คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ที่ดินต่อเนื่อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การเปลี่ยนแปลงพื้นที่และหลักฐานจากคำพิพากษาศาลฎีกา
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 19 บัญญัติว่า ผู้รับประเมินจะต้องยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และมาตรา 24 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดประเภททรัพย์สิน ค่ารายปีกับค่าภาษีที่จะต้องเสียและให้พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินไปให้ผู้รับประเมินทราบโดยไม่ชักช้า นอกจากนี้ มาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) ยังบัญญัติว่าผู้รับประเมินผู้ใดยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 ดังนั้นการแจ้งการประเมินย้อนหลังในกรณีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์แล้วจะต้องกระทำภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของปีภาษีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์
โจทก์ยื่นแบบพิมพ์แจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 ถึง 2536 ในปี 2532 ถึง 2536 ภายในกำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโดยไม่ชักช้า หากเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นเพราะแจ้งค่ารายปีไม่ถูกต้อง หรือมีทรัพย์สินบางรายการต้องนำมาคำนวณเพิ่มเติมหรือเพราะโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ทำการประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการประเมินย้อนหลังภายใน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ มิใช่ภายในกำหนด 10 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับประเมินไม่ยื่นแบบพิมพ์ การที่พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีสำหรับปีภาษี 2532 ถึง 2536 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 จึงเกินกำหนด 5 ปี
คลังพัสดุของโจทก์มีเนื้อที่ 3,360 ตารางเมตร เมื่อหักพื้นที่อาคารโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ออกแล้วคงเหลือพื้นที่อีก 98,944 ตารางเมตร ในส่วนพื้นที่ที่เหลือนั้น ได้มีคำวินิจฉัยในคดีก่อนว่าเป็นที่ว่างมิได้ใช้ปลูกสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นและอยู่กระจัดกระจายกันไป ทั้งบริเวณรอบอาคารคลังพัสดุมีรั้วล้อมรอบ พื้นที่ว่างนอกรั้วอยู่แยกต่างหากจากคลังพัสดุ โดยมีถนนทางรถไฟและคลองคั่น พื้นที่ดังกล่าวจึงมิใช่ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับอาคารคลังพัสดุ ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวรวมกับพื้นที่อาคารคลังพัสดุ โดยอ้างว่าเป็นที่ดินต่อเนื่องกับคลังพัสดุแล้วประเมินค่าภาษีจากโจทก์ในปีภาษี 2540 อีก ย่อมไม่ถูกต้อง จึงต้องคำนวณค่ารายปีของอาคารคลังพัสดุใหม่ โดยถือตามจำนวนพื้นที่ของอาคารคลังพัสดุที่ฟังยุติแล้วในคดีก่อนมาเป็นหลักในการคำนวณ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ที่ดินต่อเนื่องต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน การประเมินรวมจึงชอบด้วยกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 6"ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ"หมายความว่า ที่ดินซึ่งปลูกโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆและบริเวณต่อเนื่องกันซึ่งตามปกติใช้ไปด้วยกันกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างนั้น ๆ ได้ความว่า คลังพัสดุของโจทก์มีพื้นที่ 3,360 ตารางเมตร ส่วนที่ดินอีก 98,944 ตารางเมตรนั้นเป็นพื้นที่ในส่วนที่โจทก์ไม่ได้ใช้ปลูกโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ทั้งเมื่อนำมาพิจารณาประกอบแผนผังแสดงที่ตั้งคลังน้ำมันของโจทก์และภาพถ่ายที่ตั้งคลังพัสดุแล้วเห็นได้ว่าพื้นที่ว่างที่มิได้ใช้ปลูกโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่กระจัดกระจายกันไป อีกทั้งบริเวณรอบอาคารคลังพัสดุก็มีรั้วล้อมรอบ พื้นที่ว่างนอกรั้วแยกอยู่ต่างหากจากคลังพัสดุโดยมีถนนกับทางรถไฟและคลองคั่นอยู่ ดังนั้น พื้นที่ว่างที่ ไม่ได้ปลูกโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่เหลือเนื้อที่ 98,944 ตารางเมตร จึงมิใช่พื้นที่บริเวณต่อเนื่องกับคลังพัสดุ การที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำเอาพื้นที่ดังกล่าวมารวมกัน พื้นที่คลังพัสดุ แล้วประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ จึงเป็น การประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวของผู้ว่าราชการของจำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4056/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ที่ดินต่อเนื่องต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันกับสิ่งปลูกสร้าง
