คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชำระหนี้แทนกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้แทนกันและการบังคับชำระหนี้ซ้ำซ้อน: สิทธิของเจ้าหนี้และการขาดมูลหนี้
โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปแล้ว โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว โดยให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับเงินตามเช็คพิพาทเพื่อรับชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 1 ตามความประสงค์ของโจทก์ที่ 1 เป็นการที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินสดโดยการชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแก่โจทก์ที่ 2ผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 314, 315 และ 321 มูลหนี้จึงมีเฉพาะการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ดังนี้ เมื่อโจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินเลือกใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินกู้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงผู้รับชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์ที่ 1 ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทได้อีก เพราะไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแทนโจทก์ที่ 1อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้ยืมเงินเพื่อชำระหนี้แทนกัน และเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญา ทำให้ลูกหนี้เดิมไม่ต้องรับผิด
การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนองไว้แก่โจทก์และได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์นั้น น่าเชื่อว่าเป็นการกู้ยืมเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และตามพฤติการณ์ที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กู้ยืมเงินจำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ทั้งยังยอมให้ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการแสดงว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวและจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 4 นำเงินที่โจทก์มอบให้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก