คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จ่ายโดยไม่ชอบ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905-4927/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าชดเชยโดยไม่ชอบตามกฎหมายและอายุความการฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจรับโอนจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างประจำฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย กรมการบินพาณิชย์ มาเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2536 ต่อมาโจทก์ออกข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 ให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่จำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวโดยมีบทเฉพาะกาลว่าพนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ เมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง การที่โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ครบเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2536 โดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับข้างต้นซึ่งโจทก์เชื่อว่าเป็นระเบียบข้อบังคับที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งที่แท้จริงแล้วจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเพราะการประกาศใช้ข้อบังคับฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับ จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นการได้รับมาในฐานลาภมิควรได้ ไม่ใช่กรณีจำเลยยึดถือค่าชดเชยไว้โดยไม่มีสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิติดตามเอาค่าชดเชยคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกเอาค่าชดเชยคืนจากจำเลยได้ตามมาตรา 406 โดยโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามมาตรา 419 เมื่อผู้ว่าการของโจทก์ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รับทราบหนังสือกระทรวงการคลังในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 แจ้งว่าข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนฉบับข้างต้นประกาศใช้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเอาค่าชดเชยคืนจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