พบผลลัพธ์ทั้งหมด 443 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6308/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าขึ้นศาลเกินดุลพินิจ - คดีขาดนัด - การคืนค่าธรรมเนียมศาล
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงิน ประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าซึ่งมีหลายวิธี ทั้งการให้กู้ยืมเงิน การเบิกเงินเกินบัญชี ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินหรือด้วยวิธีอื่นใดที่สามารถทำได้ในการให้สินเชื่อหรือหลักประกันแก่ลูกค้า โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่น จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์สามารถทำธุรกรรมการเงินกับโจทก์โดยไม่จำกัดวิธีหนึ่งวิธีใดเพียงอย่างเดียว การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ทำหนังสือรับรองวงเงินกู้ระยะสั้น และออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ ซึ่งล้วนเป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ก่อขึ้นทั้งหมดกับโจทก์ โดยมิได้แบ่งแยกว่าเป็นประกันหนี้รายใด มูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมโดยแยกเป็นมูลหนี้แต่ละรายการจึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย
การที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 202 ประกอบด้วยมาตรา 132 บทบัญญัติสองมาตรานี้ไม่ได้กำหนดให้ศาลต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมเหมือนอย่างบทบัญญัติมาตรา 151 แห่ง ป.วิ.พ. แม้ตามมาตรา 132 จะมีข้อความว่า ให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร ก็เป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมหรือไม่ มิใช่บังคับให้ศาลต้องสั่ง กรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่มีระเบียบให้ต้องคืนค่าธรรมเนียมเหมือนอย่างการคืนค่าธรรมเนียมตามมาตรา 151 ที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์จึงชอบแล้ว
การที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 202 ประกอบด้วยมาตรา 132 บทบัญญัติสองมาตรานี้ไม่ได้กำหนดให้ศาลต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมเหมือนอย่างบทบัญญัติมาตรา 151 แห่ง ป.วิ.พ. แม้ตามมาตรา 132 จะมีข้อความว่า ให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร ก็เป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมหรือไม่ มิใช่บังคับให้ศาลต้องสั่ง กรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่มีระเบียบให้ต้องคืนค่าธรรมเนียมเหมือนอย่างการคืนค่าธรรมเนียมตามมาตรา 151 ที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 606/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าขึ้นศาลอนาคตในคดีอุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่จำเป็นต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม หากคำขอต่อเนื่องจากคำขอหลัก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพิพาท และให้จำเลยชำระเงิน 630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพิพาท จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องของโจทก์ แม้อุทธรณ์ของจำเลยจะมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยกับค่าเสียหายแก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปด้วย แต่คำขอในส่วนนี้มิใช่เป็นคำขอให้ชำระค่าเสียหายหรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. ที่ให้คิดค่าขึ้นศาลหนึ่งร้อยบาทเป็นอีกส่วนหนึ่ง เพราะเป็นคำขอที่มีผลต่อเนื่องจากคำขอที่ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาทอันเป็นคำขอประธานเท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอนาคตเป็นอีกส่วนหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5005/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าขึ้นศาลอุทธรณ์ไม่ครบถ้วน ถือเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลจำหน่ายคดีชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องและคำให้การไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. ทั้งมิได้นั่งพิจารณาให้ครบองค์คณะไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี หากศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ ย่อมมีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไป ทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิด จำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าว การที่จำเลยอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท อย่างคดีมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จึงไม่ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มและจำเลยได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว แต่ไม่ยอมชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4889/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การทิ้งฟ้องฎีกาเนื่องจากไม่ชำระค่าขึ้นศาล ทำให้คดีขาดอายุความและศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 1,042,857.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยทั้งหมด จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาตามจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 200 บาท อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นการไม่ถูกต้อง เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่จากจำเลยให้ครบถ้วน และศาลชั้นต้นได้มีหมายแจ้งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
(คำสั่งศาลฎีกา)
(คำสั่งศาลฎีกา)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4889/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาภายในกำหนดถือเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตามกฎหมาย
จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไม่ถูกต้อง เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่จากจำเลยให้ครบถ้วน และศาลชั้นต้นได้มีหมายแจ้งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ยังขาดอยู่แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระกรณีถือได้ว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระ กรณีถือได้ว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด เป็นการทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าขึ้นศาลอุทธรณ์และการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องของศาลล่าง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้
