คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ซื้อฝาก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 30 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมขายฝากเนื่องจากเจ้าของทรัพย์ติดตามคืนทรัพย์สิน และความประมาทเลินเล่อของผู้ซื้อฝาก
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนอง จำนองและขายฝากให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จึงไม่มีกำหนดอายุความ
การที่จำเลยที่ 4 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเงินถึง 2,500,000 บาท โดยรู้เห็นอยู่แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจมีเพียงลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งไม่มีข้อความว่ามอบอำนาจให้ทำสิ่งใดและรู้เห็นถึงการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 4 เอง ที่หลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการที่โจทก์เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821, 822 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 4 นิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินมือเปล่า: ผู้ซื้อฝากโดยสุจริตได้สิทธิเหนือผู้ครอบครองเดิมที่ไม่จดทะเบียน
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 มิใช่หนังสือสำคัญแสดงการกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่การได้มาของโจทก์เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้มีสิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สิทธิในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6396/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กลฉ้อฉลซื้อขายที่ดิน โมฆียะกระทบสัญญาซื้อฝาก บุคคลภายนอกต้องรับผล
แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 16 ระบุว่า ซื้อขายราคา 2,000,000 บาท โจทก์ทั้งสองนำสืบถึงข้อสัญญาแท้จริงได้เพราะในทางปฏิบัติคู่สัญญาซื้อขายที่ดินมักจะแจ้งราคาที่ซื้อขายกันตามราคาประเมิน เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน กรณีดังกล่าวมิใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรมการซื้อขายโดยอ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวง
จำเลยที่ 1 วางแผนหลอกลวงโจทก์ทั้งสองมาแต่ต้นโดยมิได้เจตนาจะซื้อที่ดินพิพาทอย่างแท้จริง เพียงแต่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทโดยที่จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาชำระราคาที่ดินและใช้กลอุบายหลอกลวงโจทก์ทั้งสองให้ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดถ้ามิได้ปกปิดข้อเท็จจริงเช่นนั้น การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทก็คงมิได้เกิดขึ้น การจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ฟ้องโจทก์จึงเป็นเรื่องการทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินอันเป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม ย่อมถือว่าโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมนั้นแล้ว
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในทันทีที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองโดยแจ้งหลักฐานที่อยู่ของตนเองไม่ตรงตามความเป็นจริง ย่อมเป็นข้อพิรุธน่าสงสัยให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ทั้งสองด้วยวิธีการอันไม่ถูกต้องชอบธรรม กรณีของจำเลยที่ 2 จึงเข้าข่ายของบุคคลภายนอกผู้ได้ที่ดินมาโดยไม่สุจริต การบอกล้างโมฆียะของโจทก์ทั้งสองเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 ย่อมยกเป็นข้อต่อสู้ตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิขอเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1866/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงจากการแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อหลอกลวงให้ซื้อฝาก
จำเลยมีเจตนาทุจริตนำชี้ที่ดินแปลงของผู้อื่นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ประสงค์จะขายฝากแก่ผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและรับซื้อฝากที่ดินแปลงของจำเลยไว้ จำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามป.อ.มาตรา 341

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมกันหลอกลวงโจทก์ซื้อฝากที่ดินโดยใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารปลอม
จำเลยที่ 1 ติดต่อบอกขายที่ดินแก่โจทก์ร่วม 2 แปลง และนัดหมายไปดูที่ดินกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาโจทก์ร่วมและสามีไปดูที่ดินทั้งสองแปลง แต่โจทก์ร่วมไม่ชอบ จึงได้เสนอขายที่ดินแปลงพิพาทและจำเลยทั้งสองยังได้ร่วมกันพาโจทก์ร่วมไปดู ทั้งยังชี้หลักเขตที่ดินซึ่งเป็นหลักเขตปลอม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นที่ดินแปลงพิพาท จึงรับซื้อฝากไว้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นตัวการร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมและร่วมกับจำเลยที่ 3 ฉ้อโกง
การที่จำเลยทั้งสองใช้เอกสารราชการปลอมแสดงต่อโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมหลงเชื่อยอมรับซื้อฝากที่ดินไว้เป็นการกระทำโดยมีเจตนาฉ้อโกงด้วยแต่การกระทำความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมและความผิดฐานฉ้อโกงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษบทหนักตามป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมคบกันฉ้อฉลและยักย้ายทรัพย์มรดก ทำให้การซื้อฝากเป็นโมฆะ และตัดสิทธิการยกอายุความ
จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของ บ. โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมรดกที่ยังมิได้แบ่งแก่โจทก์ทั้งหกผู้เป็นทายาทของ บ. อันเป็นการรับซื้อฝากไว้โดยไม่สุจริต เป็นการทำให้โจทก์ทั้งหกผู้เป็นทายาทซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์ทั้งหก โจทก์ทั้งหกชอบที่จะร้องขอให้เพิกถอนการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. อ้างว่าบ. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเพียงคนเดียวคือ ย. ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงบ. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 3 คน คือ ด. จ. และ ย. และเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองแต่ผู้เดียว ไม่จัดการแบ่งปันแก่ทายาท โดยปกปิดเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำหน้าที่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าไม่มีทายาทอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปิดบังและยักย้ายทรัพย์มรดก จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของ บ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปิดบังและยักย้ายทรัพย์มรดก จำเลยที่ 1เป็นผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะยกอายุความมาตัดสิทธิโจทก์ทั้งหก สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นทายาท จึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 ได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 276/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากความประมาทเลินเล่อในการจดทะเบียนที่ดิน ทำให้เกิดความเสียหายจากการซื้อฝาก
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิด เนื่องจากประมาทเลินเล่อไม่ปฎิบัติตามระเบียบของทางราชการในการตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ในขณะที่ ว.จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทโดยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมเป็นเหตุให้ ว.นำที่ดินพิพาทมาขายฝากให้โจทก์ทั้งสี่ ต่อมาเจ้าของที่ดินพิพาทได้ฟ้องว. โจทก์ที่ 2 และที่ 4 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ขอให้เพิกถอนการขายฝาก และศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝาก ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดฐานละเมิด มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เกี่ยวกับเรื่องนิติกรรมหรือสัญญา แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะมิได้มีชื่อเป็นผู้รับซื้อฝากในสารบัญจดทะเบียน โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ก็มีอำนาจฟ้อง
แม้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในคดีที่เจ้าของที่ดินพิพาทฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากหรือจำเลยที่ 4 และที่ 3 ในคดีนี้ได้ฎีกาขอให้ตนเองไม่ต้องรับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียม ซึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ในคดีดังกล่าวหรือโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ในคดีนี้ก็ได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วย เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด จึงยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาแล้วคดีจึงยุติฟังได้ว่าบุคคลใดบ้างมีส่วนกระทำละเมิดและต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีจึงเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งเป็นวันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้แทนของจำเลยที่ 4 ปฏิบัติราชการในหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 4 โดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4708/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อฝากโดยสุจริตและผลกระทบของลายมือชื่อที่ไม่สมบูรณ์ต่อสิทธิของบุคคลภายนอก
ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 รับซื้อฝากที่พิพาทโดยทุจริตแต่อย่างใด โจทก์อ้างเพียงว่า สัญญาขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจขายฝากที่พิพาทเท่านั้น จำเลยที่ 2ที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า รับซื้อฝากที่พิพาทไว้โดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6
การที่ตัวการลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความไว้ ภายหลังจำเลยที่ 1 โดยทุจริตได้นำใบมอบอำนาจดังกล่าวไปกรอกข้อความแล้วขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือจำเลยที่ 1 ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่า การอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของตัวการย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 249/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ซื้อฝากที่ดินเพื่อหากำไร: การนับรวมรายได้เพื่อเสียภาษีและสถานะผู้ประกอบการค้า
การที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันรับซื้อฝากที่ดิน แล้วแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวระหว่างที่ยังอยู่ในระยะเวลาขายฝาก และเมื่อที่ดินหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองเพียง 5 เดือน โจทก์ทั้งสองก็ขายที่ดินต่อให้บุคคลอื่นไป แสดงว่าโจทก์ทั้งสองร่วมกันรับซื้อฝากที่ดินดังกล่าวไว้โดยมุ่งในทางการค้าหากำไรเงินได้จากการขายที่ดินต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ประกอบการค้าอสังหาริมทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้าที่ 11.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2977/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยเจ้าพนักงานที่ดินไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ซื้อฝากที่ดินจากผู้แอบอ้าง เนื่องจากไม่มีความประมาทในการตรวจเอกสาร
โฉนดที่ดินของกลางกับโฉนดที่ดินที่แท้จริงพิมพ์จากแม่พิมพ์เดียวกันลายมือชื่อต่าง ๆ ก็เป็นลายมือชื่อที่เขียนด้วยวิธีลอกทาบแบบจากลายมือชื่อที่แท้จริงในโฉนด เป็นโฉนดปลอมที่ทำเหมือนของจริงดูได้ยากด้วยตาเปล่าลายมือชื่อผู้ขายฝากมองดูอย่างบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ไม่มีเหตุสงสัยว่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน โจทก์ยอมลงชื่อในบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายฝากว่า ได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรงหากเกิดผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของที่ดิน โจทก์ขอรับผิดชอบตัวเองข้อความดังกล่าวเป็นอักษรตรายาง อ่านง่ายและมีความหมายชัดเจน จะอ้างว่ามิได้อ่านและไม่เข้าใจความหมายฟังไม่ขึ้น โจทก์มีส่วนประมาทการที่เจ้าพนักงานที่ดินจำเลยให้ความสะดวกในการจดทะเบียน ตลอดจนตรวจบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขายฝากแล้วยังไม่ทราบว่าไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่แท้จริง ไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำด้วยความประมาท จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
of 3