างอาคารต่อไปและงดเว้นไม่ยอมรื้อถอนอาคาร ย่อมถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันจำเลยประสงค์ต่อผลซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง ซึ่งจำเลยต้องรื้อถอนอาคารบางส่วนก็ตาม แต่จำเลยมิได้ดำเนินการรื้อถอน และยังคงฝ่าฝืนต่อไป กรณีเช่นนี้หาทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดไม่
จำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารที่ผิดจากรายการที่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดกรรมหนึ่งแล้ว ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้นเมื่อจำเลยทราบคำสั่งแล้วกระทำการก่อสร้างต่อไปเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเกิดขึ้นเมื่อจำเลยทราบคำสั่งแล้วงดเว้นไม่ยอมรื้อถอนอาคารภายในเวลาที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดก็เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง
แม้การปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลย คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้
เมื่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง และมาตรา66 ทวิ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้ จึงต้องนำอายุความตาม ป.อ.มาปรับใช้ตามนัยแห่ง ป.อ.มาตรา 17
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเริ่มแต่วันที่จำเลยได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องย่อมนับถัดจากวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ กรณีหาใช่ความผิดต่อเนื่อง และหาใช่อายุความยังไม่เริ่มนับตราบใดที่จำเลยยังคงฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอยู่ไม่
ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเริ่มเกิดเป็นความผิดขึ้นนับแต่วันที่ฝ่าฝืนไม่ยอมรื้อถอนอาคาร และเป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ยอมรื้อถอนอาคาร เมื่อจำเลยยังฝ่าฝืนอยู่ตลอดมาอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ
กรณีที่มีทั้งระวางโทษที่กำหนดและโทษรายวัน การที่จะพิจารณาว่าศาลใดลงโทษสูงต่ำกว่ากัน ต้องพิจารณาลักษณะของโทษแยกกัน
ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกและปรับ กับปรับรายวันวันละ 200 บาทจำเลยอุทธณ์ฝ่ายเดียว และศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับและปรับรายวันวันละ 500 บาทย่อมเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6610/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยคืนภาษีอากร: การปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานและผลกระทบต่อสิทธิในการรับดอกเบี้ย
เจ้าพนักงานได้เรียกให้โจทก์ผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมจากที่โจทก์เคยส่งพร้อมกับคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าโจทก์ได้ถูกหักหรือเสียภาษีเกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือไม่โจทก์จึงต้องนำเอกสารหรือหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสาม ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526)ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานภายในเวลาที่กำหนด และโจทก์มิได้ขอขยายเวลาส่งเอกสารต่ออธิบดี ซึ่งตามข้อ 2 วรรคท้าย ของกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งตามวรรคสามโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งคือวันที่ 9สิงหาคม 2536 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบเอกสารครั้งสุดท้ายให้แก่เจ้าพนักงานเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานระงับการคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ซึ่งเป็นวันออกหมายเรียกถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538จึงไม่ถูกต้อง โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีอากรที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ส่งคืนให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 21กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2536 ด้วย ตามมาตรา 4 ทศ แห่ง ป.รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6610/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับดอกเบี้ยคืนภาษีอากรถูกระงับเมื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานและไม่ขอขยายเวลา
เจ้าพนักงานได้เรียกให้โจทก์ผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมจากที่โจทก์เคยส่งพร้อมกับคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าโจทก์ได้ถูกหักหรือเสียภาษีเกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือไม่โจทก์จึงต้องนำเอกสารหรือหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสาม ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161(พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรเมื่อโจทก์ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานภายในเวลาที่กำหนด และโจทก์มิได้ขอขยายเวลาส่งเอกสารต่ออธิบดีซึ่งตามข้อ 2 วรรคท้าย ของกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งตามวรรคสามโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งคือวันที่ 9 สิงหาคม 2536 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบเอกสารครั้งสุดท้ายให้แก่เจ้าพนักงานเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานระงับการคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ซึ่งเป็นวันออกหมายเรียกถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 จึงไม่ถูกต้องโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีอากรที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ส่งคืนให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 8สิงหาคม 2536 ด้วย ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องชอบด้วยกฎหมาย การรับรู้คำสั่งเป็นสำคัญต่อความผิด
พระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ.2535มาตรา28วรรคหนึ่งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ระงับเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นในสถานที่นั้นมาตรา45ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้ดำเนินกิจการนั้นแก้ไขหรือปรับปรุงให้ถูกต้องถ้าการดำเนินกิจการนั้นจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนจะสั่งให้ผู้นั้นหยุดดำเนินกิจการไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าปราศจากอันตรายแล้วก็ได้และต้องทำเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ดำเนินกิจการซึ่งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งทราบแต่ที่จำเลยยอมรับว่าจำเลยได้ดำเนินการแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญตามคำสั่งของสำนักงานเทศบาลเมืองตรังแล้วนั้นอาจเป็นการทราบคำสั่งดังกล่าวจากเจ้าพนักงานตำรวจผู้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบก็ได้เมื่อจำเลยยังไม่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยชอบจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2477/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับชำระหนี้จากทรัพย์จำนอง: คำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์, ดอกเบี้ยทบต้น, และผลของการไม่คัดค้าน
ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน แม้จะกล่าวถึงมูลหนี้ว่า ลูกหนี้ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องในวงเงิน 300,000 บาทโดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงินดังกล่าว หลังจากนั้นมีการเดินสะพัดทางบัญชีและต่อมาผู้ร้องได้บอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ซึ่ง ณ วันที่14 มกราคม 2534 ลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้องจำนวน 546,895.54 บาท ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองหลักประกันตามสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยก่อนเจ้าหนี้อื่น และวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราต่าง ๆนับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2531 เป็นต้นไปก็ตาม แต่เมื่อที่สุดผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองภายในต้นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2531 จนถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซึ่งไม่ได้ระบุให้ผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ก็จะแปลว่าคำสั่งของผู้คัดค้านมีความหมายให้ผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นมาได้ไม่ หากคำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างใด ชอบที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิคัดค้านตาม พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 146 เมื่อผู้ร้องไม่ได้ใช้สิทธิคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว คำสั่งของผู้คัดค้านย่อมถึงที่สุด ผู้ร้องจะคัดค้านอีกหาได้ไม่และเมื่อตามบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ผู้คัดค้านได้คำนวณให้ผู้ร้องมีสิทธิไดรับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำสั่งของผู้คัดค้าน บัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินของผู้คัดค้านจึงถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7370/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยเชื่อคำสั่งของเจ้าพนักงาน ย่อมได้รับการยกเว้นโทษฐานบุกรุก
โจทก์ครอบครองเพิงไม้ที่ปลูกอยู่ติดกับข้างอาคารพาณิชย์ที่จำเลยที่ 1 เช่าจากเทศบาลตำบลปากช่อง ซึ่งเทศบาลตำบลปากช่องแจ้งให้ภริยาโจทก์รื้อถอนเพิงไม้ดังกล่าว แต่ภริยาโจทก์อ้างว่าไม่ได้เป็นเจ้าของเพิงไม้นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปากช่องจึงสั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนเพิงไม้ จำเลยที่ 1 เชื่อว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นแม้การที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนเพิงไม้จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 ก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ย่อมได้รับยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 70
of 5