คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ถอนการลาออก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5174/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงเจตนาลาออกแล้วถูกยับยั้ง และกลับเข้าทำงาน ถือเป็นการถอนการลาออก คำสั่งอนุมัติลาออกจึงไม่ชอบ
โจทก์ได้แสดงเจตนาลาออกแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 แล้ว แม้การแสดงเจตนาดังกล่าวไม่อาจถอนได้ก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้สนองรับ โดยจำเลยได้ยับยั้งการลาออกของโจทก์ไว้แล้วอนุญาตให้โจทก์กลับเข้าทำงานอีก จึงเท่ากับจำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ถอนใบลาออก คำเสนอขอลาออกของโจทก์จึงเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป ดังนั้น จึงไม่มีหนังสือขอลาออกของโจทก์ที่จำเลยจะอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้อีก คำสั่งของจำเลยที่อนุมัติให้โจทก์ลาออกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13145/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนการลาออก การจ่ายค่าคอมมิสชันเกิน และดอกเบี้ย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลแรงงานเท่านั้นเป็นผู้ซักถามพยานของฝ่ายโจทก์หรือของฝ่ายจำเลย หรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง โจทก์หรือจำเลยไม่มีสิทธิซักถามเว้นแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตเท่านั้น และการถามพยานที่ฝ่ายตนอ้างหรืออีกฝ่ายหนึ่งอ้างให้เป็นซักถามทั้งสิ้น การซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างจึงไม่เป็นการถามค้านไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่บัญญัติให้ฝ่ายที่อ้างพยานซักถามพยานที่ตนอ้างก่อนแล้วจึงให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านพยานนั้น และเป็นสิทธิของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะซักถามและถามค้านพยานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน และไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) ที่บัญญัติให้ถามค้านพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาและนำพยานนั้นเข้าสืบก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการซักถามพยานในศาลแรงงานได้
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยแสดงเจตนาแก่นายจ้างและไม่อาจถอนหรือยกเลิกเจตนานั้นได้หมายถึงกรณีที่ลูกจ้างแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างเพียงฝ่ายเดียวแล้วลูกจ้างขอถอนหรือยกเลิกเจตนาเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมพร้อมใจของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาของลูกจ้างที่ขอเลิกสัญญาจ้างด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงยกเลิกและยินยอมให้โจทก์ถอนการแสดงเจตนาลาออกของโจทก์ จึงทำให้การลาออกของโจทก์ถูกถอนไปแล้ว
การชำระหนี้ตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 หมายถึงการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่ต้องชำระ การที่จำเลยชำระค่าคอมมิสชันให้โจทก์เกินจำนวนที่โจทก์มีสิทธิได้รับโดยผิดหลง ไม่แม่นยำในหลักการ หรือเกิดจากการคำนวณผิด ไม่ใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจ
โจทก์รับเงินค่าคอมมิสชันในเดือนสุดท้ายเท่ากับที่เคยรับ เชื่อได้ว่าโจทก์รับไว้โดยสุจริตโดยเชื่อว่ามีสิทธิรับไว้ได้ โจทก์จึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้รับ แต่เมื่อโจทก์ทราบว่าจะต้องคืนเงินดังกล่าวเมื่อถูกจำเลยฟ้องแย้งแล้ว ถือว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกโดยสมัครใจ สิทธิในการถอนการลาออก และผลของการยึดทรัพย์สินของนายจ้าง
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าจำเลยได้รับหนังสือลาออกจากโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อ ร. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ซึ่งหมายถึงโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงตามที่ยุติจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวน และเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลาออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากจำเลย อันมีความหมายว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ลาออกโดยไม่สมัครใจ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ขอลาออกเพราะถูก ร. ข่มขู่นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ป.พ.พ. มาตรา 386 ไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับแก่สัญญาประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงใช้บังคับแก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาจ้างแรงงานด้วย การที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาแก่นายจ้าง ลูกจ้างไม่อาจถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญานั้นได้ แต่ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของลูกจ้างด้วย โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แสดงเจตนาถอนการลาออก แต่จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้โจทก์ส่งใบลามาใหม่ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องโจทก์และจำเลยตกลงให้โจทก์ถอนการลาออกหรือยับยั้งการลาออกของโจทก์ แต่เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบภายในของจำเลยเพื่ออนุมัติการลาออกของโจทก์ หนังสือลาออกจึงยังมีผลบังคับอยู่ และการที่จำเลยยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยให้โจทก์ไว้ใช้ในการทำงานคืนจากโจทก์นั้น ก็เป็นเพราะใกล้วันที่หนังสือลาออกของโจทก์จะมีผลแล้ว จึงมิใช่กรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์