คดีนี้ก่อนสืบพยานศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิ์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ได้ พิพากษายกฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 การที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว แม้จะมีคำขอท้ายอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีตามฟ้องก็ตาม แต่ถ้าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่แล้ว เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหกจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่เพียงใด เนื่องจากศาลชั้นต้นงดสืบพยาน กรณีจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป ดังนั้น การอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ในกรณีเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก.) ท้าย ป.วิ.พ. มิใช่เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้องแต่ปรากฏว่าในการยื่นอุทธรณ์โจทก์ทั้งสี่สำคัญผิดว่าจะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้อง จึงได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม ทั้งที่ในวันยื่นอุทธรณ์โจทก์ทั้งสี่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางต่อศาลแล้วบางส่วนจำนวน 19,000 บาท ต่อมามีการวางเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอีกสองครั้งรวมค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสี่ชำระมา 82,000 บาท ซึ่งเกินกว่าเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์กับเงินค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสี่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เสียอีก กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมฉบับดังกล่าวและมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ เพราะเหตุว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ชำระค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วน และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่อีกโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่วางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 และการที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ในเวลาต่อมา เป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยผิดหลงและไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ทั้งสี่มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิเรียกร้องในคดีบังคับคดีและการไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลซ้ำ
ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในชั้นบังคับคดี โดยอาศัยเหตุที่ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเนื่องจากผู้ร้องเป็นผู้ซื้อหรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษามาจากการขายทอดตลาดซึ่งดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ในคดีล้มละลาย กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องพิพาทกับจำเลยทั้งสองในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองพิพาทกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีโดยอาศัยเหตุดังกล่าวก็มิได้เรียกร้องสิ่งใดขึ้นใหม่หรือเกินไปกว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไว้แล้วในชั้นที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุให้ผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ในชั้นบังคับคดีหลังการล้มละลาย ผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลซ้ำ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในชั้นบังคับคดี โดยอาศัยเหตุที่ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เนื่องจากผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยตามคำพิพากษามาจากการขายซึ่งดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ในคดีล้มละลาย มิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องพิพาทกับจำเลยในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนอง ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่โดยอาศัยเหตุดังกล่าว มิได้เรียกร้องสิ่งใดขึ้นใหม่หรือเกินไปกว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไว้แล้วในชั้นที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการเข้าเป็นคู่ความของผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลาย โดยไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม
เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ส่วนที่ 4 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาด ต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตาม ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมีสิทธิร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้ หาจำต้องมีผู้ใดมาโต้แย้งสิทธิเสียก่อนหรือต้องร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามแต่อย่างใดไม่
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในชั้นบังคับคดีโดยอาศัยเหตุที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยตามคำพิพากษามาจากการขายในคดีล้มละลาย กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่มีผู้ร้องพิพาทกับจำเลยในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนอง และสัญญาค้ำประกัน ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองและบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่โดยอาศัยเหตุดังกล่าว มิได้เรียกร้องสิ่งใดขึ้นใหม่นอกเหนือไปจากสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อโจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไว้แล้วในชั้นที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีก
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในชั้นบังคับคดีโดยอาศัยเหตุที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยตามคำพิพากษามาจากการขายในคดีล้มละลาย กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่มีผู้ร้องพิพาทกับจำเลยในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนอง และสัญญาค้ำประกัน ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองและบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่โดยอาศัยเหตุดังกล่าว มิได้เรียกร้องสิ่งใดขึ้นใหม่นอกเหนือไปจากสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อโจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไว้แล้วในชั้นที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3005/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในชั้นบังคับคดีหลังการล้มละลาย: ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลซ้ำ
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยตามคำพิพากษาโดยซื้อจากการขายโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ในคดีล้มละลาย การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในชั้นบังคับคดี ก็โดยอาศัยเหตุที่ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องพิพาทกับจำเลยในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนอง ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกัน ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่โดยอาศัยเหตุดังกล่าว มิได้เรียกร้องสิ่งใดขึ้นใหม่หรือเกินไปกว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษา จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีก ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง