คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คุณสมบัติสินค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: คำประดิษฐ์ที่ไม่เล็งคุณสมบัติสินค้าเป็นเครื่องหมายที่ชอบจดทะเบียนได้
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 ที่บัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุดนั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลมีอำนาจพิจารณาถึงความชอบหรือไม่ชอบในเหตุผลของคำวินิจฉัยหรือคำสั่งว่าได้วินิจฉัยไปโดยชอบด้วยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและถูกต้องด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ด้วย
ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายทะเบียนเครื่องหมายค้าจำเลยที่ 11 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ได้
การพิจารณาว่าคำสั่งของจำเลยที่ 11 หรือคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์เท่านั้น และคดีนี้ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 รับผิดเป็นการส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ ทั้งโจทก์ได้อ้างเหตุผลที่ว่าคำสั่งของจำเลยที่ 11 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุใดในคำฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำว่า NEWMAX นำมาจากส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายค้าซึ่งเครื่องหมายการค้าคำว่า NEWMAX เป็นคำภาษาอังกฤษ แม้พิจารณาแยกกัน คำว่า NEW แปลว่า ใหม่ และคำว่า MAX เป็นคำย่อมาจาก MAXIMUM แปลว่าสูงสุด แต่เมื่อเป็นคำรวมกันว่า NEWMAX ไม่มีคำแปลและไม่ได้สื่อให้เกิดความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงถึงรุ่นใหม่ที่สุดหรือสมัยใหม่ที่สุด ทั้งโจทก์ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า NEWMAX เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 26 รายการสินค้ากระดุมแป๊บ ที่ยึดแบบเลื่อน ซิป ที่ยึดซิป หัวเข็มขัดใช้กับเสื้อผ้า/รองเท้า กระดุมตะขอ ตาไก่ใช้กับเสื้อผ้า ตรา/เครื่องแสดงสัญลักษณ์ติดเสื้อผ้าที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะ ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวกับการออกแบบแฟชั่น เครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX สำหรับสินค้าจำพวก 26 ที่โจทก์รับโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาจึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 (1), (2) อันพึงจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2500/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องไม่เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้า และต้องแสดงให้เห็นถึงการใช้จริงหรือความแพร่หลาย
โจทก์ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่มีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อศาล และหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมมีผลเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในตัว โจทก์ฟ้องโดยมิได้อ้างว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน เท่ากับมิได้อ้างว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นโดยไม่จำต้องฟ้องเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นจำเลยด้วยได้
แม้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพ้นระยะเวลาตามกฎหมาย แต่โจทก์ยังมีสิทธิที่จะยื่นบัญชีระบุพยานไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษาได้อีก หากโจทก์ขออนุญาตต่อศาลโดยแสดงเหตุอันสมควรที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานเช่นนี้ พร้อมกับสำเนาเอกสารที่อ้างในบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวมาด้วย เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจสั่งรับบัญชีระบุพยานของโจทก์เป็นพยาน จึงรับฟังเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานได้
การนำคำว่า "ชวนป๋วย" และ "ปี่แป่" ซึ่งเป็นชื่อสมุนไพรจีนที่มีคุณสมบัติใช้เป็นยาแก้ไอและขับเสมหะมาประกอบกับคำว่า "กอ" ที่หมายถึงน้ำเชื่อม และจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "ชวนป๋วยปี่แป่กอ" จึงเป็นการนำเอาคำที่เล็งถึงคุณสมบัติและลักษณะของสินค้ายาน้ำแก้ไอนั้นโดยตรงซึ่งไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะมาขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้ายาน้ำแก้ไอ จึงไม่ชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความคำว่า 'เนยเทียม' ตามกฎหมายภาษีอากร โดยพิจารณาจากส่วนประกอบและคุณสมบัติของสินค้า
คำว่า "เนยเทียม" ตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 มิได้ให้คำนิยามไว้โดยเฉพาะ จึงมีความหมายตามธรรมดา ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้คำนิยามคำว่า "เนยเทียม" ไว้ว่า สิ่งที่ทำจากไขมันหรือน้ำมันที่ได้จากพืชและสัตว์นำมาทำให้บริสุทธิ์ ผสมวิตามินเอ วิตามินดี เติมนมและสีที่เหมาะสม แบคทีเรีย ในนมจะทำให้เกิดกลิ่นและรสคล้ายเนยใช้เป็นอาหารได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์เอาน้ำมันปาล์มไปกลั่นทำให้ได้น้ำมันปาล์มโอเลอีนและไขมันสเตียรีน อันเป็นสินค้า รายพิพาทจึงเป็นเพียงไขมันที่ได้จากพืช ที่ยังไม่ได้ผสมวิตามินเอ และดี กับยังไม่ได้เติมนมและสีที่เหมาะสมให้แบคทีเรีย ในนมทำให้เกิดกลิ่นและรสคล้ายเนย สเตียรีน จึงไม่เป็นเนยเทียมตามบัญชีที่ 1หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 1 ชนิด 1.(ก) แห่งประมวลรัษฎากร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความคุณสมบัติสินค้าเพื่อจัดประเภทอัตราอากร กรณีสารเคมีมีคุณสมบัติป้องกันการเกิดสนิมและปฏิกิริยาออกซิเดชัน
