คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ซ่อม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับตามสัญญาประกันภัย: โจทก์ขอสิ่งนอกเหนือการซ่อม/เปลี่ยนชิ้นส่วนที่รับประกัน
ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่ามีความชำรุดบกพร่องของระบบเกียร์อันเป็นวัสดุที่จำเลยรับประกันไว้ว่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนให้ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ โจทก์จึงบังคับให้จำเลยซ่อมหรือเปลี่ยนเกียร์ให้โจทก์ใหม่เพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติเท่านั้น แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์กลับขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 438,000 บาท เท่ากับราคารถยนต์พิพาท หรือให้จำเลยนำรถยนต์คันใหม่ที่มีลักษณะเหมือนรถยนต์พิพาทและมีสภาพใช้งานได้ดีมาเปลี่ยนให้โจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือจากที่จำเลยได้รับประกันไว้โจทก์ไม่อาจบังคับจำเลยโดยอาศัยข้อตกลงรับประกันดังกล่าวได้ จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจบังคับให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อยกเว้นความรับผิดกรมธรรม์ประกันภัย: การเคลือบสีไม่ใช่การซ่อม และอู่ตามพจนานุกรม
โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่ ช. ขับไปชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไว้กับจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงร่วมกันฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามกรมธรรม์ประกันภัยเนื่องจากรถยนต์คันที่โจทก์ที่ 1 เอาประกันภัยไว้และรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหาย โจทก์ทั้งสองจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี กระบวนพิจารณาซึ่งทำโดยโจทก์ที่ 1ถือว่าได้ทำโดยโจทก์ที่ 2 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1)
คำว่า "อู่" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า "ที่ที่ต่อหรือซ่อมรถหรือเรือ"เมื่อโจทก์ที่ 1 นำรถยนต์กระบะของตนไปทำการเคลือบสีและพ่นกันสนิมเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการนำไปให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดค.ทำการซ่อมแล้วให้ช. ซึ่งเป็นบุคคลของห้างดังกล่าวใช้อันจะเป็นเหตุต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการใช้โดยบุคคลของอู่เมื่อรถยนต์ได้มอบให้อู่ซ่อม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขาดประโยชน์จากรถยนต์: ความเสียหายหลังซ่อม กับ การไม่ชำระค่าซ่อม
แม้ว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7.5 ระบุว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ ซึ่งหมายความว่า จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายส่วนที่เกิดแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยที่ไม่อาจใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่ประกันภัย เนื่องจากอุบัติเหตุจนรถยนต์เสียหายใช้การไม่ได้ กล่าวคือ ค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้เริ่มนับแต่รถยนต์ที่ประกันภัยเกิดอุบัติเหตุเสียหายใช้การไม่ได้จนกระทั่งซ่อมเสร็จใช้การได้ตามปกติ โจทก์จะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะเข้ายกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7.5 ดังกล่าวก็ตาม แต่ความเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของโจทก์ตามฟ้อง เป็นค่าขาดประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังจากซ่อมรถยนต์ของโจทก์เสร็จแล้วและเกิดจากเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระค่าซ่อมครบถ้วนแก่ผู้ซ่อม ทำให้ผู้ซ่อมใช้สิทธิยึดหน่วงรถยนต์ของโจทก์ไว้ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของโจทก์ดังกล่าว เป็นคนละส่วนกับค่าขาดประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเพราะเกิดจากคนละเหตุ โจทก์จึงเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3411/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการทำละเมิด: การประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมและการควบคุมดูแลทรัพย์สินที่เสียหาย
เมื่อรถจักรดีเซลของโจทก์เสียหายเนื่องจากการทำละเมิดและต้องนำมาซ่อมในโรงงานของโจทก์ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงาน เช่น ค่าน้ำ ค่าเชื้อเพลิง ค่าเครื่องจักรเครื่องมือกลต่าง ๆ และค่าเสื่อมราคาโรงงาน ส่วนค่าควบคุมนั้นโจทก์ต้องใช้หัวหน้าหน่วยตลอดสายงานมาควบคุมดูแลการซ่อม จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการทำละเมิด เพราะถ้าไม่มีการทำละเมิดเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย โจทก์ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานและค่าควบคุมดังกล่าว แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายแท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานและค่าควบคุมตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 การที่วันเกิดเหตุโจทก์ต้องจัดขบวนรถพิเศษจากสถานีรถไฟนครสวรรค์ไปยังที่เกิดเหตุเพื่อยกรถจักรที่ตกราง เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนี้แน่นอน จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ แต่เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เสียหายไปเพียงใด ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์เช่นกัน ศาลได้กำหนดให้จำเลยรับผิดในค่าเบี้ยเลี้ยงพนักงานของโจทก์ที่ไปทำการยกหัวรถจักรที่ตกรางให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าอาหารเลี้ยงพนักงานดังกล่าวจากจำเลยอีก