คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คีตามีน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3795/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีครอบครองคีตามีนและพืชกระท่อม: ศาลยกฟ้องข้อหาคีตามีน เหตุหลักฐานไม่เพียงพอ ลดโทษพืชกระท่อมตามกฎหมายใหม่
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยมาตรา 8 ให้ยกเลิกบทความผิดในมาตรา 26 เดิม และมาตรา 9 บัญญัติความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นมาตรา 26/3 แทน และมาตรา 17 ให้ยกเลิกบทกำหนดโทษในมาตรา 76 เดิม ให้ใช้มาตรา 76 ที่แก้ไขใหม่แทน ซึ่งความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 76 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท เพียงสถานเดียว แตกต่างกับมาตรา 76 วรรคสองเดิม ที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นจึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นคุณมากกว่าบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8945/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนและคีตามีนไว้ในครอบครอง ศาลฎีกาแก้โทษให้รอการลงโทษ และปรับตามกฎหมายใหม่
ความผิดฐานมีคีตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ยังคงบัญญัติให้เป็นความผิดตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ให้จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจาก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ที่เป็นความผิดตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง และมีโทษตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท แม้ตามกฎหมายฉบับเดิมและฉบับใหม่จะมีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน แต่ตามกฎหมายฉบับใหม่บัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิมที่บัญญัติให้จำคุกและปรับเท่านั้น กฎหมายฉบับใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า และความผิดฐานเสพคีตามีนยังคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 92 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 141 ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจาก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ที่เป็นความผิดตามมาตรา 62 ตรี และมีโทษตามมาตรา 106 ตรี ที่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท เห็นได้ว่าโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายฉบับใหม่เบากว่าโทษจำคุกตามกฎหมายฉบับเดิม โทษจำคุกและโทษปรับตามกฎหมายฉบับใหม่ไม่มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับขั้นต่ำเช่นเดียวกับกฎหมายฉบับเดิม ทั้งกฎหมายฉบับใหม่บัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิมที่ให้จำคุกและปรับเท่านั้น กฎหมายฉบับใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า ดังนั้นในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องใช้กฎหมายฉบับใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6766/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีความผิดฐานขายคีตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลใช้พยานหลักฐานจากคำรับสารภาพของผู้ร่วมกระทำผิดประกอบคำเบิกความของพยาน
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 84 ววรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จะห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐาน แต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุม บันทึกถ้อยคำ และภาพถ่ายการชี้ตัว ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3