คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
งานที่ปรากฏก่อน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4783/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตร: การประดิษฐ์ที่ไม่ใหม่ การพิจารณาความแตกต่างจากงานที่ปรากฏก่อนหน้า
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 โดยกล่าวอ้างว่าการประดิษฐ์ที่มีส่วนประกอบของกวาวเครือมีการเปิดเผยสาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2474 ก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จึงไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ นอกจากนี้การประดิษฐ์ดังกล่าวยังไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น เพราะองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือเป็นส่วนประกอบพื้นๆ ธรรมดาที่บุคคลอื่นและโจทก์ใช้หรือผลิตกันอยู่ทั่วไป ทั้งไม่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรืออื่นๆ ได้ คงถือเป็นเพียงการผสมสมุนไพร จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ คำฟ้องดังกล่าวเป็นที่เข้าใจแล้วว่า สิทธิบัตรพิพาทไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใด การที่โจทก์ไม่ได้ระบุว่าเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ดังกล่าวมีชื่อว่าอะไร เปิดเผยสาระสำคัญอย่างไร เผยแพร่ที่ไหนอย่างไร บุคคลทั่วไปรวมทั้งโจทก์นำสมุนไพรกวาวเครือไปผสมกับสารอะไรในอัตราส่วนเท่าใด มีขั้นตอนการผลิตอย่างไร ล้วนเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
โจทก์ประกอบธุรกิจจำหน่ายและผลิตยาและเครื่องสำอางซึ่งผลิตจากสมุนไพรกวาวเครือ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ประกาศในหนังสือพิมพ์ให้ผู้ผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย และเสนอขายผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือคล้ายกันกับองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือของจำเลยที่ 1 ยุติการกระทำและเรียกคืนผลิตภัณฑ์จากท้องตลาด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกวาวเครือเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งหากสิทธิบัตรพิพาทมีผลสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ย่อมจะมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวและมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นรวมทั้งโจทก์ในการประกอบการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือได้ ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากข้อถือสิทธิที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรพิพาทเป็นสำคัญ โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง โดยโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องในรายละเอียดว่า โจทก์ผลิตและจำหน่ายหรือมีไว้ซึ่งสินค้าดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด
ตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2474 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ทั้งถือว่าได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ปรากฏในตำราดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วยเพราะประชาชนทั่วไปย่อมสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เปิดเผยดังกล่าวได้โดยชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีการเผยแพร่ และจำนวนของเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อเทียบเคียงกับจำนวนประชากรของประเทศ
สาระสำคัญของสิทธิบัตรพิพาทอยู่ที่ส่วนผสมของสมุนไพรจากกวาวเครือกับส่วนประกอบจากน้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์ส่วนประกอบอื่นๆ นอกจากนี้อาจจะมีอยู่ด้วยหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ได้ เมื่อตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรที่มีการพิมพ์เผยแพร่มาก่อนได้กล่าวถึงการนำกวาวเครือมาผสมกับนมสัตว์ ปั้นเป็นลูกกลอนใช้รับประทาน ซึ่งหากพิจารณาว่าใช้อัตราส่วนผสมอย่างละร้อยละ 50 ไม่ว่าจะมีสารประกอบอื่นในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนผสมดังกล่าวหรือไม่ ก็จะมีลักษณะเดียวกับข้อถือสิทธิของการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทนั่นเอง การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทจึงไม่อาจนับเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพราะมีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ก่อนแล้ว ทั้งลำพังการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ก็ไม่ได้ส่งผลให้การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น