คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค่าทดแทน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 634 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8071/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การคำนวณดอกเบี้ยค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาและกฎหมาย
อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลทางหลวงแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร การเวนคืนที่ดินเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินจึงเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของจำเลย การกระทำของอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้แทนและตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย กรณีเช่นนี้ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ราคาที่ดินของโจทก์ขณะถูกเวนคืนมีราคาในท้องตลาดตารางวาละ 120,000 บาท โดยโจทก์เทียบเคียงกับราคาที่ดินที่ซื้อขายเพื่อสร้างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ติดถนนเพชรเกษม ห่างจากที่ดินของโจทก์ 300 ถึง 400 เมตร และที่ดินที่ขายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์ประมาณ 1,200 เมตร แต่การซื้อขายที่ดินดังกล่าว เป็นการซื้อขายที่ฝ่ายผู้ซื้อต้องการได้ที่ดินไปเพื่อใช้เป็นที่ทำการและเป็นการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นการซื้อขายที่มีวัตถุประสงค์พิเศษแตกต่างจากการซื้อขายของบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ขายสามารถเรียกราคาได้สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดได้ จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบโดยตรงเพื่อกำหนดเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ได้
ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามโฉนดเลขที่ 25506 เนื้อที่ 19.30 ตารางวา นั้น เดิมที่ดินแปลงนี้อยู่ติดถนนเพชรเกษมอยู่แล้ว หลังถูกเวนคืนอาคารพาณิชย์ของโจทก์ 2 ห้องที่ปลูกบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งโจทก์ทำการค้าโดยเปิดร้านอาหารนั้นยังใช้ประโยชน์ได้ ก่อนหน้าที่ดินของโจทก์แปลงนี้จะถูกเวนคืนลูกค้าของโจทก์ก็ต้องจอดรถที่หน้าร้านบนถนนเพชรเกษมอยู่แล้ว การที่ที่ดินของโจทก์แปลงนี้ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1.70 ตารางวา และต้องมาอยู่ใกล้มุมสี่แยกซึ่งจำเลยมีข้อกำหนดไม่ยอมเปิดทางเพื่อเข้าออกสู่ทางหลวงก็ตาม แต่หลังจากมีการขยายทางหลวงตามแนวเขตที่ดินที่ถูกเวนคืน ลูกค้าของโจทก์สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านของโจทก์ได้เช่นเดิม ประโยชน์จากการใช้ที่ดินแปลงนี้มิได้ลดลงไปจากเดิม แต่จากสภาพทำเลใหม่ที่มีการปรับปรุงทางแยกให้กว้างขึ้นทำให้ทัศนียภาพบริเวณดังกล่าวดีขึ้นกว่าเดิมและอาคารพาณิชย์ของโจทก์กลับดูเด่นเป็นสง่าเพราะด้านซ้ายมือเป็นหน้าต่างหรือใส่กระจกเพื่อรับแสงสว่างและอากาศบริสุทธิ์ได้ซึ่งต่างจากสภาพอาคารเดิมก่อนถูกเวนคืนที่ผนังอาคารด้านซ้ายมือเป็นผนังคอนกรีตทึบอยู่ติดอาคารพาณิชย์ของผู้อื่นตลอดแนวที่ดินของโจทก์แปลงนี้ที่เหลือจากการเวนคืนมิได้มีราคาลดลง ส่วนเรื่องเงินค่าทดแทนสำหรับอาคารส่วนที่เหลือซึ่งโจทก์อ้างว่ามีราคาลดลงนั้น อาคารของโจทก์ส่วนที่เหลือยังใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม อาคารส่วนที่เหลือของโจทก์จึงไม่ได้มีราคาลดลง การที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือให้โจทก์นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว
โจทก์ไม่จำต้องนำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารออมสินว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นแต่จะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราตามคำขอของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์โดยจะต้องนำสืบในเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในยอดเงินค่าตอบแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นรวมกันนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 11 กำหนดให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 25506 พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 10 จึงไม่มีวันต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 วันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ย่อมเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดให้ไปรับเงินค่าทดแทน ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.14 อันเป็นวันที่จำเลยต้องนำเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ไปวางตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนมาตรา 26 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การคำนวณค่าทดแทนที่เหมาะสม โดยอ้างอิงราคาซื้อขายจริงและประโยชน์ที่ได้รับจากที่ดินที่เหลือ
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 22 บัญญัติว่าในกรณีที่เจ้าของได้ที่ดินใดมาโดยมิได้ใช้อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือทำประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงถ้าหากมีการเวนคืนที่ดินนั้นภายในห้าปีนับแต่วันที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมาจะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินในขณะที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมา มาตรา 22 นี้ มีความหมายว่า หากเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะกำหนดให้ตามมาตรา 21 เป็นจำนวนสูงกว่าราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมาภายในห้าปีก่อนการเวนคืนที่ดินนั้น จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมา หากราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมาสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดตามมาตรา 21 แล้วก็ต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตามมาตรา 21 จะกำหนดให้เท่ากับราคาที่ดินที่ถูกผู้เวนคืนซื้อมาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยค่าทดแทนเวนคืน: ผู้รับเงินมีสิทธิได้รับอัตราสูงสุดในฐานะผู้ฝากทั่วไป แม้ผู้จ่ายเป็นส่วนราชการ
ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ฝากทั่วไปมิใช่อัตราที่คิดสำหรับส่วนราชการเป็นผู้ฝากและไม่ต้องคำนึงเลยว่าผู้จ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นจะเป็นส่วนราชการหรือไม่ และกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นเรื่องคำพิพากษาศาลฎีกามีข้อผิดพลาดเล็กน้อยอันอาจแก้ไขตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 แต่เป็นกรณีมีปัญหาการบังคับคดีเกี่ยวกับการคิดคำนวณดอกเบี้ยซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่ร้องขอต่อศาลให้วินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4999/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน-ค่าเสื่อมราคา-ดอกเบี้ย-ความรับผิดร่วมของผู้แทน
พ.ร.บ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้อย่างกว้างมุ่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมมีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 จึงต้องนำวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากถูกแนวเขตสายส่งไฟฟ้าอันมีราคาลดลงได้
พ.ร.บ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม กำหนดให้คิดดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้มารับเงินในวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 เวลา 10 นาฬิกา แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินค่าทดแทนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องวางหรือฝากเงินค่าทดแทนโดยพลันในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2538
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 และการจ่ายเงินค่าทดแทนเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบไฟฟ้าสายส่งของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่หาต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3774/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำเป็น: การกำหนดความกว้างที่เหมาะสมและค่าทดแทนความเสียหาย
ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงมีที่ดินของจำเลยและบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง เนื่องจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงที่ถูกปิดล้อมทิศเหนือติดถนนคอนกรีตซึ่งอยู่บนที่ดินของจำเลย และมีรั้วคอนกรีตสูงประมาณ 1.5 เมตร กั้นตลอดแนว การเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยดังกล่าวย่อมเหมาะสมที่สุด เพราะเพียงแต่ทุบรั่วคอนกรีตออกเท่านั้น ก็จะมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้สะดวกที่สุด หากจะเปิดทางจำเป็นด้านที่ติดที่ดินของ ส. ก็ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากหนังสือข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระหว่างจำเลยและ น. กับ ส. กำหนดไว้ว่า ทางภาระจำยอมที่จำเลยและ น. ยินยอมให้ ส. ใช้ผ่านนั้นให้ใช้เป็นทางผ่านเข้าที่ดินของ ส. เท่านั้น ด้านทิศตะวันออกที่ติดคลองเปรมประชากร มีชาวบ้านชุมชนแออัดปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินของกรมชลประทานตามแนวคลองติดรั้วคอนกรีตของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางออกสู่ทางสาธารณะตามแนวคลองได้ โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยได้
ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม กำหนดว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 6 เมตร จึงเกินความจำเป็นที่โจทก์จะต้องใช้ เพราะโจทก์ฟ้องขอเปิดทางจำเป็นเพื่อให้โจทก์ใช้ทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเท่านั้น ศาลฎีกาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นกว้าง 3.50 เมตร
ในกรณีทางจำเป็น โจทก์มีสิทธิใช้ทางได้โดยอำนาจของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 โดยไม่ต้องจดทะเบียน จำเลยจะฟ้องแย้งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมค่าภาษี กับค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนทางจำเป็นหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างผู้ประสบอันตรายในการฟ้องร้องเรียกค่าทดแทน แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 25 บัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนคืนจากสำนักงานประกันสังคมได้ หาใช่บทบัญญัติที่จะตัดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายตามมาตรา 49 แต่ประการใด เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลยตามมาตรา 49 และนายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายของโจทก์ต่อจำเลยตามมาตรา 48 แล้ว เมื่อจำเลยแจ้งมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ให้โจทก์ และนายจ้างของโจทก์ทราบแล้ว แม้นายจ้างของโจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 52 แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วอันเป็นการใช้สิทธิตามาตรา 52 ดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ตามมาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: ค่าทดแทนต้นปาล์ม, สิ่งปลูกสร้าง, ค่าเสียโอกาส และดอกเบี้ย
