คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ซื้อขายห้องชุด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9168/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อ และประเด็นฎีกาไม่เป็นสาระ/ต้องห้ามฎีกา คดีซื้อขายห้องชุด
ห้องชุดย่อมเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 466 ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่ามาตรา 466 ที่ศาลล่างทั้งสองยกขึ้นมาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงในคดีควรเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ดินซึ่งสามารถดำเนินการรังวัดสอบเขตได้โดยชัดเจน และสามารถคำนวณหาพื้นที่ได้อย่างสะดวก จะนำมาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงในการจะซื้อจะขายห้องชุดไม่ได้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องฎีกาจำเลยไม่มีลายมือชื่อผู้ฎีกา จึงเป็นคำฟ้องฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) แต่เมื่อฎีกาจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย และฎีกาของจำเลยข้ออื่นต้องห้ามฎีกา คดีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อจัดการให้มีการลงลายมือชื่อผู้ฎีกาให้ถูกต้องต่อไป ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ศาลฎีกาพิพากษายกฎีกาจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4128/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายห้องชุด การแยกสัญญาซื้อขาย และผลของการผิดนัดโอน
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้ชำระภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนรวมกัน การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดและสัญญาซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ แยกออกเป็น 2 ฉบับ จึงเป็นสิทธิโดยชอบของจำเลยที่จะกระทำได้ ทั้งโจทก์ยินยอมทำสัญญากับจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดและสัญญาซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ย่อมมีผลสมบูรณ์ หาใช่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ไม่
ตามสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดระบุเนื้อที่ประมาณ50 ตารางเมตร แม้ความจริงแต่ละห้องมีเนื้อที่เพียง 45.31 ตารางเมตร ก็ตามแต่ก็มีเนื้อที่น้อยกว่าที่ประมาณไว้ในสัญญาไม่มาก จึงไม่เพียงพอที่จะถือว่าโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม อันจะทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 156 สำหรับแผ่นภาพโฆษณาและใบแจ้งราคาและเนื้อที่ห้องชุดของจำเลยที่ระบุเนื้อที่ 50 ตารางเมตร เป็นเพียงหนังสือเชิญชวนบุคคลทั่วไปให้สนใจในห้องชุดดังกล่าวเท่านั้น หามีผลต่อคดีไม่
เมื่อจำเลยก่อสร้างห้องชุดเสร็จ จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ไปรับโอนห้องชุด 2 ครั้ง แต่โจทก์ไม่ไปตามนัดในการแจ้งโอนครั้งที่ 2 โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด การที่โจทก์ไม่ทราบเรื่องเพราะโจทก์อยู่ต่างประเทศย่อมไม่เป็นข้อแก้ตัวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยและริบเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วจึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5193/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดนัดชำระราคาซื้อขายห้องชุด, ผลของการชำระเงินที่ไม่ครบถ้วน, และความรับผิดของตัวแทน
การยกข้อกฎหมายขึ้นมาปรับบทนั้นจะต้องปรับบทกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติโดยข้อเท็จจริงนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบซึ่งได้วินิจฉัยแล้วตามประเด็นหรือเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความยอมรับคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ผิดนัดนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระถึงวันที่ชำระเงินอัตราร้อยละสิบสองต่อปีตามสัญญาและค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้าที่โจทก์จ่ายแทนไปจำเลยที่1ให้การว่าจำเลยที่1ได้ชำระราคาส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่ได้ค้างชำระค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อ4ว่าจำเลยที่1เป็นฝ่ายผิดนัดชำระราคาส่วนที่เหลือตามฟ้องหรือไม่และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดดังนั้นที่ว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่คือต้องรับผิดตามสัญญาตามฟ้องนั่นเองหากไม่ต้องรับผิดด้วยเหตุที่โจทก์มิได้บอกสงวนสิทธิว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองด้วยในเวลาที่โจทก์รับชำระหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองก็เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้บอกสงวนสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองในเวลาที่โจทก์รับชำระหนี้หรือไม่อันเป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหากจึงจะปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา381ได้โดยจำเลยต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ว่าโจทก์มิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองในเวลาที่โจทก์รับชำระหนี้แต่จำเลยทั้งสองมิได้ให้การแก้คดีในข้อหาดังกล่าวไว้คดีจึงไม่มีประเด็นดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยยังไม่ได้ชำระค่าดอกเบี้ยในส่วนที่ผิดนัดชำระราคาห้องชุดที่เหลือโดยโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแต่จำเลยไม่ชำระจึงได้เชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่2เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่1ในการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดจำเลยที่2จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1นั้นปัญหานี้จำเลยที่2ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่2เป็นตัวแทนจำเลยที่1ในการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่2เป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิซื้อห้องชุดนั้นปัญหานี้จำเลยที่2ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเช่นกันฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายห้องชุดเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ถือเป็นการฉ้อฉล เพิกถอนได้
การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับจำเลยที่ 1 โดยก่อนจะมีการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ 2 รวม 10 ฉบับ เป็นเงิน 597,000 บาท ภายหลังจากเช็คถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 2 นำเช็คทั้งสิบฉบับไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จึงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ซึ่งจำเลยที่ 2 รับเช็คไว้ถึง 10 ฉบับ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีอาชีพปล่อยเงินกู้ อีกทั้งไม่เคยรับแลกเช็ค เพิ่งทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก การที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 จึงผิดปกติวิสัยหลายประการ ประการแรก คือ พฤติการณ์ที่ลุงของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่กล้าให้จำเลยที่ 1 แลกเช็ค แต่แนะนำให้จำเลยที่ 1 นำเช็คมาแลกเงินสดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของตนเอง ประการต่อมาเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเงินสดทั้งสิบฉบับล้วนเป็นเช็คของคนอื่น ไม่ใช่เช็คของจำเลยที่ 1 และเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดแทนที่จำเลยที่ 2 จะรีบนำเช็คแต่ละฉบับไปเรียกเก็บเงินทันที กลับปล่อยเวลาล่วงเลยไป จึงเพิ่งนำไปเรียกเก็บเงินพร้อมกัน และต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองต่อจำเลยที่ 3 ในวันเดียวกัน อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังได้ทำบันทึกว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับโอนห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ตามเช็คทั้งสิบฉบับ รวมเป็นเงิน 597,100 บาท และหนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อเหตุผล เพราะกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่จำเลยที่ 2 รับโอนมีราคาประมาณ 400,000 บาท อีกทั้งยังจำนวนแก่จำเลยที่ 3 เป็นประกันหนี้อยู่ประมาณ 270,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วจึงยังต้องรับภาระชำระหนี้จำนองดังกล่าวด้วย แต่จำเลยที่ 2 กลับทำบันทึกว่า หนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ทั้งช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 และทำสัญญารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด อยู่ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ดังกล่าว จึงเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดโดยรู้ว่าจะเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์
โจทก์ได้ไปตรวจสอบเอกสารกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่สำนักงานที่ดิน เขตลาดพร้าว วันที่ 2 มีนาคม 2542 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนคือวันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันฟ้อง จึงเป็นระยะเวลาไม่พ้นหนึ่งปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7983/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายห้องชุด เนื้อที่เกินร้อยละ 5 ผู้ซื้อมีสิทธิบอกปัดสัญญาได้ แม้มีข้อตกลงทั่วไป
สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาททั้งสิบระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 3.2 ระบุว่า ในกรณีที่อาคารชุดยังดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปรากฏว่ามีเนื้อที่ห้องชุดเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากจำนวนที่ระบุในสัญญา คู่สัญญาตกลงคิดราคาห้องชุดตามส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในราคาต่อหน่วยตามที่กำหนดในข้อ 3.1 และให้นำราคาห้องชุดส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงไปเพิ่มหรือลดลงจากราคาห้องชุดตามข้อ 3.1 และจำนวนเงินที่ต้องชำระตามข้อ 4.2 ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระบุไว้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ยกเว้นบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 466 ไว้โดยชัดแจ้งว่าผู้ซื้อจะไม่ยกเรื่องเนื้อที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุในสัญญาตั้งแต่ร้อยละห้าขึ้นไปเป็นข้ออ้างบอกปัดไม่ยอมรับ ไม่ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวยกเว้นไม่ให้นำมาตรา 466 มาใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 466 ดังนั้น เมื่อเนื้อที่ห้องชุดพิพาททั้งสิบมีเนื้อที่มากไปกว่าที่ระบุในสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะบอกปัดไม่รับเสียหรือจะรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคหนึ่ง