คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค่าปรับ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 401 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4278/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ การลงโทษ และการแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการบังคับค่าปรับ
ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 50 บาท แต่ ป.อ. มาตรา 30 บัญญัติว่า ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน ฉะนั้น การบังคับค่าปรับจึงกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 จึงเป็นการไม่ถูกต้อง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้าง การผ่อนปรนค่าปรับ และการมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายจากความล่าช้า
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 138 ที่โจทก์อ้างเป็นเหตุผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาระบุว่า หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น ร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเป็นเงิน 370,000 บาท สัญญากำหนดค่าปรับตามสัญญาไว้วันละ 3,700 บาท จึงเท่ากับค่าปรับจำนวน 100 วัน เท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน เพราะจำเลยที่ 1 เคยยินยอมให้ปรับได้มาก่อนแล้ว ทั้งที่จำเลยที่ 1 ทิ้งงานไปเนิ่นนานแล้วมิใช่จำเลยที่ 1 กำลังดำเนินการก่อสร้างแต่ไม่อาจแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา จึงไม่มีเหตุให้โจทก์ต้องผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน การที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเสียภายในเวลาอันสมควร แต่ปล่อยปละละเลยไว้จนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควรเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควร เพราะโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินที่มีข้อตกลงค่าปรับ หากไม่โอนกรรมสิทธิ์ ถือเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย
โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันมาก่อน โดยกำหนดวันจดทะเบียนโอนที่ดินกันไว้ ต่อมาเมื่อโจทก์ชำระราคาให้จำเลยครบถ้วนแล้วจึงได้ทำสัญญาอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งแม้จะระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขาย แต่ก็มีข้อตกลงกำหนดไว้ในสัญญาว่า หากถึงกำหนดจำเลยไม่โอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยยอมให้โจทก์ปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินที่ขาย แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินซื้อขายกันในภายหลังเช่นเดียวกับที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำต่อเนื่องกันมา แม้จำเลยจะส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายให้โจทก์แล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมีเจตจนาที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่ซื้อขายกันให้เสร็จเด็ดขาดต่อไปสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย หาใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดซึ่งจะตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575-8576/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และอำนาจศาลฎีกาในการแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับของกลาง
การที่ศาลจะมีคำสั่งให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30/1 บัญญัติให้ผู้ต้องโทษซึ่งไม่มีเงินชำระค่าปรับต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดี และเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นเป็นการสมควร ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดี จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้
จำเลยกระทำละเมิดสิทธิ์ของผู้เสียหาย โดยนำวิดีโอซีดีภาพยนตร์ (วีซีดี) และดิจิตอลวิดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดี) ที่บันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์ของกลางซึ่งเป็นของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ของกลางดังกล่าวเป็นสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องตกเป็นของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาริบของกลางจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5558/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับวันกักขังแทนค่าปรับ: เริ่มนับจากวันออกหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา แม้ผู้ต้องโทษถูกคุมขังก่อนพิพากษา
ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยและจำเลยถูกคุมขังอยู่ตั้งแต่ก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษา การเริ่มนับวันกักขังตามหมายกักขังคดีถึงที่สุดดังกล่าวจึงต้องนับย้อนให้ถึงวันที่ศาลชั้นต้นออกหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1663/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับในสัญญาที่สูงเกินส่วน ศาลลดลงได้ และพิจารณาความล่าช้าในการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
ค่าปรับหรือเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยขอผ่อนผันการทำงานอีกหลายครั้งแต่จำเลยก็ทำงานไม่แล้วเสร็จ พฤติการณ์ของจำเลยอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ โจทก์ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจำเลยไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จได้ น่าจะต้องละทิ้งงานและเกิดความเสียหาย โจทก์จึงควรใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควร แต่โจทก์กลับละเลยปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเกือบ 1 ปี จึงบอกเลิกสัญญา ความเสียหายจึงเกิดจากความล่าช้าของโจทก์ที่ไม่บอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควรอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง และเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ปรับจำเลยวันละ 5,000 บาท จึงนับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน: ความรับผิดทางสัญญาและค่าปรับจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาแต่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตกลงว่าจำเลยทั้งสองต้องผูกพันการขายน้ำมันเชื้อเพลิงต่อโจทก์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 70,000 ลิตร ถ้าขายต่ำกว่านั้นต้องเสียค่าปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 25 สตางค์ต่อลิตร หลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองประพฤติผิดสัญญาคือสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ถึงยอดรับรองที่ตกลงกันไว้ และปลายปี 2541 จำเลยทั้งสองไม่ได้สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่ยังเปิดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรื่อยมาโดยสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ค้ารายอื่นมาจำหน่ายแทน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่าจำเลยทั้งสองยังประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็มี ธ. ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดมาเบิกความยืนยันว่า การสำรองน้ำมันของโจทก์จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละราย โดยโจทก์ต้องสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งจากในและต่างประเทศมาสำรองไว้ ดังนั้น หากจำเลยทั้งสองสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ถึงยอดที่ตกลงไว้โจทก์จะได้รับความเสียหาย ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมทำสัญญาว่าถ้าสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ต่ำกว่า 70,000 ลิตรต่อเดือน ยอมเสียค่าปรับ 25 สตางค์ต่อลิตร แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่าถ้าจำเลยที่ 1 สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าฐานผิดสัญญาส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 739/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับสัญญาประกันตัว, การลดค่าปรับ, ค่าฤชาธรรมเนียม, และดอกเบี้ยผิดนัด – ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นเงิน540,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดค่าปรับตามสัญญาให้ปรับจำเลยเป็นเงิน200,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ขอลดค่าปรับลงอีกโดยอุทธรณ์ว่าค่าปรับไม่ควรเกินสัญญาละ 50,000 บาท รวมสองสัญญาควรเป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยมิได้อุทธรณ์ขอให้งดหรือยกเว้นค่าปรับแก่จำเลย ดังนี้ ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกเว้นค่าปรับจึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำนวนเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินค่าปรับที่กำหนดจำนวนแน่นอนตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาโจทก์ไม่อาจฟ้องโดยกำหนดทุนทรัพย์ให้ต่ำกว่าที่ข้อสัญญาระบุไว้ได้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องตามทุนทรัพย์ที่กำหนดในศาลชั้นต้นโดยสุจริต เมื่อศาลล่างทั้งสองได้ใช้ดุลพินิจลดค่าปรับตามสัญญาอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยเช่นนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เต็มตามที่โจทก์ฟ้องจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
โจทก์แต่งตั้งพนักงานอัยการให้เป็นทนายความแก้ต่างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ศาลมีอำนาจที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีเสียค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 161
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3722/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณค่าปรับ พ.ร.บ.ศุลกากร: ห้ามรวมภาษีมูลค่าเพิ่มในการคำนวณโทษปรับ
ความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ มีระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากร เข้าด้วยแล้ว กฎหมายมิได้กำหนดให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีตามกฎหมายอื่นมารวมคำนวณด้วย คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์และโซ่ยนต์ของกลางที่จำเลยทั้งสามร่วมกันรับไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นนำพาหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรมีราคา 7,000 บาท ค่าภาษีอากรขาเข้ากับภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเป็นเงิน 2,737 บาท เมื่อหักภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของราคาของดังกล่าวจำนวน 490 บาท ออกแล้ว คงเป็นราคาของและอากรขาเข้า รวมเป็นเงิน 9,247 บาท โทษปรับสี่เท่าเป็นจำนวน 36,988 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับจำเลยทั้งสาม ในความผิดดังกล่าวก่อนลดโทษรวมเป็นเงิน 38,948 บาท โดยนำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมคำนวณค่าปรับด้วยนั้นเกินกว่าโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
จำเลยทั้งสามถูกปรับรวมกันตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ เป็นเงิน 18,494 บาท หากจำเลย ไม่ชำระค่าปรับและจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ ต้องกักขังจำเลยตามส่วนคนละเท่า ๆ กัน จึงกักขังจำเลยได้คนละ 30 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิเรียกร้องค่าปรับจากสัญญาจ้างก่อสร้างที่ล่าช้า ศาลพิจารณาความเหมาะสมของการบอกเลิกสัญญาและปรับลดค่าปรับ
จำเลยรับจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร เมื่อจำเลยส่งมอบงานงวดที่ 6 ล่าช้า โจทก์แจ้งสงวนสิทธิขอปรับตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง จำเลยไม่ยินยอม คู่สัญญาจึงทำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา โดยอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ขยายเวลาปฏิบัติตามสัญญาออกไปอีก 120 วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุด จำเลยมิได้ทำงานงวดที่ 7 ถึงที่ 10 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยขอคิดค่าปรับจากจำเลยในช่วงเวลาที่ผิดสัญญา แต่แม้ตามสัญญาจะมีการกำหนดให้คิดเบี้ยปรับไว้ แต่เบี้ยปรับดังกล่าวก็เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอาจจะสูงหรือต่ำกว่าค่าเสียหายแท้จริงก็ได้ ซึ่งต้องปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ที่ให้ศาลพิจารณาลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนลงเป็นจำนวนที่พอสมควรตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่เหมาะสมโดยมิได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยในเวลาอันสมควร การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เอาวันหลังจากอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยและจำเลยทำหนังสือข้อตกลงขยายระยะเวลาปฏิบัติงานตามสัญญา 1 เดือนเศษ โดยการขยายระยะเวลาดังกล่าวไม่มีผลให้ปฏิบัติได้จริง เพราะมีคำวินิจฉัยเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นแล้ว คงมีผลเพียงเพื่อลดวันที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับและจำเลยไม่อาจดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้อีก เป็นวันเลิกสัญญา เป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องเป็นธรรมแล้ว
of 41