คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชื่อการค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8779/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดสิทธิทางการค้า: การใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นโดยไม่สุจริต
ในเรื่องสิทธิในการใช้นามของบุคคลนั้น นอกจากจะมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 บัญญัติคุ้มครองไว้ ยังมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1) คุ้มครองสิทธิการใช้ชื่อทางการค้าไว้โดยไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิว่าการใช้นามหรือชื่อทางการค้าดังกล่าวจะต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใด
โจทก์ใช้คำว่า "BMW" หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า "บีเอ็มดับบลิว" เป็นทั้งชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้ารวมทั้งใช้เป็นชื่อบริษัทในเครือของโจทก์จนมีชื่อเสียงแพร่หลายในหลายประเทศมาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยใช้ชื่อว่า "บีเอ็มดับบลิว" ในปี 2539 โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อดังกล่าวและมีสิทธิใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้าในประเทศไทยได้แม้ก่อนปี 2539 จะไม่ปรากฏว่าโจทก์เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยเองหรือจัดตั้งบริษัทในเครือโดยใช้ชื่อนี้ก็ตาม
จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการใช้ชื่อพ้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่แพร่หลายอยู่ก่อนแล้ว จะทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์แต่ยังจดทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ว่า "บีเอ็มดับบลิว" พ้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้ชื่อนี้ในกิจการค้าสินค้าของจำเลยทั้งสองโดยมุ่งหมายที่จะนำชื่อเสียงเกียรติคุณอันมีคุณค่าของโจทก์มาใช้เป็นประโยชน์แก่กิจการค้าของตนโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิใช้นามหรือชื่อดังกล่าวได้โดยชอบการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า "BMW" ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5,18 และ 421 โจทก์ผู้มีสิทธิโดยชอบที่จะใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าว ซึ่งต้องเสื่อมเสียประโยชน์จากการใช้ชื่อโดยมิชอบของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการมิให้ใช้ชื่อดังกล่าว หรือให้เปลี่ยนชื่อเสียได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า "BMW" ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และได้รับจดทะเบียนในประเทศไทยสำหรับสินค้ารถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และส่วนควบของรถครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม2509 สินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า"BMW" มีการจำหน่ายไปทั่วโลกเป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว จำเลยทั้งสองเพิ่งนำคำว่า"บีเอ็มดับบลิว" มาจดทะเบียนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539กฎหมายห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปไม่ว่าสำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใด แม้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือสำนักงานการค้านั้นจะประกอบการค้าขายสินค้าต่างจำพวกหรือต่างชนิดกับสินค้าของโจทก์ก็ตาม เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่สุจริต โจทก์มีสิทธิขัดขวางจำเลยทั้งสองในการใช้โดยไม่สุจริตซึ่งชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 อันเป็นชื่อสำนักงานการค้าของจำเลยทั้งสองและห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 47

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2360/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในชื่อการค้าและเครื่องหมายการค้า: การคุ้มครองชื่อที่ใช้ก่อนและป้องกันการใช้ในธุรกิจที่คล้ายคลึง
