คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ตู้โทรศัพท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ ศาลยืนตามดุลพินิจศาลล่าง ไม่รอการลงโทษจำคุก เนื่องจากพฤติการณ์ร้ายแรง
จำเลยลักเอาเงินจำนวน 2,051 บาท ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจากเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งไว้ให้บริการแก่ประชาชนในเวลากลางคืน โดยใช้กุญแจและอุปกรณ์อื่นที่จัดเตรียมมาเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด และใช้จักรยานเป็นพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด พาทรัพย์ไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ และอาจก่อให้เกิดความขัดข้องในการใช้โทรศัพท์สาธารณะของประชาชนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอีกด้วย ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ นับว่าอยู่ในวัยที่มีวุฒิภาวะและมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีพอสมควรแล้ว แต่กลับกระทำความผิดดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงความสงบสุขของสังคมส่วนรวมจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2995/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และความถูกต้องของการปรับบทลงโทษ
เงินที่จำเลยทั้งสามลักเอาจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(10) ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษตามมาตราดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และที่พิพากษาปรับจำเลยทั้งสามคนละ 50 บาท โดยมิได้พิพากษาว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับจะจัดการอย่างไรต่อไปสมควรแก้ไขว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4208/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์จากตู้โทรศัพท์: การกระทำความผิดสำเร็จเมื่อเอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้อื่น
จำเลยได้ร่วมกับ พ. ลักเหรียญกษาปณ์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะโดย พ.ให้จำเลยเข้าไปในตู้โทรศัพท์สาธารณะทำทีเป็นโทรศัพท์และ พ.เข้ามาในตู้โทรศัพท์ด้วย พ.ให้จำเลยช่วยเปิดง้างแผ่นเหล็กของช่องคืนเหรียญของตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อให้ พ.ใช้ลวดที่ดัดแปลงมาเขี่ยให้เหรียญกษาปณ์ในตู้โทรศัพท์สาธารณะไหลลงมา การที่จำเลยร่วมมือกับ พ.เข้าไปนำเหรียญกษาปณ์ที่ติดค้างอยู่ โดยจำเลยทำทีเป็นผู้ใช้โทรศัพท์พูดจาเพื่อกลบเกลื่อนไม่ให้ผู้อื่นสงสัย ระหว่างนั้นให้ พ.เขี่ยกระดาษที่อุดไว้จนเหรียญกษาปณ์ตกลงไปสู่มือของจำเลยและ พ.ที่รอรับอยู่ เป็นการร่วมมือกันเอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของเจ้าของทรัพย์ที่ยังมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นอยู่ จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ.มาตรา 335(7) ประกอบด้วยมาตรา 83 โจทก์มิได้นำสืบว่าจำเลยร่วมเอากระดาษไปอุดช่องคืนเหรียญโทรศัพท์กับ พ.และมิได้นำตัวพลเมืองดีผู้แจ้งเหตุ รวมทั้งผู้เสียหายและเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมคนอื่น ๆ มาเบิกความนั้น เห็นว่า
เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 335(7) ประกอบด้วย มาตรา 83 ได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องนำสืบไปจนถึงกับว่า มีการร่วมมือกันมาตั้งแต่แรกหรือนำสืบพยานบุคคลอื่น ๆ ให้ฟุ่มเฟือยเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น
เหรียญกษาปณ์ที่ตกลงไปในช่องคืนเหรียญเนื่องจากไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังสายปลายทางได้นั้นยังเป็นของผู้ใช้โทรศัพท์สาธารณะอยู่ โดยปกติแล้วจะต้องตกลงไปถึงช่องคืนเหรียญที่อยู่ต่ำลงไปข้างล่างให้ผู้ใช้โทรศัพท์สาธารณะแง้มเหล็กฝาปิดช่องดังกล่าวล้วงเอาเหรียญกษาปณ์กลับคืนไป การที่ พ.นำก้อนกระดาษไปอุดไว้ในช่องคืนเหรียญในตำแหน่งที่อยู่เหนือฝาปิดขึ้นไป เป็นเพียงการขัดขวางไม่ให้เหรียญกษาปณ์ตกกลับลงไปถึงมือผู้ใช้โทรศัพท์สาธารณะที่รออยู่ โดยเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวยังคงติดค้างอยู่ในเครื่องโทรศัพท์สาธารณะในลักษณะที่ง่ายแก่การมาล้วงเอาไปในภายหลัง ความครอบครองยังอยู่กับเจ้าของเหรียญกษาปณ์ที่รอรับเหรียญกษาปณ์นั้นอยู่และการที่เจ้าของเหรียญกษาปณ์ออกจากตู้โทรศัพท์สาธารณะไปไม่ได้หมายความว่ามีเจตนาสละทิ้งเหรียญกษาปณ์ที่ติดค้าง เพราะการสละกรรมสิทธิ์จะต้องกระทำด้วยความสมัครใจมิใช่อยู่ในลักษณะที่ถูกขัดขวางการได้ทรัพย์กลับคืน ฉะนั้น ขณะที่เหรียญกษาปณ์ตกลงไปค้างอยู่บนก้อนกระดาษในช่องคืนเหรียญ ความผิดฐานลักทรัพย์ยังไม่สำเร็จเพราะ พ.ยังไม่ได้เอาเหรียญกษาปณ์นั้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งกรรมการไขกุญแจตู้โทรศัพท์ต้องเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด หากไม่มีคุณสมบัติ การมอบหมายหน้าที่ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การเคหะแห่งชาติมีคำสั่งกำหนดบุคคลผู้ไขกุญแจตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งในบริเวณเคหะชุมชนต่าง ๆ โดยในคำสั่งนั้นระบุตำแหน่งของกรรมการไว้โดยเฉพาะ และมีหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนเป็นประธานกรรมการ ในกรณีที่บุคคลบางตำแหน่งไม่มีคำสั่งดังกล่าวก็ได้กำหนดให้หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่นเป็นกรรมการแทนแต่บุคคลนั้นต้องดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานจัดการทรัพย์สินหรือพนักงานธุรการประจำสำนักงานเคหะชุมชนนั้น จำเลยดำรงตำแหน่งทางสายงานเป็นพนักงานบริการและดำรงตำแหน่งทางการบริหารเป็นหัวหน้าคนงานสำนักงานดูแลเคหะชุมชน จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการไขกุญแจเก็บเงินจากตู้โทรศัพท์ได้ การที่หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่ไขตู้โทรศัพท์เก็บเงินส่งเจ้าหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งตั้งกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการมอบหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา หากแต่เป็นเรื่องมอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติแทนหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนในฐานะประธานกรรมการเป็นการภายในเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ในฐานะเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ การที่จำเลยเบียดบังเงินที่เก็บได้จากตู้โทรศัพท์บางส่วนจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่เมื่อการเคหะแห่งชาติมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าผู้อื่นโดยไม่ถือเป็นบันดาลโทสะ เหตุจากการโต้เถียงเรื่องย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะ ศาลลดโทษจำเลย
เพียงแต่ผู้ตายเป็นผู้ดำเนินการย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งที่หน้าบ้านจำเลยไปติดตั้งที่ศาลารวมใจ และโต้เถียงกับจำเลยในเรื่องดังกล่าว แม้ผู้ตายจะด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายดังที่จำเลยอ้าง ก็หาใช่เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ทั้งจำเลยเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุ ไม่มีเหตุที่ผู้ตายจะข่มเหงจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 830/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี แม้เคลื่อนย้ายได้
อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลางในเรื่องการมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 6,600 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25
มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง
ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินและคำชี้ขาด เพราะเป็นการประเมินและคำชี้ขาดโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยโจทก์เห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด เป็นการฟ้องว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามมาตรา 31 วรรคท้าย
ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่งแม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดิน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้น และในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษีนั้น ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มิได้มีการเคลื่อนย้ายแต่ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5
ทรัพย์สินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อบริษัทโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดังเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3841/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามลักทรัพย์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ: การตีความความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ และการปรับบทลงโทษ
เงินที่จำเลยทั้งสองพยายามลักจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ ไม่ใช่ทรัพยที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (10) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปรับบทลงโทษตามมาตรา 335 (10) จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ตู้โทรศัพท์สาธารณะของรัฐวิสาหกิจไม่เข้าข้อยกเว้น แม้ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างถาวร
มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด ถือว่าเป็นการฟ้องร้องว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามมาตรา 31 วรรคท้าย และคำชี้ขาดดังกล่าวยังไม่เด็ดขาดโจทก์มีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดิน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้นและในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษี ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ก็มิได้มีการเคลื่อนย้ายแต่ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามมาตรา 5
บริษัทโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดังเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2)