คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คืนเงินมัดจำ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 43 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8021/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและการคืนเงินมัดจำ/ค่าที่ดิน จำเลยไม่มีสิทธิริบเงินเมื่อสัญญาไม่ได้ระบุ
ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีข้อตกลงให้จำเลยริบเงินค่าที่ดินที่โจทก์ได้ชำระแล้ว ดังนั้นแม้จำเลยจะมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาโดยระบุว่าหากโจทก์ไม่ดำเนินการจะริบเงินทั้งหมดแล้วโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะริบเงินดังกล่าวได้ และเมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยต้องให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินที่ได้รับไว้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ดอกเบี้ยดังกล่าวมีลักษณะเป็นการทดแทนความเสียหายอย่างหนึ่งเพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนฐานะที่เป็นอยู่เดิมจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งหรือดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขายที่ดิน: สภาพหนี้, การผิดนัด, และการคืนเงินมัดจำเมื่อผู้ขายไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้
ป.พ.พ. มาตรา 369 บัญญัติว่า ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้...ฯลฯ... หมายความว่า การชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาจะต้องมีความพร้อมในการชำระหนี้ทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนอีกฝ่ายจะไม่ยอมชำระหนี้ก็ได้ ที่ดินพิพาทถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อบังคับคดีชำระหนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2541 และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้โจทก์ไปรับโฉนดที่ดินพิพาทคืนเนื่องจากมีการถอนการยึด แสดงว่าในวันที่ 10 เมษายน 2541 ที่โจทก์จำเลยนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นั้น ที่ดินพิพาทยังถูกยึดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะโอนให้โจทก์ เพราะการโอนทรัพย์ที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วไม่อาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 305 (1) เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องทำให้ที่ดินพิพาทพ้นสภาพจากการถูกยึดก่อนนำมาโอนและรับชำระราคาจากโจทก์ หากที่ดินพิพาทยังไม่พ้นจากสภาพดังกล่าว จำเลยก็มิอาจเรียกร้องให้โจทก์ชำระราคาได้ เพราะจำเลยไม่อยู่ในสภาพจะชำระหนี้ตอบแทนได้ทันที จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินที่โจทก์ชำระไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และถอนการยึดที่ดินพิพาทแล้วนำมาโอนให้โจทก์ได้
จำเลยไม่พร้อมที่จะโอนที่ดินพิพาทเพราะที่ดินถูกยึด โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระราคาดังกล่าว และถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะที่ดินพิพาทถูกยึดไม่พร้อมจะโอนให้โจทก์อันเป็นเหตุที่เกิดจากฝ่ายจำเลย จำลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ และเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์
โจทก์จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันที่ 10 เมษายน 2541 เมื่อจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยจากการคืนเงินมัดจำและการผิดสัญญาซื้อขาย ศาลยืนอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำ 935,442 บาท คืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับไว้จนถึงวันฟ้อง โดยอาศัยเหตุการคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง และขอดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงเป็นการขอดอกเบี้ยโดยอาศัยเหตุต่างกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินมัดจำและดอกเบี้ยตามขอรวมเป็นเงิน 1,035,442 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 935,442 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาจะซื้อจะขายนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนั้น โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จำนวน 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับดอกเบี้ยในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) และ ข้อ (4) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาจำนวน 8,040 บาท จึงเสียค่าขึ้นศาลเกินมา ต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน 300 บาท แก่โจทก์ไปทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและการคืนเงินมัดจำเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญา
เจ้าหนี้กล่าวหาว่าลูกหนี้ผิดสัญญาจะซื้อขายและได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังลูกหนี้ ลูกหนี้มิได้โต้แย้งแต่ประการใด จึงรับฟังได้ว่าลูกหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเจ้าหนี้จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 ลูกหนี้ต้องคืนเงินที่ได้รับชำระไว้จากเจ้าหนี้ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ลูกหนี้รับไว้ แม้ลูกหนี้จะมีหนังสือแจ้งให้เจ้าหนี้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา และเจ้าหนี้ได้ติดต่อกับลูกหนี้และทำบันทึกข้อตกลงกันอย่างไร ก็เป็นเอกสารที่ได้กระทำขึ้นภายหลังที่สัญญาเลิกกันแล้ว จึงไม่มีผลผูกพันเจ้าหนี้และลูกหนี้แต่ประการใด เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นโมฆะ ผู้ขายต้องคืนเงินมัดจำ
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยเพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้น เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น
โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามมาตรา 407 จำเลยต้องคืนเงินซึ่งได้รับไว้แก่โจทก์ตามมาตรา 406
หลังจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าที่ดิน 2,872,718 บาท คืนแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระได้ให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ ย. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท ต่อมา ย. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์2,600,000 บาท อันเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ได้หักหนี้ 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ดังกล่าวได้ ดังนี้เงิน 2,000,000 บาท จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 872,718 บาท เท่านั้น
จำเลยไม่ได้ยกอายุความเรื่องลาภมิควรได้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายรถยนต์ผิดนัด: จำเลยต้องคืนเงินมัดจำและชดใช้ค่าเสียหาย
ข้อความตามแผ่นปลิวโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อรถยนต์ของจำเลยมีว่า "จองวันนี้รับฟรีโทรศัพท์มือถือ โทรฟรีทั่วไทย บี.เอ็ม.ดับบลิว/เปอร์โยต์ ลักกี้เดย์ ทุกรุ่นทุกแบบผ่อนฟรีไม่มีดอกเบี้ย แถมประกันภัยชั้น 1 ฟรี" ถือว่าเป็นเงื่อนไขในข้อเสนอขายของจำเลย เมื่อโจทก์เข้าสนองตอบตามข้อเสนอขาย โดยเข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท กับจำเลย แต่จำเลยละเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามข้อความในแผ่นปลิวโฆษณาเชิญชวนทั้งต่อมายังนำรถยนต์พิพาทกลับไปไว้ในความครอบครองของจำเลยไม่ส่งมอบคืนให้โจทก์ได้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์พิพาท จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและฟ้องคดี ถือได้ว่าสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท เลิกกันโดยปริยาย มีผลให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยรับรถยนต์พิพาทกลับคืนมาไว้ในความครอบครองแล้วจึงมีหน้าที่ต้องส่งคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ตามสัญญาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 378 (3) ส่วนการที่โจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์พิพาทก่อนที่จำเลยนำกลับคืนไป โจทก์จึงต้อง ชำระค่าใช้ทรัพย์และค่าเสียหายที่จำเลยเสียไปในการซ่อมแซมรถยนต์พิพาทให้คืนสภาพดีดังเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาก่อนฟ้องคดี: กรณีจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ดินได้ และโจทก์มีคำขอให้คืนเงินมัดจำ
สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ผู้จะซื้อกับจำเลยผู้จะขายระบุให้ผู้ขายเป็นฝ่ายตกลงกับผู้เช่านาเอง หมายถึงว่าให้จำเลยจัดการให้ผู้เช่านาออกจากที่ดินพิพาทให้เรียบร้อยก่อนวันโอนกรรมสิทธิ์
พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ บัญญัติให้การจัดการให้ผู้เช่านาออกจากที่เช่าต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในกฎหมายดังกล่าวให้ถูกต้องก่อน โดยผู้ให้เช่านาต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้เช่านาพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านาและส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อประธาน คชก. ตำบล และภายในเจ็ดวันนับแต่เมื่อได้รับสำเนาหนังสือตามวรรคหนึ่ง ให้ประธาน คชก. ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคชก. ตำบล แจ้งให้ผู้เช่านาที่ถูกบอกเลิกการเช่านาทราบเพื่อคัดค้านการบอกเลิกการเช่านาต่อ คชก. ตำบล ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง การที่จำเลยและ ช. ไปลงบันทึกประจำวัน ช. เลิกทำนาในที่ดินพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญาเช่านายังไม่เลิกกันเท่ากับจำเลยยังมิได้จัดการตกลงให้ผู้เช่านาออกจากที่ดินที่พิพาท
การที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่จดทะเบียนการซื้อขายให้เนื่องจากมีผู้เช่านาที่ดินพิพาท ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาต่อจำเลย แต่เมื่อจำเลยขอยกเลิกการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทแล้วโจทก์มิได้คัดค้าน และโจทก์มาฟ้องคดีอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาโดยไม่จัดให้ผู้เช่านาออกจากที่ดินพิพาท ซึ่งในสัญญามิได้ระบุว่าจำเลยต้องดำเนินการให้เสร็จเมื่อใด ทั้งโจทก์มิได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยปฏิบัติในเวลาอันสมควร แต่กลับฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาโดยโอนที่ดินแก่โจทก์ทันทีจนจำเลยไม่อาจปฏิบัติได้จำเลยจึงไม่ผิดสัญญาเช่นกัน
พฤติการณ์ที่จำเลยนัดโจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินโดยที่ยังมิได้ดำเนินการให้ผู้เช่านาออกไปจากที่ดินพิพาทและเมื่อโจทก์ไม่รับโอนจึงขอยกเลิกการจดทะเบียนซื้อขายกับการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินโดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังมิได้ให้เวลาจำเลยดำเนินการให้ผู้เช่านาออกไปจากที่ดินพิพาทก่อน โจทก์ย่อมรู้อยู่ว่าไม่สามารถทำได้แต่โจทก์มีคำขอว่าถ้าไม่สามารถโอนที่ดินได้ก็ให้คืนเงินมัดจำ เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายโดยมิได้มีฝ่ายใดผิดสัญญา โจทก์และจำเลยจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7618/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินล่าช้าจากข้อจำกัดทางกฎหมาย ไม่ถือเป็นผิดสัญญา และการเลิกสัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม
โจทก์จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามประกาศขายที่ดินพิพาท และการประกาศดังกล่าวเป็นการประกาศตามกฎกระทรวงฉบับที่ 35 (พ.ศ. 2531) ข้อ 5 ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ปิดประกาศ ฉะนั้นการที่จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 จำเลยจึงยังไม่ผิดนัดและไม่ผิดสัญญา และพฤติการณ์ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของโจทก์เช่นกัน เมื่อโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญา และโจทก์ไม่ติดใจที่จะนัดจดทะเบียนโอนกันใหม่ โดยให้ทนายความมีหนังสือเรียกค่าเสียหายและเรียกมัดจำคืน ส่วนจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ขอนัดจดทะเบียนโอนกันใหม่ แต่โจทก์มิได้มีหนังสือตอบตกลงด้วย จำเลยจึงมีหนังสือถึงโจทก์ขอริบมัดจำ แสดงว่าโจทก์จำเลยต่างตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในคุณสมบัติทรัพย์สิน สัญญาซื้อขายเป็นโมฆียะ คืนเงินมัดจำ
เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายอาคารพิพาทโดยเข้าใจว่าอาคารดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 614 และ 616 แต่ไม่ทราบมาก่อนว่าอาคารดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 615 แม้จำเลยจะสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ของอาคารพิพาทพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 614 และ 616 ให้โจทก์ได้หรือไม่ก็ตาม แต่โดยที่อาคารดังกล่าวเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่ 615 ตามกฎหมายด้วย เมื่อตีความสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวของโจทก์และจำเลยโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในทางสุจริตแล้ว ต้องถือว่าไม่อยู่ในความประสงค์ของโจทก์ที่จะเข้าทำสัญญาดังกล่าวโดยไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อทั้งหมดได้ ต้องถือว่าโจทก์เข้าทำสัญญาจะซื้อขายอาคารพิพาทกับจำเลยโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงมีผลเท่ากับเป็นการบอกเลิกโมฆียะกรรมและต้องถือว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำที่รับไปพร้อมดอกเบี้ย แต่ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดระหว่างกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7185/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินติดอายัด: สัญญาไม่เป็นโมฆะ เหตุอายัดไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยต้องคืนเงินมัดจำ
ฎีกาจำเลยที่ว่า โจทก์ได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาสิ้นสุดตามสัญญาแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ทั้งมิได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ อีกทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
เมื่อขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินพิพาทสามารถโอนกรรมสิทธิ์กันได้เพียงแต่กรมที่ดินให้มีหมายเหตุไว้ในบัญชีอายัดและกลัดติดไว้ในโฉนดที่ดินว่า"เมื่อมีผู้มาขอจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ ให้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่ากองทัพบกอ้างว่าเป็นที่สนามบินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หากเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจริง ผู้รับโอนย่อมไม่ได้สิทธิในที่ดินนี้แต่อย่างใด ถ้าคู่กรณีทราบแล้วประสงค์จะให้จดทะเบียน ก็ให้บันทึกถ้อยคำไว้แล้วดำเนินการจดทะเบียนต่อไปได้"ดังนั้น ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย วัตถุที่ประสงค์ของสัญญามิได้เป็นการพ้นวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ใหม่)จึงมีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญา
เหตุที่จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 ไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งผลของการแจ้งอายัดนั้น ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าพนักงานที่ดินเมื่อได้สอบสวนหลักฐานที่ผู้ขอได้นำมาแสดงให้ปรากฏแล้ว ถ้าเห็นสมควรเชื่อถือก็ให้รับอายัดไว้ได้มีกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัด โดยให้ผู้นั้นไปดำเนินการทางศาล และให้นำหลักฐานการยื่นฟ้องพร้อมสำเนาคำฟ้องในกรณีที่ขออายัดมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับอายัดภายในกำหนดเวลาที่อายัด ถ้าผู้ขออายัดมิได้ปฏิบัติดังกล่าวให้ถือว่าการอายัดสิ้นสุดและจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้ แต่ถ้าผู้ขออายัดได้แสดงหลักฐานดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่อายัดให้การอายัดมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งให้ถอนการอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด เพราะฉะนั้นการแจ้งขออายัดจึงไม่ทำให้ที่ดินพิพาทถูกห้ามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาด และไม่ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นการชำระหนี้พ้นวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 อีกทั้งหนังสือแจ้งอายัดก็ไม่ใช่เหตุใด ๆ อันจะเกิด จะให้ผลพิบัติ ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ อันเป็นเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 การที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ตามกำหนดในสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการชำระหนี้คือการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์
ในวันครบกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญา ฝ่ายโจทก์นำแคชเชียร์เช็คไปพร้อมชำระราคาให้แก่จำเลย โดยโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา แต่ต่อมาหลังจากครบกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท และไม่สามารถโอนให้ได้แล้ว จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินตามสัญญาภายใน 10 วัน หากพ้นกำหนดถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการแจ้งบอกเลิกสัญญาอันเป็นการที่จำเลยแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาพร้อมกันนั้นโจทก์ก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ และราคาที่ได้ชำระแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวมาแสดงว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายจึงเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยจึงต้องให้โจทก์ทั้งสองได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
of 5