พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจดทะเบียนรับบุตรหลังผู้ให้ความยินยอมถึงแก่ความตาย ศาลอนุญาตได้ตามกฎหมาย
เด็กและมารดาของเด็กถึงแก่ความตายแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่บุคคลทั้งสองไม่อาจให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1548 วรรคสาม ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ในเมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีผู้ใดยังมีชีวิตอยู่เช่นนี้ ผู้ร้องก็ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2545
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิทางศาลจดทะเบียนรับบุตรเมื่อผู้ให้ความยินยอมถึงแก่ความตาย
ด.มารดาของช.และช. ผู้เป็นบุตรถึงแก่ความตายแล้ว ไม่อาจให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องขอจดทะเบียนรับ ช. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสาม ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ในเมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีผู้ใดยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิพากษาว่า ช. เป็นบุตรผู้ร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5661/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจดทะเบียนรับบุตรหลังเสียชีวิต: สิทธิทางศาลและการคุ้มครองประโยชน์เด็ก
การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่บิดาที่มิได้สมรสกับมารดากระทำได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1548 วรรคสาม และในกรณีที่เด็กยังเป็นผู้เยาว์ เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งต่อนายทะเบียนว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1549 วรรคสอง จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้การคุ้มครองประโยชน์และความผาสุกของบุตรโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรตั้งแต่วันที่เด็กเกิด กรณีเช่นนี้แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดระยะเวลาในการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกรณีของการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสามและวรรคสี่ และแม้เด็กหรือบิดาของเด็กถึงแก่ความตายแล้ว ก็ให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานของเด็กหรือเด็กที่จะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรับมรดกระหว่างกันอันมีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 1556 วรรคสี่ และมาตรา 1558 สำหรับคดีนี้เป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิโดยชัดแจ้งว่าให้ผู้อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กนำคดีไปสู่ศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่เด็กถึงแก่ความตายแล้วได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมารดาถึงแก่ความตาย โดยมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1552 ย่อมเป็นข้อแสดงว่าความมีอยู่ซึ่งสภาพบุคคลของมารดาหรือไม่ มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ ฉะนั้น ความในมาตรา 1548 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็ก...ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล" คำว่า "ไม่อาจให้ความยินยอม" ย่อมหมายถึงกรณีที่เด็กไม่อยู่ในภาวะที่จะให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังไร้เดียงสา หรือเป็นคนวิกลจริต เป็นต้น หาใช่เป็นกรณีที่เด็กสิ้นสภาพบุคคลแล้วไม่ เพราะการพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรโดยอาศัยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ย่อมกระทำได้ยาก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11274/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนการจดทะเบียนรับบุตรเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี และสิทธิใช้ชื่อสกุลของบุตร
โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิใช่บิดาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 แต่ที่จดทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรเพราะสำคัญผิด หากเป็นจริงตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1554 ที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเพราะเหตุว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนนั้นมิใช่บิดา แต่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดระยะเวลาให้ฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้การจดทะเบียน และห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน ซึ่งกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องอันเป็นอายุความที่ศาลจะยกมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตร และถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ได้ตามกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5020/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจดทะเบียนรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สิทธิความเป็นบิดา, เหตุผลสมควร, และประโยชน์สูงสุดของเด็ก
เจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ซึ่งจะต้องไปแสดงความยินยอมต่อนายทะเบียนและเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้อื่นจะให้ความยินยอมแทนไม่ได้ ทั้งนี้เด็กและมารดาเด็กต้องอยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้ เมื่อโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองไปให้ความยินยอมต่อนายทะเบียน คดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองคัดค้าน ดังนั้น การที่โจทก์จะไปยื่นคำร้องจดทะเบียนเป็นหนังสืออีกเพื่อให้นายทะเบียนมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสอง ตามมาตรา 1548 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพราะเป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ พฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคสาม บัญญัติถึงการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาลใน 3 กรณี คือ กรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ คดีจึงต้องพิจารณาเพียงว่าการไม่ให้ความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดามีเหตุสมควรหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นได้นัดพร้อมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ให้ความยินยอม เพียงพอแก่การพิจารณาวินิจฉัยคดีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจึงหาใช่ไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งสองต่อสู้คดี