คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ตกลง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 156 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8279/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายในการดำเนินคดีและผลของการตกลงทำคำท้าต่อหน้าศาล
โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงท้ากันโดยถือเอาการปฏิบัติตามคำท้าเป็นข้อแพ้ชนะ เมื่อปรากฏว่าฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ไปศาลตามกำหนดนัดเพื่อรับผู้พิพากษาไปนำสาบานตนตามคำท้า ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถปฏิบัติตามคำท้าได้ ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จะอ้างว่าทนายจำเลยทั้งสองกระทำการฉ้อฉลโดยจำเลยทั้งสองไม่รู้เห็นยินยอมด้วยกับข้อตกลงตามคำท้าไม่ได้ เพราะจำเลยทั้งสองแต่งตั้งทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง ทนายความของจำเลยทั้งสองย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ต่อหน้าศาลว่า ข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่เสียเปรียบ รวมทั้งมีอำนาจต่อรองและไม่ยอมตกลงหากเห็นว่าจำเลยทั้งสองเสียเปรียบโดยไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ อีกทั้งการตกลงรับคำท้ากับโจทก์ก็เพื่อให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว เป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสอง แม้ไม่ได้ปรึกษาหารือจำเลยทั้งสองก่อนก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของการฉ้อฉลที่จำเลยทั้งสองจะขอให้เพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3333/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยปริยายเกิดจากการตกลงใช้ทางผ่านที่ดินของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ในการสัญจรและขนส่งพืชผล
สาเหตุที่โจทก์ที่ 3 ชักชวนโจทก์อื่นกับชาวบ้านในหมู่ที่ 3 ทำทางพิพาทตั้งแต่แม่น้ำนครชัยศรีถึงทางสาธารณะสายวัดไร่ขิง - ทรงคนอง ก็เนื่องจากหมู่บ้านหมู่ที่ 3 ไม่มีทางรถยนต์เข้าออกสู่ทางสาธารณะ ทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดและชาวบ้านมีความเดือดร้อนในการสัญจรไปมาติดต่อกับท้องถิ่นอื่นและขนส่งพืชผลทางเกษตรกรรมออกไปจำหน่ายในท้องตลาด จึงได้มีการเจรจากับจำเลยขอใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านออกสู่ทางสาธารณะสายวัดไร่ขิง - ทรงคนอง เมื่อจำเลยตกลงแล้ว จึงเป็นการให้สิทธิแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดเหนือที่ดินของจำเลยอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่าง เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่กรณี โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดในสัญญารับขนทางอากาศ: การตกลงไม่แสดงมูลค่าสินค้าถือเป็นการยอมรับข้อจำกัด
ด้านหลังใบรับขนทางอากาศมีข้อความระบุจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม ทั้งด้านหน้าใบรับขนทางอากาศก็ยังทำช่องการแสดงมูลค่าสำหรับการขนส่งไว้เพื่อให้มีการกรอกข้อความได้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีข้อความกรอกไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า N.V.D. หรือ non value declare หมายความว่า ผู้ส่งสินค้าเลือกที่จะไม่แสดงมูลค่าเพื่อการขนส่ง ซึ่งเท่ากับยอมรับในจำนวนจำกัดความรับผิดดังกล่าว ประกอบกับการที่บริษัท อ. เป็นตัวแทนผู้ส่งสินค้าและเป็นตัวแทนออกใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล. 1 โดยมีข้อความดังกล่าวอยู่และอยู่ในความรู้เห็นเป็นอย่างดีของบริษัทนี้ ย่อมแสดงว่าบริษัทดังกล่าวกระทำการในฐานะตัวแทนผู้ส่งสินค้าได้ตกลงในเรื่องจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่อยู่ด้านหลังใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล. 1 โดยชัดแจ้ง ซึ่งมีผลผูกพันบริษัท ม. ผู้ส่งสินค้า จึงถือได้ว่าผู้ส่งสินค้าได้ตกลงในจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งโดยชัดแจ้งแล้วเช่นกัน ข้อจำกัดความรับผิดอันเป็นข้อตกลงในสัญญารับขนทางอากาศรายนี้ย่อมมีผลผูกพันโดยสมบูรณ์ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามข้อจำกัดความรับผิดนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7338/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามเรื่องดอกเบี้ยเกินกว่าที่ตกลง หรือข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ประกอบธุรกิจประกันภัยไม่ใช่สถาบันการเงินที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี นั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีในข้อนี้ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8832/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน แม้ความผิดบางประเภทไม่อาจยอมความได้ แต่โจทก์สามารถถอนฎีกาได้หากมีการตกลงกัน
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความกันได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ บริษัท ม. และบริษัท ข. ตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม โจทก์ บริษัท ม. บริษัท ข. และจำเลยที่โจทก์ถอนฟ้องไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งต่อกันอีก ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาถอนฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ด้วย จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกาในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารเป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารกับถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8740/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดก: สิทธิทายาท ผู้มีส่วนได้เสีย และผลของการแบ่งมรดกโดยตกลง
คดีขอจัดการมรดก ประเด็นในคดีมีว่า ผู้ร้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 และบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการมรดกมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 1718 หรือไม่
ขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ซ. บุตรของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของ ซ. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของเจ้ามรดกอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างความเป็นทายาทได้ และเมื่อ ล. บุตรอีกคนหนึ่งของเจ้ามรดกได้ยื่นคำร้องขอรับที่ดินมรดก ซ. และ ถ. คัดค้าน แต่ต่อมา ซ. และ ถ. ได้ตกลงให้ ล. รับโอนที่ดินมรดกไปแต่ผู้เดียวและ ล. ได้ครอบครองทำกินโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน เช่นนี้ถือได้ว่า ซ. ถ. และ ล. ทายาทเจ้ามรดกได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง หาก ซ. ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่อาจเรียกร้องที่ดินมรดกตามที่ตกลงแบ่งปันกันได้ จึงไม่มีมรดกที่จะตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยหลังเลิกสัญญา: โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเดิมได้ หากจำเลยเคยตกลงไว้แต่แรก
ธนาคารโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ดังนั้น ภายหลังจากเลิกสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเดิมคือร้อยละ 15.5 ต่อปี ไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นเท่านั้น เพราะเป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น โจทก์ไม่อาจอาศัยข้อสัญญาซึ่งสิ้นสุดไปแล้วมาทำการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากจำเลยให้สูงขึ้นตามประกาศของโจทก์ได้อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1575/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกหนี้ร่วมต้องรับผิดชำระหนี้ทั้งหมด แม้จะชำระบางส่วนและตกลงให้ผู้เสียหายไปเรียกร้องจากลูกหนี้อื่น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม ป.อ. มาตรา 341 พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดรวม 810,000 บาท ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ชั่วคราว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขอถอนคำให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ แต่ขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาเพื่อนำเงินมาชำระให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดคนละ 20,000 บาท ส่วนที่เหลือผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะไปเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 สอบโจทก์ ผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 7 แล้วรับว่าเป็นจริง และต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ชำระเงินให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดคนละ 20,000 บาทแล้ว ดังนี้ การที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมรับตามคำแถลงของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า เงินส่วนที่เหลือผู้เสียหายจะไปเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อีก จึงถือไม่ได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาระงับข้อพิพาทโดยไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมกันชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจนสิ้นเชิงในฐานะลูกหนี้ร่วม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินส่วนที่เหลือให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9668/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตกลงแปลงหนี้จากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาซื้อขาย ย่อมมีผลผูกพันจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ ต่อมาโจทก์พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปให้ผู้อื่นใช้ ได้มีการเจรจาตกลงกันโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมใช้ค่าเสียหายเท่ากับ ค่าเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทที่ค้าง แล้วโจทก์จะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงตกลงยินยอมทำหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทและหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ขึ้นใหม่ ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลง แปลงหนี้จากสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันรถยนต์คันพิพาทมาเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทและหนังสือรับสภาพหนี้แทนจึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าหุ้นต้องเป็นเงินสดตามกฎหมาย การตกลงชำระด้วยวัสดุอุปกรณ์ไม่ผูกพันจำเลย ผู้ร้องต้องพิสูจน์การชำระหนี้
การส่งใช้เงินค่าหุ้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1119,1120 และ 1221 กำหนดให้ต้องส่งใช้เป็นเงินเท่านั้น โดยกรรมการของบริษัทจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าหุ้นตามวิธีการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้มีจดหมายส่งลงทะเบียนบอกกล่าวเรียกเก็บเงินค่าหุ้นไปยังผู้ร้อง หรือผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆแต่อย่างใด ที่ผู้ร้องอ้างว่า เมื่อจำเลยเรียกเก็บเงินค่าหุ้นจึงได้มีการตกลงกันภายในระหว่างสองบริษัทว่า "หนี้ค่าหุ้นที่ทวงถามไปนั้น บริษัทจำเลยขอให้บริษัทผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่เหลือเป็นวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแทนการชำระเป็นเงิน" ข้อตกลงดังกล่าวหากมีจริงก็ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมตั้งบริษัทข้อตกลงที่ผู้ร้องอ้างจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย นอกจากนี้ในส่วนงบดุลและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยกฎหมายก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว หาใช่ว่าผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าผู้ร้องค้างชำระค่าหุ้นดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระให้แก่จำเลยแล้ว
of 16