คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ตัดสิทธิลูกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4284/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตัดสิทธิลูกจ้างที่ลาออกโดยไม่ออกจากงานชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ทั้งสามลาออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยโดยไม่ออกจากงาน จำเลยจ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสมให้โจทก์ทั้งสาม แต่ไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบให้
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับในวันที่ 28 มกราคม 2551 แต่นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรับจดทะเบียนการแก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ว่าสมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ ทำให้การแก้ไขข้อบังคับมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2550 ตามมาตรา 9 วรรคสอง โจทก์ที่ 1 ลาออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยโดยไม่ออกจากงานในวันที่ 1 สิงหาคม 2550 จึงตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ตามข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบตามข้อบังคับที่แก้ไขนั้น
เดิมบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินบำเหน็จเป็นสวัสดิการแก่พนักงานเมื่อตายหรือออกจากงาน ต่อมามีการจัดตั้งจำเลยโดยศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าสาเหตุการจัดตั้งจำเลยก็เพื่อนำมาใช้ทดแทนการจ่ายเงินบำเหน็จที่ยกเลิกไป และข้อบังคับของจำเลยทุกฉบับมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมทรัพย์ ตลอดจนเป็นหลักประกันให้แก่สมาชิกและครอบครัวเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย หรือไร้ความสามารถ หรือลาออก หรือครบเกษียณอายุ หรือพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง ยืนยันให้เห็นว่าจำเลยถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อออกจากงานเท่านั้น การที่จำเลยแก้ไขข้อบังคับให้สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ แต่ยังคงมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสมในส่วนของตนจนเต็มจำนวน จึงเป็นการแก้ไขให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งจำเลยตามที่ปรากฏในข้อบังคับ ไม่ใช่เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพที่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร การแก้ไขข้อบังคับของจำเลยในส่วนนี้จึงชอบด้วยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ลาออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยโดยไม่ออกจากงานหลังจากมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบเช่นกัน
แม้มาตรา 5 ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่ากองทุนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างลาออกซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนก็ตาม แต่การจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพต้องปฏิบัติตามมาตรา 23 ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติให้ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน ผู้จัดการกองทุนของจำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับคือไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบให้สมาชิกที่ลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13806/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตัดสิทธิลูกจ้างกรณีลาไปทำงานกับคู่แข่งเป็นโมฆะ
ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยซึ่งจดทะเบียนแล้วที่กำหนดว่าจะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์กรณีลูกจ้างลาออกจากงานเพื่อไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจนั้น มีลักษณะเป็นไปเพื่อคุ้มครองดูแลผลประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยร่วมซึ่งเป็นนายจ้างแต่ฝ่ายเดียว และเป็นการห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจหลังจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่มีต่อกัน ทั้งเป็นการตัดสิทธิลูกจ้างไม่ให้ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำการที่ไม่ชอบไม่ถูกต้องไม่ควรในขณะที่เป็นลูกจ้าง จึงเป็นข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันและสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงานตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 5 และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าว และเป็นการตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 9 (8) ถือว่าข้อบังคับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150