พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5844/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปจัดการกิจการ: ความรับผิดต่อหนี้ของห้างหุ้นส่วน
โจทก์ฟ้องคดีโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาสองข้อคือข้อแรก โจทก์จำเลยได้ตกลงกันประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยโจทก์เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ข้อที่สองจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนขอให้บังคับให้จำเลยร่วมรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยให้การรับว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่ปฏิเสธว่าไม่เคยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า หนี้ของห้างหุ้นส่วนตามฟ้องผูกพันจำเลยหรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลล่างทั้งสองเห็นว่า แม้จำเลยจะสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวน เพราะกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก แต่คดีนี้ไม่ใช่กรณีบุคคลภายนอกเรียกร้องให้จำเลยรับผิด เป็นเรื่องระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง จึงต้องบังคับตามสัญญาหุ้นส่วนซึ่งเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ข้อแรก ฉะนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยดังกล่าว จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนนั้น เป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกเนื่องจากบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใด ส่วนระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเองผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใดและมีหน้าที่อย่างใด หากยินยอมให้มีการกระทำผิดหน้าที่ ผู้ที่ให้ความยินยอมไม่มีสิทธิจะอ้างกฎหมายมาตราดังกล่าวขึ้นบังคับผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันอย่างบุคคลภายนอกได้ กรณีของผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันต้องบังคับตามสัญญาห้างหุ้นส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2838/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญจากเหตุหุ้นส่วนไม่ปรองดองและขาดการจัดการที่เหมาะสม
โจทก์จำเลยตกลงเข้าหุ้นประกอบกิจการโรงกลึงเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน การที่โจทก์จำเลยขัดแย้งกันโดยจำเลยไม่ให้โจทก์มีสิทธิสั่งจ่ายเงินและไม่แบ่งผลกำไรให้โจทก์ แต่กลับนำเงินไปจ่ายล่วงหน้าสำหรับรถยนต์ที่จำเลยซื้อ และจำเลยไม่ได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกิจการโรงกลึงไว้ทั้งยังปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่หุ้นส่วนกับจำเลย เช่นนี้ ถือได้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ปรองดองกันเหลือวิสัยที่ห้างหุ้นส่วนจะดำรงคงอยู่ต่อไปได้จึงมีเหตุที่ศาลจะพิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนตามที่โจทก์ฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3222/2522
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หุ้นส่วนผู้ไม่ได้จัดการ เข้าไปจัดการกิจการโดยพลการ ศาลไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่
โจทก์ฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการชดใช้เงินทดรองซึ่งโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้หนึ่งได้ออกทดรองไปคืนแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การปัดความรับผิดด้วยเหตุหลายประการ แต่ไม่ได้ให้การว่าการที่โจทก์ออกเงินทดรองไปเป็นการเอื้อมเข้าไปจัดการงานของห้างโดยพลการซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1043 ให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยจัดการนอกสั่ง และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว จำเลยฎีกาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการที่หุ้นส่วนอันมิได้ผู้จัดการเอื้อมเข้าไปจัดการงานของห้างโดยพลการ ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225,249 จะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย