คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดอกเบี้ยค้างชำระ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 18 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2261/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความดอกเบี้ยค้างชำระจากการผ่อนผันการชำระหนี้ซื้อขาย
การซื้อขายปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปุ๋ยไม่ครบจำนวนในวันทำสัญญา โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี หากชำระเกิน 12 เดือน ถือว่าผิดนัดผิดสัญญาคิดดอกเบี้ยในส่วนที่เกิน 12 เดือน ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระจึงเป็นดอกเบี้ยค้างส่งหรือค้างชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7976/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระ ศาลมีอำนาจนำเงินที่จำเลยชำระแล้วมาหักออกจากยอดหนี้ตามคำฟ้องได้
โจทก์ฟ้องบังคับจำนองจำเลยในต้นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 ปีเศษ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวจำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์บางส่วนและนำมาหักจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าครบกำหนดชำระดอกเบี้ยจำเลยไม่ชำระ จึงต้องถือว่าตามคำฟ้องดังกล่าวโจทก์คิดคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระจากจำเลยเต็มจำนวนตั้งแต่วันจดทะเบียนจำนองจนถึงวันฟ้อง แม้ในตอนท้ายของคำฟ้อง โจทก์จะมีคำขอบังคับให้ชำระดอกเบี้ยเพียง 5 ปี เป็นจำนวน 225,000 บาท แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ยอมรับว่า จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว จำนวน 150,000 บาท ซึ่งทำให้ยอดหนี้ค่าดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องลดลง ศาลจึงมีอำนาจที่จะนำเงินที่จำเลยชำระมาหักออกจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระที่โจทก์ขอมาก่อนวันฟ้องได้ ดังนั้นเมื่อหักค่าดอกเบี้ยที่จำเลยชำระมาแล้วจำนวน 150,000 บาท จึงคงเหลือจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 75,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้หลังยื่นฟื้นฟูกิจการ: สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระ
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มีข้อตกลงว่า ภายหลังทำสัญญาหากมีเหตุการณ์กรณีมีการไม่ชำระเงินตามสัญญาหรือกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายได้ถูกริเริ่มขึ้น หรือลูกหนี้ถูกตัดสินชี้ขาดว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีการประชุมเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ตกลงชี้ขาดเป็นประการอื่นให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้ว และต้องชำระดอกเบี้ยค้างจ่ายที่คำนวณจากมูลหนี้เดิมก่อนทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยยอมรับว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว และต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่อาจชำระเงินตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อีกต่อไปเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิในการชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 (9) จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าถูกหนี้ไม่ชำระเงินตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ และถูกตัดสินชี้ขาดว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการเรียกประชุมเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ตกลงชี้ขาดเป็นประการอื่น ลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องผูกพันปฏิบัติตามผลของสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยค้างชำระตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4956/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระของเจ้าหนี้หลังการประมูลหุ้นกู้และฟื้นฟูกิจการลูกหนี้
เจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นกู้ของลูกหนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าลูกหนี้จะชำระดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และวันที่ 2 สิงหาคม ลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2541 ต่อมาเจ้าหนี้ถูกระงับการดำเนินกิจการและไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้และองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ได้นำหุ้นกู้ของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ถือไว้ออกประมูลขาย ในการขายหุ้นกู้ดังกล่าว ปรส. ได้ออกข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์การประมูลหุ้นกู้และหุ้นกู้แปลงสภาพภาคเอกชน ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2541 กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องกรอกราคาประมูลต่อหน่วยของหุ้นกู้ที่ต้องการจะประมูล โดยต้องแสดงด้วยราคาที่รวมดอกเบี้ยค้างรับต่อหน่วยตามสูตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้อธิบายถึงคำว่าดอกเบี้ยค้างรับในกรณีที่การซื้อขายหุ้นกู้ไม่ได้อยู่ในช่วงปิดพักทะเบียนว่าหมายถึงจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ต้องชดเชยแก่ผู้ขายตามสัดส่วน โดยคิดตามจำนวนวันนับจากวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ยงวดล่าสุดก่อนส่งมอบจนถึงวันที่ส่งมอบในการประมูลขายหุ้นกู้ดังกล่าวจึงเป็นการประมูลไปซึ่งมูลค่าของหุ้นกู้รวมถึงสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยเพียงนับจากวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ยงวดล่าสุดก่อนส่งมอบหุ้นกู้จนถึงกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้อันผู้ประมูลมีสิทธิได้รับ แต่มิได้ประมูลขายดอกเบี้ยค้างชำระที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้รวมไปด้วย ทั้งตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรา 54 ห้ามมิให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ แก่บุคคลที่มิได้มีชื่อในทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ ประกอบกับในหนังสือชี้ชวนให้ซื้อหุ้นกู้ของลูกหนี้ยังกำหนดให้นายทะเบียนหุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแต่ละงวดให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นเช็คขีดคร่อมห้ามเปลี่ยนมือสั่งจ่ายในนามผู้ถือหุ้นที่ปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ เช่นนี้ ย่อมหมายความว่าในวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละงวด นายทะเบียนจะต้องจ่ายให้แก่บุคคลที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ เมื่อขณะที่ถึงกำหนดจ่ายดอกเบี้ยเจ้าหนี้ยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นกู้อยู่ยังมิได้โอนไปยังผู้ประมูลซื้อได้ สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ค้างชำระดังกล่าวจึงเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการคิดดอกเบี้ยค้างชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 และอายุความ 5 ปี