แม้โจทก์ยังมีสิทธิและโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นปาล์มน้ำมันที่ถูกเวนคืนอีกประมาณ 16 ปี แต่ผลผลิตและราคาของปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นผลิตผลทางเกษตรในอนาคตที่จะทำให้โจทก์ผู้ปลูกมีกำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้หลายประการ ทั้งจำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ไปแล้วก่อนที่จำเลยจะเข้าครอบครองต้นปาล์มน้ำมันของโจทก์ที่ถูกเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนความเสียหายจากการขาดรายได้จากต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดที่ถูกเวนคืนเป็นระยะเวลา 6 ปี ที่รัฐมนตรี ฯ วินิจฉัยเพิ่มให้แก่โจทก์ไปแล้วเช่นกัน โจทก์ย่อมนำเงินทั้งสองจำนวนนี้ไปลงทุนแสวงหากำไรอันเป็นส่วนที่สามารถชดเชยผลประโยชน์ที่โจทก์คาดหมายว่าจะได้ผลผลิตในอนาคตระยะเวลาประมาณ 16 ปี ของต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดของโจทก์ที่ถูกเวนคืน ดังนั้นความเสียหายที่โจทก์ได้รับอันเนื่องมาจากต้นปาล์มน้ำมันของโจทก์ถูกเวนคืนกับความเสียหายเนื่องจากที่โจทก์ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนรวมกันแล้วจึงไม่มากถึงจำนวนเงินที่โจทก์คำนวณกำไรคงที่จากผลผลิตของต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดของโจทก์ที่ถูกเวนคืนในระยะเวลา 16 ปี โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนส่วนนี้เพิ่มจากที่ฝ่ายจำเลยกำหนดไว้อีกเป็นจำนวนเท่ากับกำไรสุทธิจากผลผลิตต้นปาล์มน้ำมันต่อต้นต่อปีตามที่ฝ่ายจำเลยคำนวณไว้ของต้นปาล์มน้ำมันทั้งหมดที่ถูกเวนคืนในระยะเวลาอีก 2 ปี
โจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่ทางราชการ ทั้งไม่ใช่กรณีการเช่าตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 (3) และได้มีการกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่โจทก์ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ตามมาตรา 21 วรรคท้ายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนเป็นค่าสละที่ดินตามข้ออ้างของโจทก์แยกต่างหากอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6920/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บางส่วน: สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่เหลือใช้การไม่ได้ต้องใช้สิทธิภายในกรอบกฎหมาย
โจทก์เป็นเจ้าของสถานฝึกซ้อมไดร์กอล์ฟและอาคารแจ้งวัฒนะกอล์ฟไดร์วิ่งเร้น ซึ่งเป็นอาคารตึก 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง เสาโครงเหล็กจำนวน 52 ต้น และสนามกอล์ฟพื้นที่ 21,513 ตารางเมตร ต่อมาสนามไดร์กอล์ฟของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วนผ่ากลางสนามหญ้า โดยมีการรื้อถอนเสาโครงเหล็กบางส่วน โจทก์จึงเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ถูกเวนคืน เมื่อการเวนคืนดังกล่าวมีผลทำให้เสาโครงเหล็กตาข่ายและสนามหญ้าที่เหลือใช้การไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการเวนคืนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นแต่เพียงบางส่วน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 19 และโจทก์ฟ้องขอเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากตัวทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนอันเป็นกรณีตามมาตรา 19 มิใช่กรณีตามมาตรา 21 วรรคท้าย ซึ่งหมายถึงค่าเสียหายโดยตรงที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ดังนั้นหากโจทก์เห็นว่าสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลืออยู่ใช้การไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์และโจทก์ประสงค์จะให้เวนคืน โจทก์จะต้องร้องขอต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนให้เวนคืนส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์นั้นด้วย ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ยอมเวนคืนตามคำร้องของโจทก์ โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ฯ ภายใน 60 วัน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 19 เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนทรัพย์สินส่วนนี้ที่เหลือจากการเวนคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6336/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การกำหนดค่าทดแทนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยแยกค่าทดแทนเจ้าของและผู้เช่า
ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จ. ได้ให้ผู้อื่นเช่าที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนโดยจดทะเบียนการเช่าไว้มีกำหนด 30 ปี ดังนั้น คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างในสภาพที่มีภาระการเช่าให้แก่ จ. และกำหนดเงินค่าทดแทนในการเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากกัน แต่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้างให้แก่ จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์จำนวน 19,668,979.98 บาท เพียงผู้เดียว ย่อมเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 18 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ต้องกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของตามมาตรา 18 (2) และผู้เช่าเฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง โดยเหตุที่ต้องออกจากอาคารและที่ดินที่เช่าก่อนสัญญาเช่าระงับตามมาตรา 18 (3) แยกต่างหากจากกัน เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย แม้โจทก์จำเลยจะได้ตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกันแล้วตามมาตรา 10 ก็ตาม แต่เมื่อเป็นผลมาจากการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวได้ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 มาตรา 247 อย่างไรก็ตามการที่ศาลฎีกาจะพิพากษากลับให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่เพื่อให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ใหม่ตามขั้นตอนของกฎหมายไม่อยู่ในวิสัยจะดำเนินการได้ เพราะอายุการใช้พระราชกฤษฎีกาได้สิ้นสุดลงแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงควรให้ศาลชั้นต้นได้กำหนดให้คู่ความนำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนของอาคารพิพาทตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงชู้ แม้แยกกันอยู่และมีคดีหย่า
ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและอุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้แม้โจทก์กับสามีจะมิได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแล้วและมีคดีฟ้องหย่ากันก่อนที่จะเกิดเหตุตามฟ้อง
of 64