คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
งานสร้างสรรค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3240/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์: สัญญาจ้างไม่สมบูรณ์ ผู้รับจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการโฆษณา
งานสร้างสรรค์ที่ผู้รับจ้างทำขึ้นมาจะตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างก็ต่อเมื่อการว่าจ้างนั้นมีผลสมบูรณ์ผูกพันกันโดยชอบ โจทก์สร้างสรรค์งานภาพเขียนขึ้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่ามีเหตุมาจากการที่จำเลยมาติดต่อกับโจทก์เพื่อให้โจทก์จัดทำป้ายโฆษณาการคล้องช้างในงานอยุธยามรดกโลกก็ตาม แต่ในชั้นแรกโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องราคาค่าจ้างรวมทั้งรายละเอียดของภาพโฆษณา ต่อมาโจทก์ได้เขียนภาพต้นแบบขึ้นนำไปให้จำเลยพิจารณาจำเลยก็ขอให้ปรับปรุงรายละเอียดบางประการ จากนั้นโจทก์จึงเสนอราคาค่าจ้างแต่จำเลยเห็นว่าแพงไปและตกลงกันไม่ได้ จำเลยจึงไม่ว่าจ้างโจทก์ทำป้ายโฆษณา ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยยังตกลงกันในเรื่องสาระสำคัญของสัญญาไม่ได้ การว่าจ้างหรือสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เกิดขึ้น จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ งานสร้างสรรค์ภาพ "พิธีคล้องช้าง" ที่โจทก์ทำขึ้นจึงหาตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ แต่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงผู้เดียว
ได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการกระทำเพื่อโฆษณาให้มีผู้มาเที่ยวงานอยุธยามรดกโลก แม้จำเลยจะได้ผลประโยชน์จากการที่มีผู้มาเที่ยวงานชมพิธีการคล้องช้างของจำเลยก็ตาม จำเลยก็มิได้นำภาพการคล้องช้างในป้ายโฆษณาที่จำเลยได้ดำเนินการจัดทำขึ้นไปทำการค้าขายหากำไรโดยตรง การกระทำของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง จึงปรับบทลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 69 วรรคแรก เท่านั้น
แม้ภาพการคล้องช้างที่จำเลยดำเนินการจัดทำเป็นป้ายโฆษณานำไปติดตั้งโฆษณานั้นจะมีถึง 4 ป้าย ด้วยกัน แต่ในการจัดทำป้ายโฆษณาทั้ง 4 ป้าย และนำไปติดตั้งโฆษณา 4 แห่ง นั้น จำเลยมีวัตถุประสงค์เดียวคือ เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานอยุธยามรดกโลก จึงเป็นกรณีมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยเจตนาเดียวเท่านั้น เพียงแต่ได้มีการทำป้ายโฆษณาเพื่อนำออกโฆษณาเผยแพร่หลายแผ่นป้ายด้วยกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ: การคุ้มครองงานสร้างสรรค์และขอบเขตการละเมิดลิขสิทธิ์โดยทางอ้อม
ในคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 42 นั้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแต่เพียงว่าประเทศไทยและฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษต้องให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆแห่งอนุสัญญาดังกล่าว โดยไม่มีคำว่า "กฎหมาย" อยู่หน้าประเทศก็ตาม การกล่าวว่า ทั้งสองประเทศต่างให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวก็มีความหมายว่ากฎหมายของทั้งสองประเทศได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นแล้ว เพราะทุกประเทศต้องปกครองโดยกฎหมาย ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ชอบแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าภาพยนตร์วีดีโอที่จำเลยนำออกให้เช่าเสนอให้เช่านั้นเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงหาเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยทางอ้อมตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์มาตรา 27 ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ต้องเกิดจากความคิดริเริ่มของตนเอง การลอกเลียนแบบจากธรรมชาติหรือผู้อื่นไม่ถือเป็นงานสร้างสรรค์
พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ ขึ้น และมาตรา 4ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ผู้สร้างสรรค์" ไว้ว่า หมายถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง จากคำจำกัดความดังกล่าวผู้ที่จะได้ชื่อ ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทำหรือก่อให้เกิดงานขึ้นจากความคิดริเริ่มด้วยตนเอง มิใช่เป็นการลอกเลียนแบบจากของจริงจากธรรมชาติ หรือลอกเลียนแบบจากงานผู้อื่น ทั้งที่ปรากฏเป็นรูปร่างหรือภาพถ่าย งานที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้น เป็นงานที่เกิดจากการถอด รูปแบบมาจากของจริงตามธรรมชาติบ้าง ลอกเลียนแบบจากความคิดริเริ่มของผู้อื่นที่ได้สร้างสรรค์ ไว้แล้วบ้าง และลอกเลียนแบบจากนิตยสารอื่น ๆ บ้าง งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง โจทก์จึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ ตามความหมายแห่งมาตรา 4ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2530 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาลามกไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้ จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลาง 1 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชายบางตอนอันเป็นภาพลามก ซึ่งผู้ใดทำหรือมีไว้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่งานสร้างสรรค์ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. 2521 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้อง
วีดีโอเทปของกลาง 2 ที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลในระหว่างการพิจารณา ไม่ใช่ของกลางที่พนักงานสอบสวนได้ยึดไว้ในคดี และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ แม้วีดีโอเทปดังกล่าวจะมีภาพลามกรวมอยู่ด้วยอย่างเดียวกันกับวีดีโอเทปของกลาง 1 ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยไม่ริบวีดีโอเทปดังกล่าวได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ในงานที่มีเนื้อหาลามก ไม่สามารถอ้างสิทธิได้ และศาลมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้
ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้ จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตน สร้างสรรค์ โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลาง 1 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชาย บาง ตอนอันเป็นภาพลามก ซึ่งผู้ใดทำหรือมีไว้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 287 งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่งานสร้างสรรค์ ตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้อง วีดีโอเทปของกลาง 2 ที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลในระหว่างการพิจารณาไม่ใช่ของกลางที่พนักงานสอบสวนได้ยึดไว้ในคดี และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ แม้วีดีโอเทปดังกล่าวจะมีภาพลามกรวมอยู่ด้วยอย่างเดียวกันกับวีดีโอเทปของกลาง 1 ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานที่ผิดกฎหมาย: งานสร้างสรรค์ที่มีภาพลามก ไม่สามารถอ้างลิขสิทธิ์ได้ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้ จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลาง 1ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชายบางตอนอันเป็นภาพลามก ซึ่งผู้ใดทำหรือมีไว้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่งานสร้างสรรค์ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. 2521 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้อง
วีดีโอเทปของกลาง 2 ที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลในระหว่างการพิจารณา ไม่ใช่ของกลางที่พนักงานสอบสวนได้ยึดไว้ในคดี และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ แม้วีดีโอเทปดังกล่าวจะมีภาพลามกรวมอยู่ด้วยอย่างเดียวกันกับวีดีโอเทปของกลาง 1 ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยไม่ริบวีดีโอเทปดังกล่าวได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14580/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ลายผ้า: งานสร้างสรรค์ต้องมีริเริ่มใช้ความสามารถ ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนลายเดิม
งานที่จะมีลิขสิทธิ์ได้นั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ซึ่งผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของตนเองโดยใช้ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะ จนทำให้งานนั้นสำเร็จจนถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์โดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ลายผ้าของโจทก์ร่วมเป็นเพียงการนำลายโบราณมาปรับเปลี่ยนขนาดและเพิ่มเติมรายละเอียดของลายเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ได้จำนวนลายที่สมบูรณ์บนผ้าและเหมาะกับเครื่องทอผ้า โดยยังคงเค้าโครงหลักของลายโบราณ เป็นเพียงงานคลี่คลายลายโบราณ แต่ไม่ได้ใช้ความสามารถและจินตนาการของตนผูกลายเพิ่มขึ้นมาใหม่ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ร่วมเพียงแต่นำรูปแบบลายผ้ามาเลียนหรือประกอบเข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมลายโบราณในส่วนของรายละเอียดเพียงเล็กน้อยมีลักษณะเป็นการคัดลอกหรือเลียนแบบหรือทำซ้ำซึ่งลวดลายของผ้าที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วเท่านั้น ไม่ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ งานดังกล่าวจึงไม่ใช่งานดัดแปลงงานที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปประยุกต์อันจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4968/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดัดแปลงงานลิขสิทธิ์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ การพิมพ์ผิดพลาดไม่ถือเป็นการดัดแปลง
การกระทำอันเป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ต้องเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คำว่า ดัดแปลง หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ส่วนคำว่า ทำซ้ำ หมายความรวมถึงการคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ดังนั้น การกระทำที่เป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จึงเป็นการคัดลอกงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ข้อแตกต่างระหว่างหนังสือเล่มจริงกับเล่มที่จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์ขึ้นเกิดจากการพิมพ์ที่ไม่เรียบร้อย พิมพ์ผิดพลาด พิมพ์ซ้ำ หรือจัดหน้ากระดาษผิด มิใช่เป็นการคัดลอกโดยเปลี่ยนรูปใหม่ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญแต่อย่างใด ไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในหนังสือของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11151/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างออกแบบ: งานออกแบบต้องสร้างสรรค์ใหม่ ห้ามลอกเลียนงานผู้อื่น มิฉะนั้นถือเป็นการผิดสัญญา
จำเลยเป็นผู้มีอาชีพในการรับจ้างออกแบบและเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินธุรกิจของโจทก์ ย่อมทราบดีเกี่ยวกับธุรกิจการค้าขายข้าวของโจทก์ โดยรูปประดิษฐ์รวงข้าวที่จำเลยออกแบบเพื่อใช้กับเครื่องเขียนสำนักงาน ชุดเครื่องแบบ หัวจดหมาย ซองจดหมาย นามบัตร อันเป็นการนำไปใช้ในการประกอบกิจการการค้าขายข้าวของโจทก์ซึ่งควรเป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์เพื่อให้โจทก์ใช้โดยเฉพาะและไม่เหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นที่มีแต่ก่อให้เกิดความสับสนได้ ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะใช้เป็นเพียงสัญลักษณ์ธรรมดาที่ไม่ถึงขนาดประสงค์จะใช้เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการก็ตาม สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยออกแบบรูปประดิษฐ์ให้โจทก์ เป็นสัญญาการออกแบบเพื่อใช้ในทางการค้าขายข้าว รูปประดิษฐ์รวงข้าวที่จำเลยออกแบบให้แก่โจทก์ตามสัญญาจึงต้องเป็นรูปประดิษฐ์ที่จำเลยสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่นำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ได้ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา จึงต้องไม่เป็นการลอกเลียนงานหรือทำซ้ำงานของบุคคลอื่น ในอันที่จะทำให้โจทก์ถูกผู้อื่นฟ้องหรือเสียหายในทางการค้า
การที่จำเลยไม่ได้ออกแบบรูปประดิษฐ์รวงข้าวพิพาทด้วยตนเองแต่กลับเพียงดัดแปลงแบบของบุคคลอื่นมาจากเว็บไซต์ซึ่งเหมือนกับรูปประดิษฐ์รวงข้าวในเว็บไซต์ของบุคคลอื่นซึ่งใช้รูปประดิษฐ์กับสินค้าข้าวสารเช่นเดียวกับโจทก์ อันอาจทำให้โจทก์ถูกบุคคลฟ้องร้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปประดิษฐ์รวงข้าว หรือละเมิดเครื่องหมายการค้ารูปประดิษฐ์รวงข้าวอันจะทำให้โจทก์เสียหายทางการค้าได้ จึงเป็นการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาในส่วนนี้ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 973/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานวรรณกรรม: การคุ้มครองงานสร้างสรรค์ที่ใช้ความรู้ความสามารถ แต่ไม่รวมความหมายตามกฎหมายหรือที่เข้าใจทั่วไป
