คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จำเลยซ้ำ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำเลยที่เคยกระทำผิดซ้ำ และการเพิ่มโทษปรับควบคู่กับโทษจำคุก
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์คงระบุเพียงว่าขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมาย โดยมิได้ระบุให้ชัดว่าประสงค์ให้เพิ่มโทษตามกฎหมายใด จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 92
โทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ได้ลงโทษจำคุกและลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ในคดีหลังด้วย การเพิ่มโทษที่จะลงโทษแก่จำเลยที่ 1 จึงเพิ่มโทษปรับได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15586/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนคดีแรงงาน: การฟ้องจำเลยซ้ำในฐานะคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและสำนักงานประกันสังคม
คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวฟ้อง ส. กับพวกในฐานะคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คำฟ้องระบุว่าแนวปฏิบัติตามหนังสือที่ รส 0711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 กำหนดเงื่อนไขการรับเงินทดแทนของลูกจ้างต่างด้าวจากกองทุนเงินทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยไม่จ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนให้โจทก์ที่ 1 เนื้อหาคำฟ้องเป็นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ที่มุ่งประสงค์ให้เพิกถอนแนวปฏิบัติฉบับเดียวกันโดยโจทก์ที่ 1 อ้างว่าแนวปฏิบัติไม่มีผลบังคับเพื่อขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 บัญญัติให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นในสำนักงานประกันสังคม (จำเลย) เพื่อจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง ทรัพย์สินของกองทุนเงินทดแทนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานประกันสังคม โดยให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทำหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานประกันสังคมหรืออาจมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ปฏิบัติแทนได้ การที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 32 กำหนดแนวปฏิบัติให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งต่อมาสำนักงานประกันสังคมถือปฏิบัติตามมตินั้นโดยจัดทำหนังสือวางแนวปฏิบัติแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัด คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกับสำนักงานประกันสังคมจึงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเดียวกัน หากการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ที่ 1 สำนักงานประกันสังคมต้องรับผิด การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้อง ส. กับพวกในฐานะคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นจำเลยในคดีก่อน กับฟ้องสำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันโดยคู่ความเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
เมื่อคดีนี้เป็นคดีแรงงาน ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 สำหรับเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติไว้ก็ให้นำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 จึงนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ไม่ได้