คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชำรุด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 26 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 739/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องชั่งผิดอัตรา: หลักฐานฟังไม่ได้ว่าเครื่องชั่งชำรุดจริง ศาลยกฟ้อง
แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามข้อหาที่เจ้าพนักงานผู้จับกุมแจ้งว่ามีและใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าโดยใต้แท่นเครื่องชั่งของกลางไม่มีแผ่นเหล็กบังคับห่วงคู่ด้านหน้าก็ตาม แต่ผู้จับกุมดังกล่าวไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับเครื่องชั่งไม่ทราบว่าเครื่องชั่งของกลางจะมีการดัดแปลงหรือไม่ ทั้ง อ. เจ้าพนักงานชั่ง ตวง วัด ซึ่งเป็นผู้พิสูจน์เครื่องชั่งดังกล่าวก็มิได้ยืนยันว่า การที่ขาดแผ่นเหล็กบังคับห่วงคู่ด้านหน้าจะมีผลทำให้เครื่องชั่งผิดอัตราไป แม้จะปรากฏว่าขอห้อยรองรับตุ้มถ่วงปลายคันชั่งชำรุดอันอาจทำให้ผู้ใช้เครื่องชั่งสามารถเพิ่มหรือลดน้ำหนักที่ขอห้อยได้ตามความต้องการ และมีการพิสูจน์น้ำหนักโดยเทียบกับมาตราตุ้มน้ำหนักมาตรฐาน โดยสอบน้ำหนักขั้นต่าง ๆ แล้วพบว่ามีน้ำหนักเกินมาตรฐานอยู่บ้าง แต่ อ. ก็เบิกความตอบคำถามค้านว่าเครื่องชั่งของกลางได้ผ่านการตรวจสอบให้คำรับรองมาแล้วทั้งขณะที่ตรวจเครื่องชั่งยังไม่มีการเพิ่มหรือลดเครื่องชั่ง เพียงแต่อยู่ในลักษณะที่สามารถเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งตามความต้องการของผู้ใช้ กรณีจึงขัดแย้งกับการพิสูจน์น้ำหนักเครื่องชั่งของกลางที่ว่า น้ำหนักเกินมาตรฐานดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเครื่องชั่งของกลางถูกดัดแปลงแก้ไขนอตยึดแกนล้อถูกเชื่อมพอกให้หนาขึ้นเพื่อเวลาใช้เครื่องชั่งจะทำให้แกนล้อเลื่อนไปมาได้ และทำให้ส่วนที่เชื่อมพอกบนแกนล้อไปหนุนคานรับน้ำหนักใต้แท่นชั่งเมื่อทำการชั่งจะทำให้น้ำหนักที่ชั่งได้ไม่ตรงตามมาตรฐานที่ทางราชการเคยรับรองไว้โดยจะชั่งน้ำหนักได้น้อยกว่าความจริงนั้น ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ฉะนั้น การที่เครื่องชั่งของกลางมีขอห้อยรองรับตุ้มถ่วงปลายคันชั่งชำรุด แม้จะทำให้เครื่องชั่งอยู่ในลักษณะที่จะเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ก็จะสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายว่า จำเลยที่ 1ใช้เครื่องชั่งให้ผิดอัตราไปในทางเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งไม่ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าเครื่องชั่งของกลางเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตรา
เมื่อฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัดฯ จึงไม่อาจยึดเครื่องชั่ง ตุ้มน้ำหนักและคานแขวนลูกตุ้มของกลางตามมาตรา 38 ได้ทั้งของกลางดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดและมิใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากทรัพย์อันตราย-แท่นไฮดรอลิกชำรุด-ผู้รับประกันภัยต้องร่วมรับผิด
ความเสียหายของรถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วง 4 คัน เกิดขึ้นในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กำลังยกแท่นไฮดรอลิกเพื่อเทน้ำตาลดิบออกจากรถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงซึ่งจอดอยู่บนแท่นไฮดรอลิกนั้นลงฉางเก็บโดยแท่นไฮดรอลิกดังกล่าวเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้มีไว้ในครอบครองจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดขึ้นแต่ทรัพย์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบว่า เหตุที่เกิดความเสียหายสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยที่ 1
ขณะเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกน้ำตาลดิบมาจากจังหวัดอุดรธานี ระหว่างการเดินทางน้ำตาลมีความชื้นสูงจึงเกาะกันแน่น ซึ่งก่อนเทมิได้มีการทำให้น้ำตาลแตกตัวทั้งหมดก่อนที่จะยกแท่นไฮดรอลิกขึ้นเทแต่อย่างใด น้ำตาลดิบที่ยังคงมีสภาพเกาะกันแน่นย่อมทำให้น้ำหนักเฉลี่ยไม่สม่ำเสมอ เมื่อถ่ายน้ำหนักออกจากรถพ่วงทันทีทันใดย่อมทำให้แหนบรถเกิดแรงต้านดีดตัวรถให้ลอยขึ้นข้ามที่กั้นล้อแล้วดึงโซ่ที่มัดคานหน้าไว้ขาดก่อนที่จะไหลลงมากระโดดข้ามที่กั้นล้อทุกล้อ ทำให้รถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่บรรทุกน้ำตาลมาไหลชนรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงคันอื่นได้รับความเสียหาย ซึ่งมิใช่ความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย เพราะจำเลยที่ 1 อาจป้องกันได้โดยทำให้น้ำตาลแตกตัวเสียก่อนที่จะนำรถขึ้นแท่นไฮดรอลิก จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 และจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงคันที่ได้รับความเสียหายและได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมแซมรถที่เสียหายนั้นไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2279/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์เครื่องมือเกษตร: แม้ชำรุดก็เข้าข่ายความผิดฐานลักทรัพย์หนักกว่า
เครื่องสูบน้ำที่ถูกจำเลยลักไปเป็นเครื่องมือเครื่องกลอันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมของผู้มีอาชีพกสิกรรม เมื่อยังมีสภาพและรูปร่างเป็นเครื่องสูบน้ำอยู่ก็ต้องถือว่าเข้าหลักเกณฑ์แล้ว จะเสียหรือใช้การได้ไม่เป็นปัญหา เพราะถ้าเสียก็ยังสามารถซ่อมแซมให้ดีได้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(12) ไม่ได้กำหนดว่าการลักเครื่องมือเครื่องกลดังกล่าวจะต้องเป็นทรัพย์ที่ยังใช้การได้เท่านั้นจำเลยจึงจะรับโทษหนักขึ้นตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การเลิกสัญญากับผู้ขายเนื่องจากรถยนต์ชำรุด และสิทธิในการไม่ชดใช้ค่าเสียหาย
ระบบไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ หากระบบไฟฟ้าใช้การไม่ได้ย่อมส่งผลให้เครื่องยนต์ ระบบทำความเย็นและอื่น ๆ ใช้การไม่ได้ไปด้วย การที่ระบบไฟฟ้าของรถยนต์คันที่จำเลยเช่าซื้อไป จากโจทก์เสียทั้งระบบ 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่รับมอบรถยนต์ ถือได้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อม ความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติ อันผู้ขายต้องรับผิด จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อจัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดต่อมาและใช้สิทธิ เลิกสัญญาเสียได้ และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าว คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญาก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6548/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีฟ้องค่าเสียหายจากงานชำรุด: การฟ้องซ้อน การหมดอายุความรับผิด และการคิดค่าเสียหาย
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าความเสียหายของทางพิพาทเกิดจากการแก้ไขแบบแปลนของโจทก์เองจากการใช้หินคลุกมาเป็นกรวดคลุกแทนนั้น ประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสองมิได้กล่าวแก้ไว้ในคำให้การ ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อโจทก์ตรวจพบความเสียหายครั้งแรกวันที่ 16 มีนาคม 2527โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ไปซ่อมแซมเมื่อวันที่12 เมษายน 2527 และจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแล้วหลังจากนั้นโจทก์ยังมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2ให้ไปซ่อมแซมอีกหลายครั้ง ตามหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2527วันที่ 31 มีนาคม 2529 และวันที่ 22 ตุลาคม 2530 ดังนี้โจทก์เป็นหน่วยราชการอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนทางพิพาทอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส การที่โจทก์แจ้งความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 หลังจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทราบความเสียหายครั้งแรกประมาณ 27 วัน จึงเป็นเวลาอันสมควรแล้วยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนบกพร่องในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะไม่รีบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ส่วนการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหายนั้น ทางจังหวัดนราธิวาสเคยเข้าไปซ่อมทางโดยนำดินลูกรังไปลง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ซ่อมแซมทางพิพาทโจทก์ก็ได้ว่าจ้างเอกสารรายอื่นซ่อมแซมแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่รับแก่ไขเพื่อบรรเทาความเสียหาย สัญญาจ้างเหมาข้อ 6 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มีความว่าเมื่องานแล้วเสร็จเรียบร้อยและผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างคนใหม่ในกรณีผู้รับจ้างผิดสัญญาและผู้ว่าจ้างใช้สิทธิเลิกสัญญาตามข้อ 5ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ภายในกำหนด1 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบงานโดยให้นับวันที่ได้รับมอบงานเป็นวันเริ่มต้น ซึ่งเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องผู้รับจ้าง จะเป็นโดยทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สิ่งของที่ไม่ดี หรือทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาก็ตามผู้รับจ้างต้องรีบแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างจะกำหนด โดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของค่าแรงงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้ว่าจ้างอีกถ้าผู้รับจ้างบิดพลิ้ว