คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ตกลงกันได้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1641/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเลิกการรังวัดที่ดินทำให้สิทธิเรียกร้องสิ้นสุด
โจทก์ฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างว่า โจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้คัดค้านและขัดขวางการรังวัด แต่เมื่อกลับได้ความว่าโจทก์ได้ขอยกเลิกการรังวัดที่ดินของโจทก์แล้ว โดยให้เหตุผลในบันทึกถ้อยคำของเจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์กับจำเลยสามารถตกลงแนวเขตกันได้แล้วโดยไม่ติดใจสงสัยค้านแนวเขตด้านที่ติดกัน ดังนั้นข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ย่อมหมดไป โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4065/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหายและการระงับการดำเนินคดี
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยไม่ค้าน คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น เมื่อปรากฏตามคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมและจำเลยสามารถตกลงกันได้แล้ว โดยจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมจนพอใจแล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีกต่อไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ติดใจว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยและประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์นั่นเอง แต่โจทก์ร่วมใช้ข้อความผิดไปเป็นถอนฟ้องเพราะคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ส่วนผู้เสียหายเป็นเพียงโจทก์ร่วม สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3886/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกหลังตกลงกันได้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนมรดกเฉพาะส่วนสิทธิโจทก์ และขอบเขตสิทธิในทรัพย์สิน
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 โดยแจ้งชัดเป็นสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ แต่โจทก์ทั้งสามก็กล่าวอ้างสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ทั้งสามนำสืบถึงข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องในการที่โจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งส่วนตามกฎหมาย จึงมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการขอให้บังคับแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามนำสืบแตกต่างกับฟ้องหรือนอกฟ้องนอกประเด็น
การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นหนังสือและต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันต่อกันและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในบันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิอันพึงมีพึงได้แก่โจทก์ทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด" ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำคำพิพากษาของศาลไปให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาได้ และการเพิกถอนดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เป็นการทำนิติกรรมที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ให้แก่ตนเองแล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตร ป. เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายกัน โดยที่บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ในส่วนของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 นั้น เฉพาะแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถกระทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายที่ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมนั้นหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 และมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับสู่กองมรดกของผู้ตายและบังคับให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองได้
ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ. 17 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 2 และยังไม่มีการแบ่งปันให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก แม้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนแบ่งปันที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาได้แต่เพียงแสดงกรรมสิทธิ์ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน เมื่อที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิแบ่งส่วนเอาจากที่ดินพิพาทดังกล่าวได้