คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จำเลยถึงแก่กรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3297/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีออกจากสารบบเนื่องจากจำเลยถึงแก่กรรมและไม่มีผู้ดำเนินการแทน
คดีนี้จำเลยถึงแก่กรรมภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา แม้ทนายจำเลยจะมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยโดยทนายจำเลยมีอำนาจลงนามเป็นฎีกาแทนจำเลยได้ก็ตาม แต่ความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าจำเลยได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 ดังนั้น เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ปรากฏต่อศาลว่าจำเลยถึงแก่กรรมแล้วไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีเนื่องจากจำเลยถึงแก่กรรมก่อนฟ้อง และผลของการไม่วางค่าธรรมเนียมในการอุทธรณ์
การขอให้พิจารณาใหม่หากได้ความตามคำร้องก็มีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูกเพิกถอนไปในตัว และศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาขึ้นใหม่ ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ก็เท่ากับเป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ผู้ร้องจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 229 ด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ถือไม่ได้ว่าฎีกาของผู้ร้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีฝ่ายเดียวและมีคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นรับคำร้อง ผู้ร้องได้อ้างส่งสำเนาคำสั่งศาลที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เข้ามาในสำนวนด้วยจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะถูกโจทก์ฟ้องคดี ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์และกระบวนพิจารณาหลังจากนั้นเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงมิชอบมาแต่ต้น เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในขณะโจทก์ยื่นฟ้องปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อสำนวนขึ้นสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นับแต่ศาลชั้นต้นรับฟ้องตลอดมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8128/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องเมื่อจำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ต้องฟ้องทายาทใหม่ ไม่ใช่แก้ไขฟ้องเดิม
ในขณะที่โจทก์ฟ้อง อ. อ. ได้ถึงแก่กรรม ไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้อง อ. เป็นจำเลยที่ 5 ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 5มารับผิดแทนจำเลยที่ 5 ซึ่งโจทก์ไม่สามารถจะฟ้องร้องได้อยู่แล้วจึงไม่อาจกระทำได้เพราะมิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยที่ 5ได้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดอำนาจทนายจำเลยหลังจำเลยถึงแก่กรรม และผลกระทบต่อฎีกา
จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมขณะคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยไม่มีผู้ใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ผู้มรณะภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมจนกระทั่งได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้คู่ความฟังแล้วถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายจำเลยที่ 2จะจัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 แล้ว ทนายจำเลยที่ 2จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนอีกต่อไป ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาหลังจากที่หมดอำนาจแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงคู่ความหลังจำเลยถึงแก่กรรม และการฟ้องคดีเกี่ยวกับจัดการมรดก
ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1ผู้มรณะนั้นคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะได้ เพราะเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์จึงให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังไปแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสั่งคำร้องของโจทก์ที่ 1 ที่ขอให้เรียกจำเลยที่ 2เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 เสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง
การจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่เป็นมรดก เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่มีผลต่อไป แต่ความรับผิดของผู้จัดการมรดกอันเกิดจากการจัดการมรดกโดยมิชอบนั้นมิใช่เป็นการเฉพาะตัวย่อมตกทอดแก่ทายาทในส่วนนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าเป็นคู่ความแทนได้ จึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะเฉพาะกรณีพิพาทตามฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของผู้ตายเพราะจำเลยที่ 1 จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เป็นกรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับกองมรดกของผู้ตายซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวที่จำเลยที่ 1 เป็นยายของโจทก์อันจะพึงถือว่าเป็นกรณีพิพาทระหว่างหลานกับยายไม่ แม้จำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่กรรมไปในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกลายเป็นฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562
โจทก์เป็นทายาทฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าจัดการมรดกโดยไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททั้งหมด จะยกอายุความมรดก1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2533 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดคดีเนื่องจากจำเลยถึงแก่กรรมก่อนศาลพิจารณาฟ้องแย้งเรื่องการหย่าและการแบ่งเงินชดเชย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนหย่าให้จำเลยตามข้อตกลง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยยื่นฎีกาขอให้รับฟ้องแย้งไว้พิจารณา เมื่อจำเลยถึงแก่กรรม การสมรสระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลง จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาฎีกาของจำเลยต่อไป ศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2520

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายความหลังจำเลยถึงแก่กรรม: ทนายความมีอำนาจยื่นฎีกาแทนจำเลยได้เพื่อรักษาประโยชน์ทางกฎหมาย
การที่ตัวความถึงแก่กรรมก่อนมีการยื่นฎีกา ทนายความมีอำนาจลงนามเป็นผู้ยื่นฎีกาแทนจำเลยผู้มรณะได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวความไว้ระหว่างฎีกา
ในวันยื่นฎีกา บุตรของจำเลยได้แต่งทนายความคนเดิมยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนที่จำเลยผู้มรณะ และศาลอนุญาตแล้ว ดังนี้ทนายความย่อมดำเนินคดีต่อไปได้ อำนาจทนายความหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่กรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2519

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีอาญาหยุดระงับเมื่อจำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ไม่ต้องถอนฎีกา ศาลจำหน่ายคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ฎีกา ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยที่ 2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นส่งสำนวนให้ศาลฎีกาพิจารณา ดังนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) โดยโจทก์ไม่จำต้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจาก สารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2519

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดของคดีหย่าเมื่อจำเลยถึงแก่กรรม ศาลจำหน่ายคดีและคืนค่าธรรมเนียม
คดีฟ้องหย่าและขอแบ่งทรัพย์สิน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้มีการหย่าหรือขอให้สืบพยานโจทก์ต่อไป ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าจำเลยถึงแก่กรรม ดังนั้น การสมรสย่อมสิ้นสุดลงดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาที่โจทก์ฎีกาต่อไป ศาลฎีกาย่อมจำหน่ายคดีจากสารบบความ และคืนค่าตัดสินกับค่าคำบังคับให้โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมนอกนั้นให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209/2497

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีหย่าขาดเมื่อจำเลยถึงแก่กรรมระหว่างการพิจารณาคดี
ในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากสามีภริยากัน จำเลยฎีกาแต่ในระหว่างฎีกานั้น จำเลยถึงแก่กรรมลง ดังนี้ ศาลฎีกาก็มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีได้ ตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 132 ( 3 )