สินค้าพิพาท โจทก์ซื้อจากประเทศสิงคโปร์ ประเทศในภาคีอาเซียน และเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรที่ 38.14 ปรากฏว่า สินค้าพิพาทนอกจากจะมีคุณสมบัติกันการเป็นสนิมแล้ว ยังมีคุณสมบัติป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชันและป้องกันการกัดกร่อน ด้วย ดังนั้นสินค้าพิพาทจึงไม่ใช่สินค้าในรายการ "เฉพาะสิ่งปรุงแต่ง ที่ใช้สำหรับกันการเป็นสนิม" ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 10/2527 ที่จะได้ลดอัตราศุลกากรลงเหลือร้อยละ 60 ของอัตราที่เรียกเก็บ หรือเสียอากรขาเข้าร้อยละ 18 ของราคา แต่เป็นสินค้าในรายการ "อื่น ๆ" ในบัญชีท้ายประกาศดังกล่าว ซึ่งได้รับ ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 80 หรือต้องเสียอากรร้อยละ 24 ของราคา เมื่อการเรียกเก็บอากรขาเข้าถูกต้องแล้ว ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บแทนจำเลยที่ 2 จึง ถูกต้องด้วย ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ก่อนหรือไม่ต่อไป เพราะไม่เป็น ประโยชน์แก่คดี.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า POWERMILL มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้สื่อความหมายได้หลายอย่าง ไม่ถือว่าเล็งถึงคุณสมบัติสินค้าโดยตรง
คำว่า POWERMILL ใช้อักษรโรมันประกอบเป็นคำในภาษาอังกฤษ ไม่มีคำแปลในพจนานุกรมทั่วไป โดยเป็นคำที่โจทก์นำคำว่า POWER แปลว่า อำนาจ กำลังแรง กับคำว่า MILL แปลว่า โรงสี โรงเครื่องจักร เครื่องกล โรงงาน มารวมกันเป็นเครื่องหมายการค้าและขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับใช้กับสินค้าดังกล่าว คำว่า POWERMILL จึงสื่อได้หลายความหมายทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ การนำคำดังกล่าวมารวมกันจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด ถือไม่ได้ว่าคำว่า POWERMILL เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ เครื่องหมายการค้าคำว่า POWERMILL จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียบได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4181/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนอากรที่ได้รับยกเว้นและอำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: การพิจารณาคุณสมบัติของสินค้าและผลกระทบต่อการคืนอากร
พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มิได้บัญญัติว่าการขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นอากรจะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่กำหนดไว้ ต่างกับการขอคนภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร ซึ่งมาตรา 27 ตรี แห่ง ป.รัษฎากรให้ยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น ดังนั้น การขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นอากรจึงไม่ต้องยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนดไว้ แม้ใบขอคืนเงินจะระบุแต่ชื่อโจทก์และจำนวนเงินอากรที่ขอคืนเท่านั้น มิได้ระบุรายละเอียดอื่น เช่น เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ใบขนสินค้าที่อ้างว่าได้ชำระอากรโดยผิดหลง และเลขที่บัญชีธนาคารที่ประสงค์จะให้จำเลยโอนเงินตามจำนวนที่ขอคืน แต่จำเลยก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องคืนเงินอากรแก่โจทก์หรือไม่ เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วไม่คืนเงินอากรแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากรฯ ภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากรประเภทที่ 13 ต้องเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการ เมื่อได้ความว่ามีการทำสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับกรมอู่ทหารเรือ และกระทรวงกลาโหมมีหนังสือถึงอธิบดีจำเลยขอยกเว้นค่าอากรสำหรับสินค้าพิพาทที่นำเข้าตามสัญญาซื้อขาย เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการทหาร ต่อมากรมอู่ทหารเรือบอกเลิกสัญญาเนื่องจากสินค้าที่โจทก์ส่งมอบมิใช่สินค้าตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับกรมอู่ทหารเรือจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 สินค้าพิพาทจึงมิใช่ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการในขณะที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว แม้ภายหลังกรมอู่ทหารเรือจะทำสัญญาซื้อขายใหม่กับโจทก์โดยถือคุณสมบัติของสินค้าเหมือนเดิมทุกประการ ก็เป็นกรณีที่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าตามสัญญาซื้อขายใหม่ การที่โจทก์นำสินค้าพิพาทที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผ่านพิธีการทางศุลกากรและชำระค่าอากรขาเข้าไปแล้วเพราะไม่ได้เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการมาส่งมอบให้กรมอู่ทหารเรือตามสัญญาซื้อขายฉบับใหม่ ไม่ทำให้สินค้าพิพาทตามสัญญาเดิมที่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้ากลายเป็นได้รับยกเว้นอากรขาเข้าด้วย จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินอากรขาเข้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์