ไม่แก้ไขซ่อมแซมภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง โดยให้นับวันที่ได้รับแจ้งเป็นวันเริ่มต้น หรือถ้าผู้รับจ้างแก้ไขซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ผู้ว่าจ้างกำหนดผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานจ้างนั้นแทนผู้รับจ้างได้ถ้างานที่จ้างเกิดการชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นหลังจากระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วย ดังนั้น จึงมีผลบังคับว่าตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 6 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชอบต่อความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางพิพาทภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบงาน ถ้าเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 และตามสัญญาจ้างเหมา ข้อ 6 วรรคสอง หมายความว่า นอกจากทางพิพาทเกิดการชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นหลังจาก 1 ปีตามวรรคหนึ่งแล้วจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานวันที่ 20 เมษายน 2526 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบความชำรุดบกพร่องวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 และวันที่ 1 เมษายน 2530 ซึ่งอยู่ภายในกำหนด 5 ปี ดังนี้ความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อยังไม่พ้นระยะเวลาความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเหมาจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิด โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองทั้งสองสำนวนให้รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องด้วยมูลเหตุเดียวกัน แม้จะเป็นความเสียหายคนละจุดไม่ซ้ำซ้อนกันแต่ก็อยู่ในทางพิพาทนั่นเอง ขณะโจทก์ฟ้องสำนวนแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2531โจทก์พบความเสียหายในสำนวนหลังแล้ว สิทธิหรือมูลฟ้องของโจทก์จึงมีอยู่แล้วขณะฟ้องสำนวนแรก ศาลชั้นต้นชี้สองสถานสำนวนแรกวันที่ 1 เมษายน 2531 โจทก์จึงชอบที่จะแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์ในสำนวนแรกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่โจทก์ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นการฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างก่อสร้างชำรุด: ความรับผิดเกิน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600
ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระบุว่าถ้างานที่จ้างเกิดการชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นหลังจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาผู้รับจ้างยังต้องรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วย เมื่อปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างเป็นสิ่งก่อสร้างกับพื้นดินและชำรุดบกพร่องภายใน 5 ปี จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาและตามระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สภาพวิทยุคมนาคมและการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม: เครื่องชำรุด/ถอดชิ้นส่วน
เครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมตามความในมาตรา 4 และ 6แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 นั้น หมายถึงเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมที่มีสภาพสามารถใช้งานได้หรือชิ้นส่วนของเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมที่อาจนำมาประกอบเข้ากันแล้วสามารถใช้งานได้ จึงจะมีสภาพเป็นวิทยุคมนาคม และมีความ-ผิดได้ หากเครื่องวิทยุคมนาคมนั้นตามสภาพแล้วชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ตลอดไปก็ไม่มีสภาพเป็นวิทยุคมนาคมและไม่มีความผิด สำหรับเครื่องรับส่งวิทยุของกลางไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากมีการถอดอุปกรณ์ชิ้นส่วนในเครื่องออก เป็นเหตุขัดข้องชั่วคราว เมื่อประกอบอุปกรณ์ครบถ้วนก็สามารถใช้งานได้ จึงเป็นเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคม ตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4
โทษจำคุกเมื่อรวมโทษทุกระทงแล้วต้องไม่เกินกำหนดตามที่ ป.อ.มาตรา 91 บัญญัตินั้น ใช้บังคับในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมเกี่ยวพันกันและศาลพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน หรือมีการรวมพิจารณาพิพากษาหลายคดีเข้าด้วยกัน หรือมีการนับโทษต่อในกรณีที่จำเลยยังไม่พ้นโทษ จำเลยพ้นโทษคดีก่อนแล้วจึงถูกฟ้องคดีนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ, ความรับผิดผู้เช่าซื้อเมื่อทรัพย์สินถูกยึด, สภาพทรัพย์สินชำรุด, การไม่ขอรับคืนทรัพย์สิน
ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า "ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยอัคคีภัย วินาศภัย สูญหาย ชำรุด บุบสลาย ถูกทำลาย ถูกอายัดถูกยึดหรือถูกริบไม่ว่าโดยเหตุสุดวิสัยหรือโดยเหตุใด ๆ ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียวและจะแจ้งให้เจ้าของทราบทันที ยอมติดตามฟ้องร้องเอาคืน...และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบ" และปรากฏจากคำเบิกความพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ยึดรถยนต์พิพาทว่า ปัจจุบันรถยนต์พิพาทอยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ พังไปหมดแล้ว เพราะถูกน้ำท่วมใหญ่2 ครั้ง รถยนต์พิพาทยังอยู่ระหว่างการยึดไว้เป็นของกลาง ยังไม่สามารถส่งมอบคืนแก่เจ้าของได้ จะคืนได้ต่อเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาที่ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางแล้ว จำเลยผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดในกรณีที่รถยนต์พิพาทถูกยึดและโจทก์ไม่อาจขอรับรถยนต์พิพาทคืนได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 331/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจัดทำเฟอร์นิเจอร์ชำรุด ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบความเสียหายและรื้อถอน
โจทก์จ้างจำเลยที่ 3 ควบคุมดูแล การทำงานของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 ละเลยไม่ควบคุมให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดทำงานตามแบบที่ตนได้เขียนขึ้น จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำเฟอร์นิเจอร์ไม่ตรงตามแบบแปลนและทำไม่แล้วเสร็จ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาและว่าจ้างผู้อื่นทำต้องว่าจ้างในราคาที่สูงขึ้นเพราะวัสดุราคาสูงขึ้น ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยแล้ว การที่จะให้จำเลยรื้อเฟอร์นิเจอร์ออกไปจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมาก โจทก์ต้องรับเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวไว้ และจ่ายค่าแรงให้จำเลยนั้นเมื่อจำเลยทำงานผิดแบบแปลน ใช้วัสดุคุณภาพต่ำไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์โจทก์ย่อมปฏิเสธไม่ยอมรับงานของจำเลยได้ จำเลยจึงต้องรื้อถอนเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวออกไป แม้จำเลยจะได้รับความเสียหายก็เกิดจากความผิดของฝ่ายจำเลยเอง จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้โจทก์ชำระเงินค่าออกแบบส่วนที่ยังขาดนั้นเมื่อฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ดังนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4731/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมางานชำรุด ผู้รับจ้างต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วน เว้นแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่สามารถคาดเห็นได้
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว โจทก์จำเลยจำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ดังนี้ แม้ตามสัญญาจะไม่ปรากฏว่ามีข้อกำหนดให้ใช้เงินตอบแทนในกรณีผิดสัญญาไว้ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยโดยตรงส่วนจำเลยก็มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ใช้เงินตามผลงานที่จำเลยทำให้โจทก์เช่นกัน ก่อนโจทก์ตกลงจ้างจำเลย จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์กำลังก่อสร้างบ้านพักให้คนงานอยู่อาศัยแทนที่พักเดิม ซึ่งพักอยู่บนชั้น 2 ของห้องเครื่อง เมื่อจำเลยรับรองว่าจะปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโรงงานโจทก์ไม่ให้ทรุด ลงต่อไป และใช้ชั้น 2 ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องเครื่องโรงงานโจทก์เป็นที่พักคนงานได้ตามเดิม การที่โจทก์ต้องรื้อที่พักคนงานชั้น 2 ดังกล่าว เพื่อมิให้ห้องเครื่องโรงงานโจทก์ทรุด ต่อไปและรื้อบ้านพักคนงานที่กำลังก่อสร้าง ค่าเสียหายทั้งสองประการนี้เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยโดยตรง ซึ่งจำเลยย่อมคาดเห็นหรืออยู่ในฐานะควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าไม่ใช่เป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ แต่ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่ากั้นห้องชั้น 2 ของโรงงานโจทก์นั้น เมื่อศาลกำหนดให้จำเลยรับผิดสำหรับค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่ารื้อที่พักคนงานชั้น 2 บนห้องเครื่องของโรงงานโจทก์แล้ว ค่าเสียหายในการกั้นห้องจึงเป็นค่าใช้จ่ายในการดัด แปลงชั้น 2 ของโรงงานโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รู้หรือควรจะได้รู้อยู่แล้วว่า หากซ่อมแซม แก้ไขมิให้อาคารโรงงานโจทก์ทรุด ต่อไปแล้ว จำเลยยังจะต้องกั้นห้องชั้น 2ของโรงงานโจทก์ให้ด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้.
of 3