ในคดีที่วินิจฉัยได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 238 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริง เป็นยุติว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดเมื่อวันที่22 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยค้างชำระต้นเงินจำนวน27,652.07 บาท อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บ ได้ในขณะสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดร้อยละ 15 ต่อปี แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1) ที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยที่ค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี นั้นหมายความว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่ วันฟ้องย้อนหลังลงไปได้ไม่เกิน 5 ปี ส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่ วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระ ตามความหมายแห่ง มาตรา 193/33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5220/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญากู้: สิทธิปรับขึ้นตามข้อตกลง & ดอกเบี้ยค้างชำระ
โจทก์เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยในสัญญากู้เงินฉบับพิพาท แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะกำหนดให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตามที่เห็นสมควร โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า แต่ก็มีข้อจำกัดไว้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและใช้บังคับได้
การที่โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นเพียงการทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วเท่านั้น มิได้เป็นการบอกเลิกสัญญา และตามสัญญากู้เงินฉบับพิพาทโจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตามที่เห็นสมควร และได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้บริษัทเงินทุนเรียกดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่บริษัทเงินทุนประกาศกำหนด ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป ซึ่งโจทก์ได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้าทั่วไปเป็นร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2535โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวได้ในอัตราร้อยละ 19ต่อปี ตั้งแต่วันที่ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นต้นไป เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามสัญญากู้เงิน แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีต่อไปได้เพราะถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น โจทก์จึงมีเหตุที่อ้างได้โดยชอบด้วยกฏหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7908/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกกล่าวบังคับจำนองและข้อตกลงทบยอดเงินต้นดอกเบี้ยค้างชำระ
การบอกกล่าวบังคับจำนอง กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือเท่านั้น มิได้กำหนดเป็นแบบไว้แต่อย่างไร การที่นาย ว.บอกกล่าวบังคับจำนองทางไปรษณีย์ตอบรับแต่ส่งไม่ได้ เนื่องจากหาที่อยู่จำเลยไม่พบ จึงได้ประกาศแจ้งบังคับจำนองทางหนังสือพิมพ์ให้จำเลยทราบ แม้การที่โจทก์มอบอำนาจให้นาย ว.บอกกล่าวบังคับจำนองมิได้ทำเป็นหนังสือ แต่การบอกกล่าวบังคับจำนองของนาย ว.ได้กระทำในนามโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้มอบอำนาจให้นาง บ. ดำเนินคดีกับจำเลยถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบัน การบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยทราบตาม ป.พ.พ.มาตรา 823 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อตกลงที่จำเลยยินยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน1 ปี มาทบกับยอดเงินกู้เป็นเงินต้นแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้เมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้ว ดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นเงินต้น ไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7649/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยค้างชำระทบต้นเงิน: สิทธิในการคิดดอกเบี้ยซ้ำเมื่อผิดนัด
สัญญากู้ยืมตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น มีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึง 1 ปี แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ผิดนัดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยค้างชำระหนี้ซื้อขาย: อายุความ 10 ปี มิใช่ 5 ปี หากเป็นดอกเบี้ยทดแทนค่าเสียหาย
เงินที่จำเลยที่1เป็นหนี้โจทก์ค่าซื้อปุ๋ยตามฟ้องเมื่อไม่ปรากฏตามสัญญาและหนังสือขอซื้อปุ๋ยเชื่อว่าในกรณีที่จำเลยที่1ค้างชำระหนี้ค่าปุ๋ยส่วนใดส่วนหนึ่งโจทก์ในฐานะผู้ขายมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ค้างชำระดังนั้นดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยที่1เพราะเหตุที่จำเลยที่1ค้างชำระหนี้ค่าปุ๋ยนับแต่วันที่จำเลยที่1ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224จึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างส่งตามมาตรา166(เดิม)หากแต่เป็นดอกเบี้ยที่กำหนดทดแทนค่าเสียหายภายหลังเมื่อศาลพิพากษาคดีอันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด10ปีตามมาตรา164เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกหนี้ร่วมต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยค้างชำระ แม้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยก่อน แม้มีข้อจำกัดตาม พรบ.ล้มละลาย
พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100 บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หาได้หมายความว่าหนี้ดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ระงับแล้วไม่ เมื่อหนี้ดอกเบี้ยภายหลังนั้นยังมีอยู่ลูกหนี้ไม่ว่าจะในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยหรือในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมก็ยังต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวลูกหนี้หาอาจยกข้อต่อสู้ตามบทบัญญัติดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งปวงและแก่ลูกหนี้ในคดีล้มละลายนั้นโดยเฉพาะขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีนี้หาได้ไม่เพราะมิฉะนั้นหากเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาด ทำให้เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลย ก็จะทำให้เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามเหตุผลเดียวกันได้ แต่กรณีหาเป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือหากเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยภายในกำหนด ลูกหนี้ก็ยังต้องรับผิดในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมเจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้หลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ไว้เด็ดขาด
of 2