คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จำกัดทุนทรัพย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดทุนทรัพย์ฎีกา: ค่าเสียหายแยกรายบุคคล, ข้อโต้แย้งข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา
โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพัง ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิด แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ตามแต่ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไป ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2 กับโจทก์ทั้งสี่แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุมิใช่ด้วยการจ้างวานใช้สอยจากจำเลยที่ 2 เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาเช่นกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1119/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดทุนทรัพย์อุทธรณ์-ความสัมพันธ์จำเลย-การรับผิดร่วม: ศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยและค่าเหล็กตัวซีรวมเป็นเงิน 204,850 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 156,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 150,000บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3ในชั้นอุทธรณ์เป็นเงินเพียง 48,100 บาท เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยในส่วนนี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างเหมาก่อสร้างงานบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล แล้วจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างแทนทั้งหมด ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ่อเติมอากาศ เป็นการบรรยายข้ออ้างว่ามีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามแล้ว ประกอบกับคำขอบังคับท้ายฟ้องโจทก์ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยและค่าเหล็กตัวซีด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้กล่าวอ้างว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามมีนิติสัมพันธ์กันตามกฎหมายแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นอุทธรณ์นอกฟ้องและเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3014/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดทุนทรัพย์ฎีกาจากที่ดินแต่ละแปลง และฟ้องไม่เคลือบคลุมเมื่อระบุตำแหน่งที่ชัดเจน
จำเลยแต่ละคนแยกการครอบครองที่พิพาทเป็นสัดส่วนต่างหากจากกัน การที่จะพิจารณาว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ จะต้องถือตามราคาทรัพย์ที่พิพาทที่จำเลยแต่ละคนยึดถือครอบครอง เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าที่พิพาทราคาไร่ละ 30,000 บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยแต่ละรายย่อมไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยการซื้อจากจ่าสิบตำรวจอ.จำเลยทุกคนที่โจทก์ฟ้องได้เช่าที่พิพาทจากนายท.บิดาจ่าสิบตำรวจอ. แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายส่วนหนึ่งที่จำเลยแต่ละคนเช่นอยู่ว่ามีเนื้อที่คนละเท่าใดก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ทำแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องระบุจุดที่จำเลยแต่ละคนเช่าอยู่อย่างชัดเจนแล้ว โจทก์จึงขอให้ขับไล่จำเลยทุกคนที่โจทก์ฟ้องพร้อมกับเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยแต่ละคน คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดทุนทรัพย์ฎีกา: คดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทในชั้นฎีกา ทำให้ฎีกาในข้อเท็จจริงเป็นที่รับไม่ได้
โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดและการรับประกันภัยค้ำจุนซึ่งทำให้โจทก์แต่ละคนเสียหาย แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละไม่ถึงสองแสนบาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน การที่จำเลยทั้งสองฎีกาให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรกที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คนขับรถของโจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทด้วยค่าต่อตัวถังกับห้องเย็นรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน100,000 บาท และรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไม่เสื่อมสภาพนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 542/2516 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดทุนทรัพย์ฟ้องคดีครอบครองที่ดินแยกสำนวน – ฎีกาต้องห้ามเมื่อศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาเดิม
โจทก์กล่าวในฟ้องชัดเจนว่า จำเลยแต่ละคนเข้ามาอาศัยที่ดินโจทก์ทำกินเป็นส่วนสัดตามแผนที่ท้ายฟ้องโจทก์โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย และโจทก์ก็ยังตีราคาที่ดินแต่ละส่วนที่จำเลยอาศัยมาด้วย จำเลยทั้งหมดจึงมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์ชอบที่จะยื่นฟ้องจำเลยมาคนละสำนวนการที่โจทก์รวมฟ้องมาในสำนวนเดียวกัน และศาลชั้นต้นยอมรับฟ้องโจทก์ไว้ ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์มีมากกว่าที่ยื่นฟ้องแยกกันมาเป็นแต่ละสำนวน
โจทก์ฟ้องจำเลยร่วมกันมา แต่คดีโจทก์สำหรับจำเลยแต่ละคนมีทุนทรัพย์เพียงสำหรับจำเลยที่ 1 จำนวน 1,000 บาท จำเลยที่ 2จำนวน 2,500 บาท จำเลยที่ 3 จำนวน 1,000 บาท และจำเลยที่ 4จำนวน 1,500 บาทเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทโดยไม่ได้อาศัยโจทก์ คดีของโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6258/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดทุนทรัพย์ฎีกา-ข้อพิพาทนอกอาญา-ค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากอาญา-การหักเงินวางศาล-การชำระหนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย คำร้องขอของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีสินค้าบนรถยนต์ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายของรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่าเช่ารถคันอื่นมาใช้ทดแทน เป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากที่สามารถเรียกได้ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกาย จึงไม่ใช่คำขอบังคับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด การพิจารณาสิทธิในการฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ในหนี้ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมแต่ละคนแยกกัน ส่วนค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ต้องแยกเป็นจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ตกได้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองคนละกึ่งหนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีจำนวนไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งว่าค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยรับผิดยังสูงเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิได้รับชดใช้ค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท ก. ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น มิได้หยิบยกเรื่องสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท ท. กับมิได้โต้แย้งเรื่องความเป็นเจ้าของรถยนต์ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิด อุทธรณ์ทั้งสองประเด็นจึงอยู่นอกประเด็นตามคำให้การ เป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ทั้งสองต้องสูญเสียรายได้จากกิจการที่ทำอยู่ก่อนเกิดเหตุให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ จึงเป็นการโต้แย้งค่าเสียหายส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิด อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ชอบแล้ว