คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
งานเลี้ยง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างต้องรับผิดต่อความเสียหายจากลูกจ้างที่ขับรถในทางการที่จ้าง แม้เกิดเหตุจากงานเลี้ยงสังสรรค์
ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้รวมตัวก่อตั้งขึ้นเป็นชมรมเรียกว่าชมรมธนาคาร มีวัตถุประสงค์ควบคุมการทำงานของธนาคารให้อยู่ในระเบียบแบบแผนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทุก ๆ ปีชมรมธนาคารจะจัดงานขึ้นปีใหม่เลี้ยงพนักงานของธนาคารเพื่อให้พนักงานของธนาคารซึ่งเป็นสมาชิกได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจของธนาคาร การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรมธนาคารต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ก่อน ฉะนั้น การที่ จ.ผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมธนาคาร ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 กลับจากงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ของชมรมธนาคารโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ย่อมถือได้ว่า จ.ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย คำฟ้องของโจทก์ตอนท้ายกล่าวเพียงว่า ภายหลังที่รถยนต์ของโจทก์ถูกชนแล้ว ทำให้รถยนต์ของโจทก์ไม่สามารถนำมาใช้ได้เท่านั้นมิได้อ้างเหตุเพราะถูกชนเสียหาย ฉะนั้น ที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ใช้รถไม่ได้เพราะเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้ จึงไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของตัวการต่อการกระทำของตัวแทน กรณีจัดงานเลี้ยงและเกิดเพลิงไหม้
คดีนี้โจทก์ร่วมทั้งสองร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินมาด้วย ซึ่งเป็นคำขอบังคับในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ขึ้นที่บ้านของตนเอง การจุดพลุเป็นพิธีการส่วนหนึ่งของการเปิดงาน การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นเปิดงานต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจุดพลุเปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปตามคำสั่งที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองด้วย