คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ตู้สินค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขนส่งทางทะเล: ผู้ขนส่งต้องส่งมอบสินค้าในสภาพเรียบร้อย หากสินค้าเสียหายจากตู้สินค้าชำรุด ผู้ขนส่งผิดสัญญา
สัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งมีหน้าที่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ กล่าวคือนอกจากจะต้องขนส่งทุเรียนและส่งมอบทุเรียนให้แก่จำเลยที่ปลายทางตามสัญญาแล้ว ยังจะต้องส่งมอบทุเรียนในสภาพเรียบร้อยไม่เสียหายเสียก่อน จำเลยจึงจะชำระหนี้ค่าระวางและค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปเพื่อจัดการในการขนส่ง เมื่อปรากฏว่าตู้สินค้าชำรุดบกพร่องไม่สามารถรักษาอุณหภูมิในระดับที่กำหนดในข้อตกลงในการขนส่งได้ตั้งแต่แรกในระหว่างอยู่ในความดูแลของโจทก์โดยความชำรุดบกพร่องดังกล่าวมิได้เกิดจากความผิดของจำเลยผู้ส่งของ เป็นเหตุให้สินค้าทุเรียนสดเปียกน้ำ ชื้น มีราขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เนื้อสุกจนเละและผลทุเรียนปริแตก เมื่อพิจารณาจากลักษณะของสินค้าซึ่งเป็นทุเรียนสดประกอบกับสภาพความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นแล้ว ถือได้ว่าสินค้าทั้งหมดเกิดความเสียหายไม่สมประโยชน์ของจำเลย ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าระวางเรือและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 2 ไม่เป็นผู้ขนส่งอื่นตาม พ.ร.บ.รับขนทางทะเล และความรับผิดของผู้ขนส่งในระบบตู้สินค้า CY/CY
จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งซึ่งว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขนส่ง เมื่อจำเลยที่ 1 นำเรือเข้าจอดที่ท่าเรือของบริษัทจำเลยที่ 2 ได้มีการขนถ่ายตู้สินค้าที่ใช้ขนส่งสินค้าในคดีนี้ลงจากเรือ และจำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 มอบตู้สินค้านั้นให้ผู้รับตราส่งต่อไป อันเป็นการประกอบกิจการเช่นเดียวกับการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเลนั้นแม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ขนส่งอื่น ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3
คำว่า "ผู้ขนส่งอื่น" ตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 นั้น ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเลให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล เช่น การขนถ่ายของขึ้นจากเรือหรือการส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง ดังนี้ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขนย้ายตู้สินค้าจากเรือลงท่าเรือของบริษัทจำเลยที่ 2 และขนย้ายตู้สินค้าจากหน้าท่าไปยังลานเก็บสินค้าของท่าเรือ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่น ตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
การขนส่งสินค้าเม็ดพลาสติกเป็นการขนส่งในระบบตู้สินค้าแบบ ซีวาย/ซีวาย คือผู้ส่งสินค้าได้ไปตรวจสอบตู้สินค้าว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับสินค้าที่ใช้บรรจุแล้ว ผู้ส่งสินค้าจึงนำตู้สินค้าไปทำการบรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้ รวมทั้งปิดผนึกดวงตราปากตู้ต่อหน้าเจ้าพนักงานศุลกากร โดยจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ต่อมาผู้ส่งสินค้าได้นำตู้สินค้าดังกล่าวมามอบให้ตัวแทนของจำเลยที่ 1 บรรทุกลงเรือ เมื่อเรือเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบตู้สินค้านั้นให้เจ้าหน้าที่ท่าเรือของบริษัทจำเลยที่ 2 ในสภาพตู้และดวงตราผนึกปากตู้เรียบร้อย เช่นนี้ หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงสิ้นสุดลง