โจทก์ประกอบกิจการโรงแรมโดยใช้ชื่อทางการค้าและใช้เครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะคำว่า "Comfort Inn" จนมีชื่อเสียงแพร่หลายไปทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2524 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะดำเนินธุรกิจให้เช่าห้องพักในรูปแบบเกสต์เฮาส์โดยใช้ชื่อว่า "Comfort Inn" และใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า "Comfort Inn Co,. LTD." ถึง 5 ปี และก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ (รูปสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยด้านล่างวงกลมมีข้อความ "Comfort Inn Co,. LTD.") เพื่อใช้กับบริการให้เช่าห้องพักและโรงแรมถึง 11 ปี เมื่อโจทก์ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "Comfort Inn" เป็นชื่อกิจการโรงแรมของโจทก์ เป็นเครื่องหมายบริการสำหรับธุรกิจโรงแรมของโจทก์ และเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องเขียน เช่น กระดาษ แผ่นการ์ด ซองจดหมาย และสิ่งพิมพ์โฆษณากิจการโรงแรมของโจทก์มาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะใช้คำว่า "Comfort Inn" เป็นชื่อกิจการเกสต์เฮาส์ให้เช่าห้องพักของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกิจการที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับกิจการโรงแรมของโจทก์ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะนำคำดังกล่าวมาใช้เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะนำคำดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องเขียน กระดาษ ซองจดหมาย และสิ่งพิมพ์โฆษณาต่าง ๆ ที่ใช้ในกิจการเกสต์เฮาส์ของจำเลยที่ 1 และก่อนที่จำเลยที่ 1 จะนำคำว่า "Comfort Inn" มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายบริการ (รูปสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยด้านล่างวงกลมมีข้อความ "Comfort Inn Co,. LTD.") หลายปี โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้ชื่อทางการค้าและที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "Comfort Inn" ดีกว่าจำเลยทั้งสาม
โจทก์ได้ประกอบกิจการโรงแรมโดยใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายบริการ และเครื่องหมายการค้าคำว่า "Comfort Inn" จนมีชื่อเสียงแพร่หลายไปทั่วโลกมาก่อน เมื่อจำเลยทั้งสามได้ทราบถึงกิจการโรงแรมของโจทก์ที่ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "Comfort Inn" แล้วนำคำดังกล่าวมาใช้กับกิจการเกสต์เฮาส์ของจำเลยทั้งสาม การที่จำเลยทั้งสามใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "Comfort Inn " เป็นชื่อธุรกิจเกสต์เฮาส์เพื่อให้เช่าห้องพัก และใช้เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "Comfort Inn Co., LTD." กับใช้ชื่อทางการค้าที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "Comfort Inn" กับสินค้ากระดาษ ซองจดหมาย ใบสั่งซักรีดเสื้อผ้า กระดาษห่อสบู่ ใบสั่งจองห้องพัก ใบเสร็จรับเงิน และแผ่นพับโฆษณาธุรกิจเกสต์เฮาส์เพื่อให้เช่าห้องพักของจำเลยทั้งสาม และใช้คำว่า "COMFORT INN โรงแรมคอมฟอร์ต อินน์" พิมพ์ไว้ที่ถุงพลาสติกที่ใช้ใส่แก้วน้ำในห้องพัก ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าเดียวกันกับชื่อทางการค้าของโจทก์และใช้กับกิจการโรงแรมหรือเกสต์เฮาส์ที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับกิจการของโจทก์ ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่ากิจการบริการของจำเลยทั้งสามเป็นกิจการบริการของโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องขาดรายได้จากลูกค้าโรงแรมของโจทก์ในประเทศไทยซึ่งสับสนหลงผิดไปใช้บริการของจำเลยทั้งสามได้ เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "Comfort Inn" โจทก์จึงมีสิทธิห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "Comfort Inn" ของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติมาตรา 18 แห่ง ป.พ.พ.
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "Comfort Inn" สำหรับธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยดีกว่าจำเลยทั้งสาม ห้ามจำเลยทั้งสามใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "Comfort Inn" ของโจทก์ในการประกอบธุรกิจโรงแรมของจำเลยทั้งสามในประเทศไทย และห้ามจำเลยทั้งสามใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "Comfort Inn" ซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกกระดาษ การ์ด สิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์โฆษณา ภาพพิมพ์ รูปภาพ และรูปถ่ายเท่านั้น ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Comfort Inn" ดีกว่าจำเลยทั้งสาม และห้ามจำเลยทั้งสามใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกดังกล่าว จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าที่ทำให้สับสน: ห้ามใช้ชื่อ/เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของผู้อื่นจนเกิดความเสียหาย
จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้นามภาษาไทยว่า 'บริษัทยอร์ค จำกัด' แม้จำเลยจะใช้นามเป็นภาษาอังกฤษซึ่งส่วนหนึ่งมีคำว่า 'YORK' ตรงกับส่วนหนึ่งของนามโจทก์ที่2 แต่นามภาษาไทยและนามเต็มภาษาอังกฤษก็แตกต่างกับนามโจทก์ที่ 2 จำแนกได้ชัดแจ้งว่ามิใช่นิติบุคคลเดียวกันอนึ่ง โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศไม่ปรากฏว่าได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ทั้งไม่ได้ความว่าการใช้นามของจำเลยทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ประการใด จึงไม่มีเหตุจะห้ามจำเลยใช้นามของจำเลย
โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า 'YORK' ในประเทศไทยสำหรับสินค้าจำพวก 6 และ 18 ผู้อื่นจึงไม่มีสิทธินำเครื่องหมายการค้านั้นไปใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจำเลยใช้คำว่า 'YORKINC.LTD.' สำแดงให้ปรากฏกับสินค้าจำพวก 6 ประเภทเครื่องปรับอากาศที่จำเลยผลิตออกจำหน่าย โดยคำว่า 'YORK' ใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่มีลักษณะเหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 คำว่า 'INC.LTD.' ใช้ตัวอักษรขนาดเล็ก ได้ความว่า ส. กรรมการแต่ผู้เดียวของบริษัทจำเลยเคยเป็นตัวแทนช่วงจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยมาก่อน สินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศของจำเลยก็มีรูปลักษณะส่วนใหญ่เหมือนของโจทก์ที่ 1 แม้จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยให้ปรากฏควบคู่อยู่ด้วยแต่ก็เป็นตัวอักษรขนาดเล็ก พฤติการณ์ต่างๆ ประกอบกันฟังได้ชัดแจ้งว่า จำเลยมุ่งหวังใช้คำว่า'YORK' ให้เป็นที่สังเกตในลักษณะเครื่องหมายการค้า เป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 หรือโจทก์ที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยการกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โจทก์ที่ 1 มีสิทธิขอให้ห้ามได้
ปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่นั้น มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2519

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อการค้าที่คล้ายกันในธุรกิจต่างประเภท ไม่ทำให้เกิดความสับสนและเสียหายต่อผู้อื่น จึงไม่ถือเป็นการละเมิด
แม้โจทก์จะได้ใช้คำว่า SHERATON มาเป็นเวลาช้านาน และเป็นคำสำคัญในชื่อโรงแรมของโจทก์ ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ฯ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โจทก์ประกอบธุรกิจ เฉพาะโรงแรม ส่วนจำเลยทำการค้าเพชร พลอย เครื่องประดับ ฯลฯอันเป็นธุรกิจที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กัน ไม่อาจที่จะเห็นได้ว่ามีการซับซ้อนอย่างแท้จริงได้ สำหรับกิจการของโรงแรมโจทก์กับกิจการของห้างจำเลยหรือชื่อของห้างจำเลยนั้นจะทำให้เกิดความสับสนหรือความเข้าใจผิดขึ้นระหว่างชนทั่วไปแก่โรงแรมโจทก์ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่กิจการของโจทก์ก็หาไม่ การที่โจทก์ใช้คำว่า SHERATON ประทับไว้ในบรรดาสิ่งของเครื่องใช้ของโรงแรมโจทก์ และพิมพ์บนกระดาษเขียนจดหมาย ภาพถ่าย กลักไม้ขีด และอื่น ๆ เป็นเพียง มุ่งหวังโฆษณาชี้ชวนในกิจการโรงแรมของโจทก์เป็นประการสำคัญหาทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้ห้ามจำเลยตามฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 901/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความแตกต่างของชื่อการค้าปุ๋ยเคมีปลอม ไม่ถึงขั้นศาลต้องยกฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ
แม้ทางพิจารณาได้ความว่าปุ๋ยเคมีปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเพื่อการค้าและร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอม เป็นปุ๋ยสูตร 16 - 8 - 8 ชื่อการค้า ท๊อปพรอดคัท เครื่องหมายการค้า ตรามังกรเรือ ทะเบียนเลขที่ 2438/2551 และข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องปรากฏว่าปุ๋ยเคมีปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเพื่อการค้าและร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอม เป็นปุ๋ยสูตร 16 - 8 - 8 ชื่อการค้า มังกรเรือ เครื่องหมายการค้า ตรามังกรเรือ ทะเบียนเลขที่ 2438/2551 ก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวก็แตกต่างกันเฉพาะชื่อการค้าเท่านั้น ส่วนสูตร เครื่องหมายการค้า เลขทะเบียน และผู้ผลิต ยังคงตรงตามคำฟ้อง เมื่อผลคือปุ๋ยเคมีปลอมที่ผลิตเพื่อการค้าและขายปุ๋ยเคมีปลอมดังกล่าวเป็นปุ๋ยเคมีปลอมอันเกิดจากการร่วมกันผลิตและร่วมกันขายของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงเป็นการแตกต่างกันในข้อที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ให้การรับสารภาพแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าว ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องจนศาลต้องยกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง