พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4896/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีโรงเรือนตามดัชนีราคาผู้บริโภค การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม
โรงเรือนตามรายการที่ 9 มีเครื่องจักรเป็นเครื่องทดลองเครื่องซ่อมเครื่องจักรกล เครื่องซ่อมเครื่องช่างไม้ และมีอุปกรณ์การซ่อมเครื่องไฟฟ้าตั้งอยู่ ดังนั้น โรงเรือนดังกล่าวจึงมิใช่เป็นโรงเรือนธรรมดา แต่เป็นโรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้ในการซ่อมเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้ในการทำหรือกำเนิดสินค้าถือได้ว่าเป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ในการดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ มีสิทธิได้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตามความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 แล้ว บทบัญญัติดังกล่าวมิได้จำกัดไว้แต่เพียงว่าต้องเป็นเครื่องจักรที่ใช้กระทำหรือกำเนิดสินค้าเท่านั้นหากเป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญเป็นเครื่องจักรหรือกลไก เพื่อใช้ในการดำเนินการอุตสาหกรรมแม้จะไม่ใช่เป็นเครื่องกระทำหรือกำเนิดสินค้าก็อยู่ในความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งกองระดับราคากรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้จัดทำขึ้นแบ่งออกเป็น 7 หมวด คือ หมวดอาหาร หมวดเครื่องนุ่งห่มหมวดเคหสถาน หมวดการตรวจรักษา หมวดยานพาหนะ หมวดการบันเทิง การอ่าน-และการศึกษา และหมวดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องการตรวจสอบระดับราคาผู้บริโภคตามหมวดต่าง ๆ ดังกล่าว รวมทั้งค่าเช่าเคหสถาน และได้บันทึกข้อมูลไว้เป็น หลักฐานเพื่อใช้อ้างอิง การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเช่า และ ค่ารายปีที่ปรากฏในดัชนีราคาผู้บริโภค หมวดเคหสถานจึงเป็น อัตราที่มีเหตุผล และที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 บัญญัติว่า "ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว นั้นท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสีย ในปีต่อมา" นั้น มีความหมายเพียงว่า ให้นำค่ารายปีที่ ล่วงมาแล้วมาเป็นหลักหรือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีในปีต่อมา เท่านั้น มิใช่เป็นการบังคับให้ต้องนำมาเป็นหลักเสมอไป ในคดีนี้สำหรับโรงเรือนตามรายการในตารางที่ 2 และที่ 3 การประเมินค่ารายปีในปี 2529 โจทก์ยอมรับและไม่ได้โต้แย้ง นั้น โจทก์ได้นำค่ารายปีของปี 2529 มาเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีของปี 2530 แล้ว ส่วนโรงเรือนอื่นนอกจากนี้การประเมินค่ารายปีในปี 2529 โจทก์จำเลยยังโต้แย้งอยู่ไม่ยุติ จึงไม่อาจที่จะนำค่ารายปีของปี 2529 มาเป็นหลักการในการคำนวณภาษีของปี 2530 ได้ ดังนั้น การที่โจทก์นำค่ารายปีโรงเรือนของโจทก์ในปี 2522 และในปี 2527 สำหรับโรงเรือนที่เหลือซึ่งโจทก์จำเลยไม่ได้โต้แย้งและยุติแล้วตามลำดับมาเป็นหลักในการคำนวณตามดัชนีราคาผู้บริโภคดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นการขัดต่อมาตรา 18 ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นหลักเกณฑ์ที่จำเลยที่ 1 นำมาคำนวณค่ารายปียังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังได้ว่าเป็นการเหมาะสมถูกต้องและเมื่อไม่มีหลักเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมพอจะใช้เป็นหลักในการคำนวณได้ การที่โจทก์นำดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นข้อมูลของทางราชการมาเป็นหลักในการคำนวณในคดีนี้ ย่อมเป็นวิธีที่ถือได้ว่าเหมาะสมและมีเหตุอันสมควร การกำหนดค่ารายปีและการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ประจำปี 2530ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3409/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่มิชอบ โดยการนำค่ารายปีที่ไม่ยุติมาเป็นหลัก และการคำนวณค่ารายปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค
ตาม พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่เป็นการบังคับให้ต้องนำมาเป็นหลักเสมอไป เมื่อปรากฏว่าค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว โจทก์และจำเลยยังโต้แย้งกันอยู่ว่าค่ารายปีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วซึ่งยังมิได้ยุติมาเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีของปีที่พิพาทได้ การจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการได้มีการจัดส่งหลักฐานข้อมูลดังกล่าวให้แก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กำหนดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเช่าหรือค่ารายปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค จึงเป็นอัตราที่มีเหตุผลตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และจำเลยที่ 1 ก็ทราบแล้ว แม้อัตราค่ารายปีของปี 2522 จะมิใช่ค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งจะเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีสำหรับปีต่อมาก็ตามแต่โจทก์ก็ได้เพิ่มค่ารายปีตามภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากปี 2522 จนถึงปี 2529 เป็นอัตราที่สูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคที่ทางราชการกำหนด ทั้งไม่สามารถนำค่ารายปีของปีอื่น ๆ มาเป็นหลักคำนวณค่ารายปีพิพาทได้ การคำนวณค่ารายปีสำหรับโรงเรือนและที่ดินคดีนี้ตามอัตราที่โจทก์คำนวณตามฟ้อง จึงเป็นอัตราที่สมควร จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินภาษีที่โจทก์ชำระเกินแก่โจทก์ภายในกำหนด3 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา ถ้าไม่คืนในกำหนดดังกล่าวจึงจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 2เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ไปตามอำนาจหน้าที่ มิใช่ผู้ที่รับภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์ชำระตามคำวินิจฉัย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่คืนเงินภาษีส่วนที่เกินแก่โจทก์ด้วย