คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดอกเบี้ยเกินสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดเมื่อครบกำหนดสัญญา การคิดดอกเบี้ยเกินสิทธิและวิธีการหักชำระหนี้
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทระบุว่า เมื่อถึงกำหนด12 เดือน ตามข้อ 1(คือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533) และไม่มีการ ต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลา กันใหม่ ผู้เบิกเงินเกินบัญชีและธนาคารตกลงกันให้มีการเบิกเงิน เกินบัญชีตามสัญญานี้ต่ออีกคราวละ 6 เดือน ตลอดไป หมายความ เพียงว่าหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเบิกเงินจากโจทก์ต่อไปโดยไม่มีการต่ออายุสัญญา เบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนังสือจึงจะเป็นการตกลงให้มี การเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน หาใช่ว่าเมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เบิกเงินจากโจทก์อีกต่อไป จะเป็นการตกลงให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน ตลอดไปไม่ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการต่อสัญญาเป็นหนังสือกันต่อไป และไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่านับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ จำเลยที่ 1ขอเบิกเงินจากบัญชีหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงิน เกินบัญชีต่อไป ทั้งไม่ปรากฏว่านับแต่วันถัดจากวันครบกำหนด ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงิน จากโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง ภายหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แล้วก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เท่านั้นไม่ใช่เพื่อ ให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี อีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ย่อมเลิกกันและสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา เบิกเงินเกินบัญชีคือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งมีผลให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้ถึงวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น ผู้เบิกเงินเกินบัญชีตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์ซึ่งธนาคารจะคำนวณและลงบัญชีตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์ทุกเดือน และโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกวันสิ้นเดือนเป็น รายเดือน ดังนั้นดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญานั้น ยังไม่ถึง 1 เดือน ตามสัญญาและประเพณีที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คิดได้แต่เพียงดอกเบี้ย ไม่ทบต้น หลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดแล้วในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีแบบไม่ทบต้นได้ในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 และเมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัด ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง แล้วโจทก์มีสิทธิที่จะ หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้ โจทก์ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 ได้ทันที การที่โจทก์ยังคง คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิ ตลอดมา ทำให้ยอดหนี้ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏ ในบัญชีกระแสรายวันสูงขึ้น จนเวลาให้ล่วงเลยมาจนครบ 1 ปี จึงนำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 เข้าหักทอนบัญชีจึงไม่ถูกต้อง ดังนั้น เมื่อปรากฏรายการเพียงวันที่ 31 ตุลาคม 2533 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 1,100,010.68 บาท จึงต้องถือยอดเงินดังกล่าวเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533ไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จ โดยให้นำเงิน จากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยหัก ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 และให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2533เป็นต้นไปออกจากยอดเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระโดยหักออกชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยไม่ทบต้นก่อน ที่เหลือให้หักชำระต้นเงินทุกครั้งที่มีการนำเงินเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1