คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จริยธรรมทนายความ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6919/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทนายความที่มีลักษณะซื้อขายความเป็นโมฆะ
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงให้เงินรายละ 400,000 บาทและจำเลยที่ 4 ตกลงให้เงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์เป็นค่าทนายความนั้นหมายถึงกรณีที่ฝ่ายจำเลยชนะคดีมรดกแล้วไม่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นที่ดิน แต่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นเงินที่ได้มาจากการขายที่ดินพิพาทนั่นเอง ซึ่งจำเลยทั้งสี่จะต้องแบ่งให้โจทก์ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ในบันทึกข้อตกลง บันทึกข้อตกลงจึงถือได้ว่าเป็นสัญญารับจ้างว่าความโดยวิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความเมื่อจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกความชนะคดีเท่านั้นหากจำเลยทั้งสี่ตกเป็นฝ่ายแพ้คดี โจทก์ย่อมไม่ได้รับส่วนแบ่งตามข้อตกลง อันมีลักษณะเข้าทำนองซื้อขายความกัน
วิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะผูกขาดที่ผู้ที่เป็นทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการผู้ที่ได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความจึงมีพันธกรณีต่อสังคมที่จะต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในฐานะที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการจรรโลงความยุติธรรมในสังคม ทนายความจึงไม่พึงทำสัญญากับลูกความของตนในลักษณะที่ตนเองเข้าไปมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในผลคดีโดยตรงในทำนองซื้อขายความกันย่อมไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพทนายความถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
แม้ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติทนายความฯ จะมิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2477 และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 ก็มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความกับลูกความทำนองนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลให้ลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ดังกล่าว ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างว่าความที่มีการแบ่งผลประโยชน์จากผลคดี เป็นโมฆะ ฝ่าฝืนจริยธรรมทนายความ
การที่จำเลยทั้งสามทำบันทึกคำมั่นจะให้รางวัลแก่โจทก์อีกร้อยละ 5 ของเงินส่วนที่จำเลยทั้งสามได้รับเกินกว่า 80,000,000 บาท มีมูลเหตุมาจากปัญหาการกำหนดจำนวนทรัพย์มรดกที่โจทก์รับจะฟ้องให้จำเลยทั้งสาม โดยโจทก์ต้องการกำหนดค่าตอบแทนในการว่าความเพิ่มเติม ซึ่งมีเงื่อนไขที่โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 2 ข้อ กล่าวคือ จำเลยทั้งสามชนะคดีฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่โจทก์รับว่าความให้และเป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาท ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับดังกล่าวย่อมเกิดจากการว่าความให้จำเลยทั้งสามจนชนะคดี กรณีเป็นการกำหนดค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้างว่าความตามปกติ แม้จะเป็นบันทึกข้อตกลงที่จำเลยทั้งสามทำให้โจทก์หลังจากทำสัญญาจ้างว่าความแล้วอีกฉบับหนึ่งต่างหากก็ตาม ก็ไม่มีผลลบล้างลักษณะของนิติกรรมที่จำเลยทั้งสามทำไว้แก่โจทก์ แม้บันทึกที่ทำขึ้นภายหลังจะใช้คำว่า คำมั่นจะให้รางวัล กรณีก็ไม่อาจบังคับตามหลักกฎหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 362 บันทึกคำมั่นจะให้รางวัลดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
บันทึกข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสามจะได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาทหรือไม่ หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือได้รับไม่เกินกว่า 80,000,000 บาท โจทก์จึงจะไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากจำเลยทั้งสาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความ แม้ไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้โดยชัดแจ้ง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)