คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ถือครองแทน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินโดยคนต่างด้าว การถือครองแทน และอำนาจจำหน่ายที่ดินตามกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา97ให้สิทธิคู่ความฝ่ายหนึ่งจะอ้างคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของตนได้ดังนั้นการที่โจทก์อ้างจำเลยที่2เป็นพยานโจทก์และจะนำสืบเมื่อใดก็ได้แล้วแต่โจทก์จะเห็นสมควรไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากป.ขณะนั้นโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวจึงไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัทย. จำกัดซึ่งมีจำเลยที่2ถือกรรมสิทธิ์แทนนั้นเป็นการนำสืบเพื่อให้เห็นว่าโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวซื้อที่ดินพิพาทจากบุคคลภายนอกโดยจำเลยที่2เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแทนโจทก์นั่นเองไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นส่วนที่ว่าโจทก์ซื้อมาจากใครเป็นรายละเอียดไม่ทำให้การนำสืบของโจทก์ต้องเสียไป ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีโจทก์เป็นบุคคลมีสัญชาติไทยจึงเชื่อว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเอาคืนที่ดินของโจทก์ที่จำเลยที่2ถือกรรมสิทธิ์แทนได้ส่วนการที่โจทก์อ้างจำเลยที่2เป็นพยานก็เนื่องจากกฎหมายให้สิทธิไว้การฟ้องคดีและการดำเนินคดีของโจทก์ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับจึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ในขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัทย. จำกัดโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงต้องห้ามชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา86และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113เดิม(มาตรา150ที่แก้ไขใหม่)แต่ผลของการที่นิติกรรมเป็นโมฆะดังกล่าวไม่ทำให้นิติกรรมเสียเปล่าไปยังคงมีผลตามกฎหมายอยู่แต่โจทก์ไม่มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต้องจัดการจำหน่ายตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา94และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะที่ดินพิพาทเท่านั้นไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการจำนองในคดีล้มละลาย: การถือครองกรรมสิทธิ์แทนและการรับจำนองโดยไม่สุจริต
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินแต่ใส่ชื่อ น. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนต่อมามีการจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจำนอง เป็นการกล่าวอ้างว่าการที่มีชื่อน. ในโฉนดเป็นเพียงการถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยเท่านั้นมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ น.โดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ อันผู้ร้องจะต้องร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยกับ น. ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการจำนองได้โดยตรง แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจะเคยมีความเห็นว่าผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจึงไม่เพิกถอนการจำนองก็ตาม แต่เมื่อได้มีการสั่งให้สอบสวนถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีกครั้งแล้ว ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอเพิกถอนการจำนองต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 เพราะอำนาจในการร้องขอให้เพิกถอนไม่อาจสละได้ ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนจึงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยไม่สุจริตไปด้วยแม้ผู้คัดค้านได้ฟ้องบังคับจำนองในระหว่างที่คดีล้มละลายอยู่ในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องสอบสวนเพื่อพิจารณาร้องขอเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท และผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้คัดค้านกลายเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดไปโดยสุจริต เมื่อผู้คัดค้านเพิ่งฟ้องบังคับจำนองหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด จึงถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีที่ผู้คัดค้านฟ้องบังคับจำนองนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์การบังคับคดีและการที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จึงใช้ยันแก่ผู้ร้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2487/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อที่ดินโดยคนต่างด้าว การถือครองแทน และสิทธิในการบังคับจำหน่าย
โจทก์เป็นคนต่างด้าวร่วมกับพวกซึ่งเป็นคนต่างด้าวอีกคนหนึ่งซื้อที่ดินตาม น.ส.3 แปลงหนึ่งโดยตกลงให้จำเลยมีชื่อถือสิทธิแทน การกระทำดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 จึงเป็นโมฆะ แต่มาตรา 94 แห่งกฎหมายดังกล่าวให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นเสียภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดให้ ความเป็นโมฆะดังกล่าวจึงไม่เสียเปล่า ยังมีผลตามกฎหมายอยู่หากแต่ว่าคนต่างด้าวจะถือสิทธิเอาที่ดินเป็นของตนไม่ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นโจทก์ย่อมนำสืบได้ว่า จำเลยซึ่งมีชื่อถือสิทธิในที่ดินนั้นถือสิทธิแทนตนและบังคับจำเลยให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้แก่ตนได้แต่จะขอให้ แสดงกรรมสิทธิ์และให้จำเลยโอนที่พิพาทให้แก่ตนไม่ได้
ฎีกาจำเลยกล่าวแต่เพียงว่ามีความสงสัยในคำวินิจฉัยของศาลล่าง มิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งในข้อโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างว่า ไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2511 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อที่ดินโดยคนต่างด้าวและถือครองแทนบุคคลอื่น สัญญาเป็นโมฆะและอายุความไม่ตัดสิทธิ
การที่โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินในต่างจังหวัดและประสงค์จะให้บุตรเป็นผู้รับโอน แต่บุตรยังเป็นเด็กและอยู่ในกรุงเทพฯจึงให้จำเลยเป็นผู้รับโอนแทนนั้น แม้จำเลยจะเข้าครอบครองเสียภาษี และแจ้งการครอบครองลงชื่อของจำเลยเองในที่ดินแปลงนั้นก็ตาม ก็เป็นการครอบครองแทนโจทก์ ถึงแม้จำเลยจะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่อาจยกอายุความขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ และจำเลยจะอ้างว่ายึดถือครอบครองเพื่อตนเองก็ไม่ได้ เพราะมิได้มีการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ โดยบอกกล่าวไม่เจตนาจะยึดถือแทนหรือครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก
การที่โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินและให้จำเลยซึ่งเป็นคนไทยเป็นผู้รับโอนแทนนั้นวัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เพราะขัดกับประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 และมาตรา113 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์จะบังคับจำเลยให้โอนที่ดินนั้นให้แก่โจทก์โดยโอนในนามของบุตรโจทก์ซึ่งเป็นคนไทยหาได้ไม่และการยึดถือที่ดินของจำเลยเป็นการยึดถือแทนโจทก์ จำเลยก็จะอ้างว่าเป็นเจ้าของไม่ได้ ผลต่อไปต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 96
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2511)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1617/2498 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีมรดก 1 ปี และผลของการไม่ถือครองแทน
ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี
โจทก์ฟ้องเรียกมรดกโดยฐานเป็นทายาท บรรยายฟ้องว่าที่ไม่ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก 1 ปี เพราะจำเลยมาสู่ขอบุตรสาวโจทก์ โจทก์ยินยอมและตกลงกันว่าเมื่อแต่งงานกันแล้วก็จะได้ใส่ชื่อจำเลยและบุตรสาวโจทก์ โจทก์ถือว่าจำเลยครอบครองมรดกแทนโจทก์และเป็นสัญญากองทุนในการสมรสชอบที่จะบังคับได้ พฤติการณ์เช่นนี้ไม่เป็นการครอบครองแทนและโจทก์มิได้ฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญา หากฟ้องขอแบ่งมรดก คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15572/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถือครองกรรมสิทธิ์แทนกัน: โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยถือครองแทน สิทธิคืนแก่เจ้าของ
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ แม้จำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์หาเงินมาชำระค่าขึ้นศาล เป็นการทิ้งฟ้องและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และฟ้องบังคับให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แม้ไม่ได้ทำหนังสือตั้งให้เป็นตัวแทนก็ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง
โจทก์สืบพยานบุคคลว่าผู้มีชื่อในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและในโฉนดเป็นตัวแทนของโจทก์นั้น หาได้สืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือตามความหมายใน ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) นั้นไม่ แต่เป็นการสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงหาใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่ประการใด