การขนส่งในระบบตู้สินค้าแบบ ซีวาย/ซีวาย ผู้รับตราส่งที่ปลายทางมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากท่าเรือไปเปิดตู้สินค้าที่โกดังของผู้รับตราส่งเองและเมื่อผู้รับตราส่งมาขอรับตู้สินค้าจากจำเลยที่ 2 จะต้องมีการตรวจสอบสภาพตู้สินค้าว่ามีสภาพเรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งหากพบความเสียหายจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ท่าเรือทราบและต้องมีการบันทึกหมายเหตุความเสียหายนั้นไว้ในใบรับมอบตู้สินค้า แต่ปรากฏว่าตัวแทนของบริษัท ท. ผู้รับตราส่งได้ลงลายมือชื่อรับมอบตู้สินค้าไปในสภาพเรียบร้อยโดยไม่มีการระบุว่าหลังคาตู้สินค้ามีรูรั่วหรือมีความเสียหายใด ๆ เลย อันแสดงว่าตัวแทนของบริษัท ท. ผู้รับตราส่งได้รับมอบตู้สินค้าดังกล่าวไปในสภาพเรียบร้อย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าความเสียหายของตู้สินค้าและสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง หรือเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง อันเป็นเหตุให้ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4709/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในกรณีสินค้าสูญหายจากการเปลี่ยนตราผนึกตู้สินค้า
การขนส่งสินค้าระบบ ซีวาย/ซีวาย เป็นการขนส่งที่ผู้ส่งสินค้าต้นทางจะเป็นผู้ไปรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โกดังของผู้ส่งสินค้า แล้วนำตู้สินค้ามามอบให้แก่ผู้ขนส่ง เมื่อขนส่งสินค้าถึงปลายทางแล้วผู้รับตราส่งจะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจนับสินค้าที่โกดังของผู้รับตราส่งเอง เมื่อใบตราส่งที่จำเลยที่ 1 ออกระบุไว้ว่าสถานที่รับสินค้า โตเกียว ซีวาย สถานที่ส่งมอบสินค้า กรุงเทพ ซีวาย แสดงว่า ในการขนส่งสินค้าพิพาทตั้งแต่จำเลยที่ 1 รับตู้สินค้าจากบริษัท ค. ที่ท่าเรือโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงท่าเรือกรุงเทพ แล้ว บริษัท ค. จะเป็นผู้รับสินค้าไปตรวจนับสินค้าเอง หากสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าอยู่ในสภาพปกติก็ย่อมแสดงว่าสินค้ามิได้สูญหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าก็หาต้องรับผิดในกรณีสินค้าใน ตู้สินค้าสูญหายไปไม่ แต่ตามใบตราส่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ส่งได้ความว่า ตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าพิพาทที่โจทก์รับประกันภัยระบุตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ครั้นจำเลยร่วมขนส่งตู้สินค้า ดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าตู้สินค้ามีตราผนึกประตูตู้สินค้าเป็นหมายเลข เอสพีไอซี 051682 ซึ่งไม่ปรากฏว่าเหตุใดตราผนึกประตูตู้สินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่งจึงเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น การที่จำเลยร่วมออก ใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อรับมอบตู้สินค้า แม้จะได้ระบุหมายเลขตู้สินค้า แต่มิได้ระบุว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าคือหมายเลขใด กรณีที่ยังไม่แน่ชัดว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ถูกเปลี่ยนเป็นหมายเลข เอสพีไอซี 051682 ก่อนหรือภายหลังจากที่จำเลยร่วมรับมอบตู้สินค้าจากท่าเรือสิงคโปร์ เมื่อประตูตู้สินค้าได้ถูกเปิดออกในระหว่างการขนส่งสินค้าจากท่าเรือโตเกียวช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนที่จะถึงท่าเรือกรุงเทพและสินค้าพิพาทที่โจทก์ได้รับประกันภัยสูญหายไป จึงถือได้ว่าความสูญหายเกิดขึ้นขณะที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชอบในความสูญหายของสินค้าพิพาทดังกล่าว
พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ให้คำนิยาม "ภาชนะขนส่ง" หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และให้คำนิยาม "หน่วยการขนส่ง" หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง แต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อันหรือหน่วยที่เรียกอย่างอื่น ดังนั้น คำว่า "ตู้" ที่ยกตัวอย่างในคำนิยาม ย่อมหมายความรวมถึงตู้สำหรับบรรจุสินค้าหรือของอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กต่างจากตู้สินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและสามารถบรรจุภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าขนาดเล็กดังกล่าวได้เป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกในการขนย้าย ดังนั้น ตู้สินค้าซึ่งเรียกกันในวงการว่า ตู้คอนเทนเนอร์ จึงเป็นภาชนะขนส่ง ส่วน ตู้ เป็นหน่วยการขนส่งดังมาตรา 3 บัญญัติให้คำนิยามไว้โดยชัดแจ้งแล้ว มิใช่ว่า ตู้ หรือ ตู้สินค้ามีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งและภาชนะขนส่ง เมื่อ ตู้สินค้า ไม่ใช่หน่วยการขนส่ง 1 หน่วย จึงไม่อาจที่จะจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่เกิน 10,000 บาท ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่คืนตู้สินค้าหลังรับสินค้าจากเรือ: ผู้รับขนต้องรับผิดชอบในการคืนตู้สินค้าให้ผู้ขนส่งภายในกำหนด
ในการรับขนของ โจทก์ผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายหรือผู้ส่งของไว้ เป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขน ซึ่งระบุข้อความสำคัญเกี่ยวกับชนิดของหีบห่อลักษณะของสินค้าว่าผู้ส่งเป็นผู้บรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้สินค้า และสถานที่ส่งมอบสินค้าคือลานวางตู้สินค้า ท่าเรือกรุงเทพมหานคร จำเลยผู้สั่งซื้อสินค้าจึงมีหน้าที่มารับสินค้าจากโจทก์ ณ สถานที่ดังกล่าว แต่เมื่อสินค้าอยู่ในตู้สินค้าและการรับสินค้าต้องรับตู้สินค้าที่บรรจุสินค้านั้นไปด้วย เพราะจำเป็นต้องขนตู้สินค้าไปยังโกดังสินค้าของจำเลยเพื่อนำสินค้าออกจากตู้สินค้า จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยในการขนตู้สินค้าไปยังโกดังสินค้า และเมื่อจำเลยนำสินค้าออกจากตู้สินค้าแล้วก็ย่อมมีหน้าที่ต้องนำตู้สินค้าไปคืนให้แก่โจทก์หรือตัวแทนของโจทก์ภายในกำหนด14 วัน นับแต่เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางเมื่อเรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครและได้มีการขนถ่ายสินค้าจากเรือโดยมีบริษัท ว. เป็นตัวแทนผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรและรับสินค้าให้แก่จำเลย และได้นำสินค้าของจำเลยไปยังโกดังสินค้าของจำเลยโดยใช้บริการ ร.ส.พ. เมื่อตู้สินค้าตู้หนึ่งคนขับรถของ ร.ส.พ. มิได้นำไปคืนให้แก่ตัวแทนโจทก์จนล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าวไปแล้ว จำเลยในฐานะตัวการของผู้ขนตู้สินค้าดังกล่าวไปยังโกดังสินค้าของจำเลยและเป็นผู้มีหน้าที่ต้องคืนตู้สินค้าแก่โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในกรณีที่โจทก์ไม่ได้รับตู้สินค้าคืนจากจำเลยภายในกำหนดเวลา14 วัน นับแต่เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5559/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดในสัญญาและละเมิดจากเหตุตู้สินค้าห้องเย็นเสียหาย: กำหนดส่วนรับผิดชอบตามสัดส่วนความผิด
ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกันว่าอุณหภูมิภายในตู้สินค้าห้องเย็นต้องอยู่ในระดับ ลบ 24 องศาเซลเซียส เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดูแลรักษาอุณหภูมิสินค้าให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ จึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ทำให้สินค้าไม่ได้มาตรฐานสินค้าแช่แข็งส่งออกของผู้เอาประกันภัยซึ่งอาจมีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานของกรมปศุสัตว์หรือเจ้าของสินค้ารายอื่น จำเลยที่ 1 จะอ้างมาตรฐานของกรมปศุสัตว์มากล่าวอ้างให้ไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาไม่ได้
พนักงานของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถเฉี่ยวชนตู้สินค้าห้องเย็นที่บรรจุสินค้าจนชำรุดอันเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าในตู้โดยตรง ทั้งจำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าห้องเย็นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่รักษาอุณหภูมิภายในตู้ให้ได้ตามที่กำหนดไว้เสมอ เมื่อจำเลยที่ 2 ทำให้ตู้สินค้าห้องเย็นนี้เสียหายก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขซ่อมแซมเพื่อป้องกันมิให้สินค้าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 รีบซ่อมแซมอย่างเหมาะสมด้วยวิธีเพียงใช้แผ่นโลหะปะเข้าแทนที่ในส่วนที่ผนังตู้ขาดด้านนอกแล้วยึดแผ่นโลหะด้วยวิธียิงด้วยเครื่องยิงหมุดแล้วฉีดโฟมเข้าไปในช่องว่างระหว่างโลหะด้านในและด้านนอกเฉพาะจุดที่ฉีกขาดนั้น อันเป็นวิธีการดังที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ให้ความเห็นไว้ในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า สามารถทำได้โดยง่าย ใช้เวลาเพียง 10 นาที เท่านั้น ก็น่าเชื่อว่าจะบรรเทาความเสียหายได้มาก แต่จำเลยที่ 2 กลับปล่อยให้ตู้สินค้าห้องเย็นมีส่วนที่ชำรุดถึงโลหะชั้นในและไม่มีฉนวนกันความร้อนเป็นเวลานานถึง 10 ชั่วโมง พนักงานของจำเลยที่ 2 จึงมาช่วยซ่อมแซมตู้สินค้าห้องเย็น แต่ก็ทำเพียงนำแผ่นฟอยล์ซึ่งมีเพียงแถบกาวมาปิดทับผนังตู้สินค้าห้องเย็นตรงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ใช่วิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลรักษาตู้สินค้าห้องเย็นให้สินค้าของผู้เอาประกันภัยอยู่ในสภาพที่ดีมีอุณหภูมิที่ตั้งค่า ลบ 24 องศาเซลเซียส ได้ทราบเหตุตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2546 ก็ดำเนินการเพียงแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบ และร่วมกับพนักงานของจำเลยที่ 2 นำแผ่นฟอยล์ซึ่งมีแถบกาวไปปิดตู้สินค้าห้องเย็นตรงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น หลังจากนั้นได้แต่ตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องทำความเย็น โดยไม่ดำเนินการเยียวยาอย่างอื่น ถือได้ว่ายังไม่ได้กระทำการให้เพียงพอแก่หน้าที่ในอันที่จะรักษาอุณหภูมิสินค้าให้ได้ตามที่สัญญาไว้ อันถือได้ว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน
ผู้เอาประกันภัยได้รับแจ้งเหตุตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา จนวันที่ 21 กรกฎาคม 2546 จึงส่งตัวแทนไปสำรวจความเสียหายของตู้สินค้าห้องเย็น และตัดสินใจนำตู้สินค้าห้องเย็นพิพาทออกจากท่าเรือกรุงเทพในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ทั้งยังจัดประมูลขายซากสินค้าในวันที่ 3 และ 9 กันยายน 2546 อันเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าไปอีกประมาณ 40 ถึง 50 วัน สินค้าอาหารประเภทไก่แช่แข็งควรรีบขายโดยเร็ว การปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจะทำให้ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าที่ควรจะขายได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 รวมทั้งจำเลยที่ 1 แล้ว ผู้เอาประกันภัยก็มีส่วนปล่อยเวลาให้ล่วงเลยทำให้มูลค่าของสินค้าพิพาทลดลงจนเป็นความเสียหายสูงขึ้นด้วย
การที่จะให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยรวมถึงโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจะเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 ทั้งการจะให้บุคคลหลายคนรับผิดร่วมกันในหนี้จำนวนหนึ่งอย่างลูกหนี้ร่วมต้องเป็นไปโดยนิติกรรมหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจัดหาตู้สินค้าห้องเย็นและขนส่งไปยังท่าเรือโดยมีหน้าที่ดูแลรักษาอุณหภูมิในตู้สินค้าห้องเย็นให้เหมาะสมในการเก็บรักษาสินค้า แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดูแลรักษาอุณหภูมิจนเป็นเหตุให้สินค้าเสียหาย แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดด้วย แต่จากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องและที่รับฟังได้ เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ต้องรับผิดตามสัญญา และเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหลังจากพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดกระทำโดยประมาททำให้สินค้าเสียหาย จึงไม่ใช่กรณีร่วมกันทำละเมิด หากแต่เป็นกรณีที่มูลแห่งความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แตกต่างกัน มีผลต่อความเสียหายคนละส่วนต่างกันย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าเสียหายต่อโจทก์และไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันจะถือให้ความรับผิดในลักษณะแตกต่างกันเช่นนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10629/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับตราส่งในการส่งมอบตู้สินค้า กรณีตัวแทนผู้ส่งมอบทำหน้าที่เกินขอบเขต
จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในประเทศไทยของบริษัท ย. ผู้ขนส่งทอดแรก จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับตราส่งที่ลานวางตู้สินค้าขาเข้าท่าเรือกรุงเทพเมื่อจำเลยที่ 1 ได้เวนคืนใบตราส่ง ดังนั้น การที่ใบตราส่งอีกฉบับหนึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้าก็เพื่อที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะเรียกให้โจทก์ส่งมอบสินค้าให้ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จำเลยที่ 2 จะได้ส่งมอบต่อให้แก่จำเลยที่ 1 เจ้าของสินค้า เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 2 ติดต่อขอรับใบปล่อยสินค้าจากโจทก์ก็เพราะอยู่ในฐานะเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่ง ซึ่งต้องรับสินค้าจากโจทก์ จากนั้นก็ทำหน้าที่ตัวแทนผู้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แทนบริษัท ย. ตามใบตราส่ง โดยสถานที่ส่งมอบสินค้าตามใบตราส่งทั้งสองฉบับก็คือที่ซีวาย อันหมายถึงลานวางตู้สินค้าขาเข้าท่าเรือกรุงเทพ ดังนั้น เมื่อสินค้าถึงสถานที่ส่งมอบตามใบตราส่งทั้งสองฉบับแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยังได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่าจะขนถ่ายสินค้าที่ใดอีกซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 จะให้ลากตู้สินค้าไปที่ที่ทำการของจำเลยที่ 1 แทนการส่งมอบและรับมอบกันที่ลานวางตู้สินค้าขาเข้าท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 2 ก็ยินยอมและได้ขอยืมตู้สินค้าจากโจทก์โดยไม่ได้แสดงให้เห็นชัดในขณะนั้นว่าเป็นการยืมตู้สินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือเป็นการกระทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนบริษัท ย. ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องนำตู้สินค้าเปล่ากลับมาคืนแก่โจทก์ตามเวลาที่กำหนด การรับมอบใบปล่อยสินค้าก็ดี การยืมตู้สินค้าและการทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามพฤติการณ์แห่งคดี มิใช่เป็นการกระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดมีหน้าที่นำตู้สินค้าเปล่ากลับมาคืนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับตราส่งในการชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้สินค้าเมื่อไม่รับมอบและส่งคืนตู้
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งของที่ระบุไว้ในใบตราส่งนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่ง จำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดในใบตราส่ง โดยเงื่อนไขการขนส่งของซีวาย ตัวหลัง และโจทก์ได้ขนส่งตู้สินค้าพิพาทถึงท่าปลายทางทั้งได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยมิได้ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้สินค้าตกค้างอยู่ในตู้จนกระทั่งตู้สินค้าถูกอายัดไว้ดำเนินคดีเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตู้สินค้าได้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้สินค้าจนกว่าจะส่งมอบตู้สินค้าดังกล่าวคืนโจทก์