คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชำระภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 75 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6276/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางภาษีของบุคคลในคณะบุคคลและการยึดทรัพย์เพื่อชำระภาษีค้างชำระ
ตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 56 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากรฯ ผู้จัดการคณะบุคคลมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีและครึ่งปีในชื่อของคณะบุคคล เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบและประเมินภาษีไปยังผู้จัดการคณะบุคคลได้ไม่จำต้องออกหมายเรียกตรวจและประเมินไปยังบุคคลในคณะบุคคลอีกเมื่อผู้จัดการคณะบุคคลได้รับหมายเรียกและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในชื่อของคณะบุคคลแล้ว ก็ถือเป็นการประเมินโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลในคณะบุคคลจะมิได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ก็ไม่ทำให้การประเมินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากรฯ ถ้าคณะบุคคลมีภาษีค้างชำระ บุคคลในคณะบุคคลทุกคนต้องร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย ฉะนั้น เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง จำเลยจึงอาศัยมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากรฯ ยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของบุคคลในคณะบุคคลได้ เมื่อโจทก์เป็นบุคคลในคณะบุคคลซึ่งค้างชำระภาษีอากร จำเลยจึงมีอำนาจ ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี: ต้องชำระภาษีที่ถึงกำหนดก่อนฟ้องคดี มิเช่นนั้นขาดอำนาจฟ้อง
ที่ พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 บัญญัติว่า "?ห้ามให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งกำหนดต้องชำระ?หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล?" นั้น กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ผู้รับประเมินได้ชำระหนี้ค่าภาษีจนหนี้ค่าภาษีที่พนักงานเก็บภาษีได้แจ้งการประเมินระงับสิ้นไปเสียก่อน หากเมื่อศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ผู้รับประเมินจึงจะมีสิทธิมาขอรับคืนเงินส่วนที่ลดลงมาได้ตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวในวรรคท้าย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับประเมินใช้การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อประวิงการชำระหนี้ค่าภาษี และตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม การชำระหนี้ด้วยเช็ค หนี้จะระงับเมื่อเช็คได้ใช้เงินไปแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ผ่อนชำระค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 และโจทก์สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้ไว้ซึ่งจะถึงกำหนดชำระหลังจากวันฟ้อง หนี้ค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 จึงยังไม่ระงับสิ้นไปและถือไม่ได้ว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระดังที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องสำหรับข้อหาเกี่ยวกับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2537 ถึง 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ผู้ชำระบัญชีและการละเมิดจากความผิดพลาดในการชำระภาษี คดีไม่ขาดอายุความ
จำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท บ. หน้าที่สำคัญที่ผู้ชำระบัญชีจะต้องดำเนินการ คือการชำระสะสางการงานของบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 การที่บริษัท บ. ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ทำให้การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัท จึงมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบก่อน จำเลยจึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ อีกทั้งเมื่อบริษัทจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วจำเลยมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งเลิกกิจการภายหลังจากนั้น 1 ปีเศษ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในเวลา 2 เดือนเศษต่อมาโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่ แต่จำเลยไม่ได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ กลับแบ่งเงินดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นจึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264 และมาตรา 1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกาเห็นว่าคดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางและพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวนั้นถึงที่สุด เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 ไม่เกิน 60 วัน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3198/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระภาษีอากรเมื่อไม่ได้ส่งออกสินค้าตามกำหนด และสิทธิการเรียกร้องของเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกัน
การที่จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศโดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารวางประกัน และรับของไปจากอารักขาของศุลกากรเป็นเพียงการผ่อนผันชำระค่าอากรขาเข้าให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยมิได้ผลิตสินค้าส่งออกไปต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี ตามกฎหมาย ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะนำเงินอากรขาเข้าและภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินไว้ไปชำระมิใช่เป็นหน้าที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องติดตามทางถามให้จำเลยชำระ ทั้งตาม พ.ร.บ. ศุลกากรก็ดี ประมวลรัษฎากรก็ดี มิได้บัญญัติกำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินติดตามทวงถามไว้แต่อย่างใด ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าอากรขาเข้าเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าอากรที่ต้องเสียก็ต้องเรียกเงินเพิ่มจากจำเลยตามกฎหมาย
กรณีการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางก็ไม่มีบทบัญญัติใดตาม พ.ร.บ. ศุลกากรว่าถ้าผู้นำของเข้าไม่ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) ตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้ทราบแล้วภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ก็ให้เรียกเก็บจากผู้ค้ำประกันทันที ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่ให้สิทธิเจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ ตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น ถ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ และเมื่อเรียกจากธนาคารผู้ค้ำประกันแล้วหนี้ยังขาดอยู่เท่าใดจำเลยก็ต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรส่วนที่ขาดรวมทั้งเงินเพิ่มแก่โจทก์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) และเงินเพิ่ม จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและภายในชอบที่กฎหมายบัญญัติ จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2420/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินและชำระภาษีอากร: สิทธิของเจ้าพนักงานในการตรวจสอบและประเมินภาษี แม้เวลาตรวจสอบจะเนิ่นนาน
จำเลยนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อผลิตส่งออก โดยยื่นใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อใช้สิทธิขอคืนภาษีอากร แต่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไข จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีหน้าที่ประเมินภาษีด้วยตนเอง ตามวิธีการและตามเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายแล้วยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีอากรตามจำนวนที่พึงต้องชำระ หากจำเลยประเมินไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานของโจทก์ทั้งสองตรวจพบก็จะทำการประเมินใหม่และมีอำนาจประเมินให้จำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มได้ด้วย ดังนั้นการเสียภาษีจึงมิได้เกิดจากข้อสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย โจทก์ทั้งสองเป็นเพียงผู้ตรวจสอบการเสียภาษีของจำเลยเท่านั้น ถึงแม้จะใช้เวลาตรวจสอบเนิ่นนานไปก็มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1827/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงด/ลดเบี้ยปรับ/เงินเพิ่มภาษีสรรพสามิต ต้องชำระภาษีครบตามกฎกระทรวง และไม่สละสิทธิคัดค้าน
หลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 29(พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งให้ทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องชำระภาษีให้ครบจำนวนภายในกำหนดระยะเวลาตามที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 5 และข้อ 6 มิใช่เพียงแต่ยื่นคำร้องเป็นหนังสือตกลงยินยอมชำระภาษีและของดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อลูกหนี้ยังมิได้ชำระภาษีให้ครบจำนวนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงลูกหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นอกจากนั้นเมื่อลูกหนี้ได้รับแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าหนี้แล้วลูกหนี้มิได้ยื่นคำคัดค้านการประเมินต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินจึงเป็นการสละการใช้สิทธิคัดค้านต่ออธิบดี สละสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และสละสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 86,89 และ96 หนี้ภาษีของลูกหนี้ย่อมถึงที่สุด การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้กรมสรรพสามิตเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้โดยไม่งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8855/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม หักกลบลบหนี้ไม่ได้ หากชำระโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
เมื่อได้ความว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 5,964,000 บาทที่โจทก์ได้ชำระภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียตามการยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 แต่จำเลยเห็นว่าในการที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการตามปกติเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 โจทก์ต้องชำระเบี้ยปรับเพิ่มเติม 2,800,000 บาท ในการยื่นแบบเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 โจทก์ต้องชำระเบี้ยปรับ 8,050 บาทซึ่งโจทก์ชำระไว้แล้ว 3,220 บาท คงเป็นเบี้ยปรับที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยจำนวน 2,804,830 บาท เบี้ยปรับนี้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 89/2 ให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 14 และมาตรา 77 ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา 88/5 ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะสำหรับการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยกำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี ในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2ลักษณะ 2 ก็ได้ การที่โจทก์เพียงแต่ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานของจำเลย กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังโจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีดังกล่าว อีกทั้งหากมีการแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.30) เพิ่มเติมครั้งที่ 1 โจทก์ได้ชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยไม่มีหน้าที่ต้องชำระจำนวน 5,964,000 บาท และได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (แบบ ค.10) แล้ว จำเลยจึงยังไม่อาจนำเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์เนื่องจากการชำระภาษี โดยไม่มีหน้าที่ต้องชำระได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8853/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาชำระภาษีสรรพสามิตน้ำมัน: นับจากสิ้นสุดการสูบจ่ายรายวัน ไม่ใช่กระบวนการทั้งหมด
ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 10(1)(ก)ที่บัญญัติว่าความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษี กรณีสินค้าอยู่ในโรงอุตสาหกรรม ให้ถือว่าความรับผิดในอันที่จะต้องเสียภาษีเกิดขึ้นในเวลาที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม และตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาชำระภาษีสรรพสามิตลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ข้อ 2(1) กรณีความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้นในเวลาที่นำสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภายใน 10 วัน นับแต่วันที่นำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันนั้นออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน จากข้อความในบทบัญญัติและประกาศดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีภายใน 10 วันนับแต่วันที่นำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันนั้นออกจากโรงอุตสาหกรรม วันที่นำน้ำมันออกจากโรงอุตสาหกรรมนั้น หมายถึงแต่ละวันหรือระยะเวลาตั้งแต่ 00.00 นาฬิกาถึง 24 นาฬิกาของแต่ละวัน ดังนั้น ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีต้องถือตามปริมาณน้ำมันที่นำออกพ้นไปจากโรงอุตสาหกรรม ณ เวลา24 นาฬิกาของแต่ละวันเป็นเกณฑ์ในการยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีภายใน 10 วันนับแต่วันนั้นโดยไม่จำต้องคำนึงว่าการสูบจ่ายน้ำมันทางท่อแบบวงจรต่อเนื่องจะเสร็จสิ้นกระบวนการทุกขั้นตอนเมื่อใด
การที่โจทก์นำปริมาณน้ำมันตั้งแต่เริ่มต้นสูบจ่ายน้ำมันทางท่อพ้นไปจากโรงอุตสาหกรรมก่อนเวลา 24 นาฬิกาของวันหนึ่ง ไปรวมเพื่อชำระภาษีพร้อมกับปริมาณน้ำมันที่สูบจ่ายพ้นไปจากโรงอุตสาหกรรมจนถึงวันเสร็จสิ้นกระบวนการสูบจ่ายน้ำมันหลังจากพ้นเวลา 24 นาฬิกา ไปยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีในคราวเดียวพร้อมกันในกำหนด 10 วันนับแต่วันเสร็จสิ้นกระบวนการสั่งจ่ายน้ำมันจึงไม่ถูกต้อง แม้โจทก์จะอ้างว่าปฏิบัติตามระเบียบกรมสรรพสามิตว่าด้วยการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมทำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2507 แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทางปฏิบัติเพื่อควบคุมการตรวจสอบการนำน้ำมันออกจากโรงอุตสาหกรรมให้อยู่ในความรู้เห็นและยินยอมของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมโรงงานเพื่อทราบปริมาณน้ำมันที่สูบจ่ายออกไปทั้งหมดเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบกับจำนวนภาษีที่โจทก์ชำระ ไม่เกี่ยวกับกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษี โจทก์ไม่อาจอ้างระเบียบดังกล่าวมาลบล้างกำหนดเวลาในการยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี, การหักค่าใช้จ่าย, และข้อยกเว้นเบี้ยปรับตามประกาศกระทรวงการคลัง ต้องมีการชำระภาษีครบถ้วนและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฎฐวรรคสองแห่ง ประมวลรัษฎากร ข้อ 2 และ 5 ระบุว่า ถ้าได้ยื่นรายการและชำระภาษีอากร หรือนำส่งภาษีอากรตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2534 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2535 ผู้นั้นไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ฉะนั้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยได้รับ ยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวจะต้อง ชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่จำเลยจนครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ ประกาศกระทรวงการคลังกำหนด เมื่อโจทก์ทั้งสองยังมิได้ชำระหนี้ ค่าภาษีอากรแก่จำเลยจนครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนด โจทก์ทั้งสองย่อมไม่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตาม ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว
ในชั้นตรวจสอบและชั้นพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าพนักงานของจำเลยได้มีหนังสือเชิญโจทก์ทั้งสองเพื่อให้ชี้แจงและส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่โจทก์ทั้งสองก็มิได้ส่งมอบเอกสารค่าใช้จ่ายต่าง ๆให้แก่จำเลยในชั้นตรวจสอบ เพิ่งมานำส่งในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือเชิญโจทก์ที่ 1ไปพบ เพื่อให้โจทก์ที่ 1 ชี้แจงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายค่าออกแบบอาคารและรากฐานถึงสองครั้ง แต่โจทก์ที่ 1 เพิกเฉย เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองมิได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการเสียภาษีอากรของโจทก์ทั้งสองแก่จำเลย กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9498/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโต้แย้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องทำภายในกำหนดและชำระภาษีค้างชำระก่อน
เมื่อจำเลยไม่พอใจการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยอาจขอให้มีการพิจารณาการประเมินนั้นใหม่ได้ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 แต่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มีมติยืนตามการประเมินที่แจ้งไป แล้วต่อมาคณะเทศมนตรีเมืองหนองคายมีคำชี้ขาดการประเมิน แล้วจำเลยยังไม่พอใจ จำเลยอาจนำคดีมาสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระเสียก่อนตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิโต้แย้งการประเมินดังกล่าว
of 8