พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6052/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อพิพาทสัญญาจ้างก่อสร้าง: การบอกเลิกสัญญา, ค่าเสียหาย, และการชำระราคา
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงงานที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1ก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตโดยมีสัญญาว่าจ้างพร้อมทั้งรายละเอียดข้อกำหนดการก่อสร้างคลองและรูปคลอง ซึ่งถือว่าแบบรูปและรายละเอียดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่คู่สัญญาถือไว้คนละฉบับ โจทก์ได้แนบสัญญาว่าจ้างมาท้ายฟ้องด้วย โดยเฉพาะโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยตรงว่า จำเลยที่ 1ผิดสัญญาในงวดที่ 3 และที่ 4 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วและได้ว่าจ้างผู้อื่นทำงานส่วนที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าคำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 3 ย่อมทราบดีถึงขนาดของคลองส่งน้ำที่จำเลยที่ 1 รับจ้างก่อสร้าง โจทก์หาต้องบรรยายขนาด กว้าง ยาว ลึกของคลองส่งน้ำมาด้วยไม่ ส่วนงานที่โจทก์ว่าจ้าง พ. ให้ทำงานต่อจากจำเลยที่ 1 มีอะไรบ้างนั้นเป็นรายละเอียดที่นำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม แม้จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบและโจทก์ได้รับมอบงานงวดที่ 2 หลังจากสิ้นสุดการต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 แล้วก็ตามแต่ในการรับมอบงานงวดที่ 2 นั้น เนื่องจากล่วงเลยกำหนดเวลาส่งมอบงานตามที่ขอต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 โจทก์ได้สงวนสิทธิในการคิดเบี้ยปรับและได้หักเบี้ยปรับจากสินจ้างงวดที่ 2 ที่จ่ายให้จำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากนี้หลังจากโจทก์ไม่รับมอบงานงวดที่ 3 และที่ 4 เพราะงานไม่เสร็จตามที่จำเลยที่ 1 ขอส่งมอบแล้ว โจทก์ก็ได้มีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอีก แสดงว่าโจทก์ยังมีเจตนายึดถือระยะเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญอยู่ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 3 และที่ 4 ไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา จำเลยที่ 1จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามสัญญาการที่โจทก์มีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำงานว่า ถ้าไม่ทำงานภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ โจทก์จะบอกเลิกสัญญานั้น เป็นการให้โอกาส จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยังไม่บอกเลิกสัญญาทันทีเท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใดโดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องและทิ้งงานไป โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น สัญญาว่าจ้างได้กำหนดว่าจำเลยที่ 1 ต้องเสียเบี้ยปรับหากไม่ทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาเท่านั้น หาใช่กำหนดวันที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ไม่ ดังนั้น วันผิดนัดชำระเบี้ยปรับที่โจทก์จะพึงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดทวงถาม โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดน้อยกว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4 จึงควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามส่วนที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเท่ากับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4004/2534 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างผิดนัด: ค่าเสียหายคือส่วนต่างราคาจ้างใหม่, ไม่หักมูลค่างานค้าง
สัญญาจ้างมีข้อความว่า ถ้าโจทก์ผู้รับจ้างไม่มีทางจะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาได้ และหากเกิดความเสียหายใด ๆ จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ทำงานงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ให้แล้วเสร็จ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องประมูลว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด จ.ทำงานต่อจากที่โจทก์ทำค้างไว้ในราคา1,800,000 บาท แพงกว่าราคาเดิมที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ เงินจำนวน 375,000 บาทที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น จึงเป็นค่าเสียหายจำนวนน้อยที่สุดที่จำเลยที่ 1 ได้รับโดยตรงจากการปฏิบัติผิดสัญญาของโจทก์ โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามข้อสัญญาดังกล่าว และเงินจำนวน1,800,000 บาท ซึ่งเป็นค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 จ่ายไปเพื่อทำงานต่อจากที่โจทก์ทำค้างไว้ให้เสร็จตามสัญญาเช่นนี้ ย่อมไม่อาจนำค่าของงานที่โจทก์ทำค้างไว้มาหักจากค่าเสียหายหรือค่าจ้างที่จำเลยที่ 1ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นได้
จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ทำงานให้แล้วเสร็จ อายุความใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 จะนำอายุความเรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับการชำรุดบกพร่องของการที่ทำ ตามมาตรา 601 มาปรับไม่ได้
จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ทำงานให้แล้วเสร็จ อายุความใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 จะนำอายุความเรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับการชำรุดบกพร่องของการที่ทำ ตามมาตรา 601 มาปรับไม่ได้