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ผู้สร้างสรรค์ คือ ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ดังกล่าวต้องเป็นการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้นงานที่จะมีลิขสิทธิ์นั้นเพียงปรากฏว่าเป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์โดยผู้ใช้ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ระดับหนึ่งในงานนั้น และมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วโดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น หากผู้สร้างสรรค์สองคนต่างคนต่างสร้างสรรค์งานโดยมิได้ลอกเลียนซึ่งกันและกัน แม้ว่าผลงานที่สร้างสรรค์ของทั้งสองคนออกมาจะมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ผู้สร้างสรรค์ทั้งสองต่างคนต่างก็ได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นแยกต่างหากจากกัน
โจทก์เป็นผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือเรื่อง "ความคลาดเคลื่อนของความหมายในพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ (ในทางนิติศาสตร์) และพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๓๗ กับความคลาดเคลื่อน" นั้น หากพิเคราะห์เนื้อหาโดยรวมของหนังสือทั้งเล่ม เป็นการหยิบยกคำศัพท์แต่ละคำและความหมายของคำที่จำเลยให้ไว้ในพจนานุกรมขึ้นมาเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ โดยการวิจารณ์คำแต่ละคำเริ่มต้นด้วยคำศัพท์และความหมายของคำแต่ละคำ ต่อด้วยเนื้อหาของการวิจารณ์ที่มีการอ้างบทกฎหมายและความเห็นทางตำราประกอบ และความหมายของคำที่ควรจะเป็น โดยไม่ปรากฏว่ามีการเลียนแบบผู้ใด นับว่าเป็นงานที่โจทก์ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า จัดลำดับและเรียบเรียงที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ถือว่าโจทก์ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้น โจทก์จึงย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานหนังสือดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๖ วรรคแรก ที่จะได้รับความคุ้มครองงานอันเป็นวรรณกรรมของโจทก์
สำหรับเฉพาะในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานวิจารณ์คำศัพท์ทั้ง ๗ คำคือ ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ คู่สัญญา ตัวการ พินัยกรรม คดีดำ คดีแดง ซึ่งเป็นบางส่วนของหนังสือที่โจทก์เป็นผู้เขียนนั้น จำต้องวิเคราะห์เป็นคำ ๆ ไป ซึ่งเนื้อหางานวิจารณ์คำแต่ละคำนั้นประกอบด้วย ๓ ส่วน ส่วนที่หนึ่งได้แก่ คำศัพท์และความหมายของคำศัพท์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ ส่วนที่สองเนื้อหาการวิจารณ์ และส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนที่พิพาทกันในคดีนี้ คือ ส่วนความหมายของคำศัพท์ ตามที่ควรจะเป็น ดังนั้น เนื้อหาส่วนที่สามซึ่งเป็นบทสรุปดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องการชี้ให้เห็นว่า ความหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ความหมายของคำที่เป็นบทสรุปของโจทก์ แต่ละความหมายนั้นแล้วก็พบว่า ความหมายของคำว่า ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ ตัวการ และพินัยกรรม ล้วนมีเนื้อหาตรงกับความหมายที่ปรากฏอยู่แล้วในกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญา แตกต่างกันบ้างเฉพาะถ้อยคำที่เป็นรายละเอียดเล็กน้อย เช่น การเชื่อมโยงคำ หรือการเรียงประโยค ดังนั้น ในส่วนความหมายของคำว่า ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ ตัวการ และพินัยกรรม ในหนังสือของโจทก์นั้น จึงเป็นเนื้อความในตัวบทกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีลิขสิทธิ์ในความหมายของคำดังกล่าวตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗ (๒)
ส่วนคำว่า "คู่สัญญา" "คดีดำ" และ "คดีแดง" แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติในลักษณะเป็นการให้ความหมายไว้โดยตรงเช่นเดียวกับคำ ๔ คำที่กล่าวมาแล้ว แต่โจทก์ได้มาจากการดูตัวบทกฎหมาย และเป็นถ้อยคำที่อาจารย์ของโจทก์ใช้ในการสอนในมหาวิทยาลัยและอธิบายความตั้งแต่เมื่อครั้งโจทก์เป็นนักศึกษากฎหมายซึ่งตรงกับความหมายที่โจทก์ได้ให้ความหมายไว้ จึงทำให้น่าเชื่อว่าความหมายของคำทั้ง ๓ คำดังกล่าว ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของโจทก์เองโดยแท้ หากแต่เป็นความหมายที่มีการสร้างสรรค์และเข้าใจกันโดยทั่วไปมาก่อนโดยผู้ปฏิบัติหรือคณาจารย์ทางนิติศาสตร์ท่านอื่น ๆ จากเนื้อหาของกฎหมาย แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาล ซึ่งมีการถ่ายทอดต่อกันมาโดยทางคำบรรยาย ทางตำราหรือเอกสารทางวิชาการ แล้วโจทก์เป็นผู้นำความหมายดังกล่าวมารวมไว้เท่านั้น ความหมายของคำเหล่านี้จึงไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ ในอันที่จะได้รับความคุ้มครอง