คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค่าสูญเสีย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าสูญเสียจากสัญญาเช่าซื้อที่ไม่คืนทรัพย์ ไม่ใช่การชำระราคา จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และศาลมีอำนาจปรับลดเบี้ยปรับได้
เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ได้เลิกกันแล้ว จำนวนเงินค่าสูญเสียตามสัญญาเช่าซื้ออันเนื่องจากการไม่คืนทรัพย์ที่เช่าซื้อที่ลูกหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้มิใช่เป็นการชำระราคาค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดชำระแต่ละยอด อันจะก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มา
ค่าปรับที่เกิดจากข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อันเนื่องจากลูกหนี้ชำระหนี้ล่าช้า โดยกำหนดให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับเงินค่าปรับเป็นรายวัน เป็นข้อตกลงที่กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าวิธีหนึ่ง อันมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจปรับลดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และมาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล: การปรับปรุงกำไรสุทธิ, การหักค่าสูญเสียน้ำหนักสินค้า, และการพิจารณาคำพิพากษาศาลในคดีก่อนหน้า
ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้หักได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาดังนั้น ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี2518 จึงต้องคิดหักตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2509 อันเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว แต่รายการหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินของโจทก์นั้น โจทก์หาได้ใช้หลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ แต่โจทก์คิดหักตามวิธีการทางบัญชีของโจทก์ซึ่งเป็นการคิดหักโดยไม่มีหลักเกณฑ์ เป็นเหตุให้เมื่อรวมทุกรายการแล้วมีค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินมากกว่าการคิดตามหลักเกณฑ์ในพระราชกฤษฎีกา ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินที่โจทก์คิดหักเกินไปเช่นนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2509 มาตรา 5 ยอมให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามวิธีการทางบัญชีซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้อยู่ก็ต่อเมื่อการหักตามวิธีการทางบัญชีที่ใช้อยู่นั้น หักต่ำกว่าอัตราตามพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่คิดหักตามวิธีการทางบัญชีของโจทก์เกินกว่าการคิดหักตามหลักเกณฑ์ในพระราชกฤษฎีกา ก็จะต้องคิดหักตามพระราชกฤษฎีกาจะคิดหักตามวิธีการทางบัญชีของโจทก์ไม่ได้ โจทก์เป็นนิติบุคคล กฎหมายกำหนดให้ทำบัญชีและเก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ที่ลงบัญชีไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ แต่โจทก์ใช้จ่ายเงินไปโดยไม่มีหลักฐานประกอบหรืออ้างอิง ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์ผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65ตรี (18) การคิดคำนวณการสูญเสียน้ำหนักมันสำปะหลังก่อนนำมาผลิตจนถึงขั้นผลิตเป็นมันอัดเม็ดแล้วส่งถึงมือผู้ซื้อในต่างประเทศจะมีการสูญเสียน้ำหนักไปตามธรรมชาติ เช่น สภาวะอากาศขณะทำการผลิตและขนส่ง ระยะเวลาการเก็บรักษาก่อนผลิตหรือหลังผลิตตลอดจนฝุ่นและมันอัดเม็ดที่ปลิวฟุ้งหรือตกหล่นในทะเลระหว่างการขนส่งด้วยจึงไม่อาจกำหนดกฎเกณฑ์ความสูญเสียของน้ำหนักให้แน่นอนหรือตายตัวได้ จะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป คดีนี้จำเลยยอมให้โจทก์หักความสูญเสียของน้ำหนักตั้งแต่ก่อนผลิตจนถึงขั้นผลิตเป็นมันอัดเม็ดแล้ว แต่ไม่ยอมหักความสูญเสียของน้ำหนักมันอัดเม็ดระหว่างการขนส่งจากประเทศไทยไปจนถึงมือผู้ซื้อในต่างประเทศซึ่งเป็นความสูญเสียของน้ำหนักมันอัดเม็ดตามธรรมดาและโดยธรรมชาติย่อมจะเกิดขึ้นให้แก่โจทก์ด้วยนั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 39ประกอบด้วยมาตรา 65 เพราะโจทก์มิได้รับเงินจากผู้ซื้อตามน้ำหนักของมันอัดเม็ดที่สูญเสียไปดังกล่าว แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลใช้ดุลพินิจงดหรือลดเงินเพิ่มด้วยก็ตาม แต่ประเด็นข้อนี้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้ในชั้นชี้สองสถานโจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน ถือได้ว่าโจทก์สละประเด็นดังกล่าวแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงมิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คดีก่อนเป็นคดีระหว่างโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2515 ถึง 2516โจทก์ไม่มีกำไรสุทธิอันจะต้องเสียภาษีเงินได้ คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงเกี่ยวกับคดีนี้และย่อมมีผลผูกพันจำเลยด้วย ดังนั้น การที่จำเลยคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2518 โดยตั้งฐานคำนวณว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2515 และ 2516 โจทก์มีกำไรสุทธิอันจะต้องเสียภาษีเงินได้ จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์และจำเลยต่างฎีกา โดยโจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย เป็นจำนวนเงิน1,296,949.36 บาท โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาในจำนวนทุนทรัพย์โจทก์ฎีกา มิใช่ต้องถือทุนทรัพย์ตามที่จำเลยฎีกา