อาคารคลังพัสดุของโจทก์มีพื้นที่ 3,360 ตารางเมตร ส่วนที่ดินอีก 98,944ตารางเมตร เป็นพื้นที่ในส่วนที่โจทก์มิได้ใช้ปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆโดยอยู่กระจัดกระจายกันไปและมิใช่พื้นที่บริเวณต่อเนื่องอันจะใช้ไปด้วยกันกับอาคารคลังพัสดุ กรุงเทพมหานครจำเลยจะนำพื้นที่ดินที่โจทก์เช่ามาหักด้วยพื้นที่ที่โจทก์ใช้ก่อสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างแล้วนำพื้นที่ส่วนที่เหลือมาประเมินรวมกับพื้นที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอาคารใดอาคารหนึ่งย่อมไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7325/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินต่อเนื่องกับสิ่งปลูกสร้าง: การประเมินภาษีที่ดินต้องพิจารณาการใช้ประโยชน์จริง
ทรัพย์สินที่กำหนดตามมาตรา 6(1) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 นั้นภาษีจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในภาค 1 ส่วนทรัพย์สินตามมาตรา 6(2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 นั้นภาษีจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ซึ่งหลักเกณฑ์ของภาษีทั้งสองภาคนั้นกฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน กรณีที่ดินที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ว่างมิได้ใช้ปลูกโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่กระจัดกระจายกันไป มิใช่พื้นที่บริเวณต่อเนื่องกับสนามน็อกบอร์ดและมีถนนสาธารณะกั้นอยู่ระหว่างที่ว่างกับสนามดังกล่าว รวมทั้งพื้นที่ว่างนอกรั้วคลังพัสดุที่ใช้เก็บพัสดุสิ่งของต่าง ๆ มิได้ใช้เป็นที่เก็บพัสดุ หรือนำพัสดุมาตั้งไว้รอเก็บ หรือเป็นที่จอดรถยนต์เพื่อขนส่งพัสดุ อีกทั้งคลังพัสดุอยู่ห่างจากสนามเทนนิสและสนามน็อคบอร์ดประมาณ 800 เมตร ถึง 1,500 เมตรและอยู่แยกต่างหากจากโรงเรือนของโจทก์ มีถนน ทางรถไฟและคลองกั้นอยู่นั้น มิใช่ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับสนามน็อกบอร์ด และคลังพัสดุอันเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ แม้โจทก์จะไม่สำแดงจำนวนเนื้อที่ที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างไว้แต่ถ้าหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีที่ดินที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างแล้วจำเลยก็สามารถประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนนี้จากโจทก์ได้ ดังนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำเอาพื้นที่ดังกล่าวมารวมกับพื้นที่ของสนามน็อกบอร์ด แล้วประเมินภาษีตามภาค 1 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475ในปีภาษี 2531-2533 และนำเอาพื้นที่ดังกล่าวมารวมกับพื้นที่คลังพัสดุแล้วประเมินภาษีตามภาค 1 แห่ง พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ในปีภาษี 2534เช่นนี้ จึงเป็นการประเมินที่มิชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสนามกอล์ฟ: พิจารณาความแตกต่างระหว่างสิ่งปลูกสร้างและที่ดินต่อเนื่อง
แม้คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 1 จะมีมติยืนตามการประเมิน โดยวินิจฉัยว่า สนามกอล์ฟพิพาทเป็นโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นแตกต่างจากการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ประเมินว่า สนามกอล์ฟพิพาทเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น คือ อาคารสโมสรและอาคารบริการต่างๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นการวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันว่าสนามกอล์ฟเป็นทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 6 (1) หรือไม่ ประกอบกับคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 1 มีมติยืนตามการประเมิน กรณีจึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในรายการอื่น คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจกระทำได้
ปัญหาว่าพื้นที่บริเวณที่ดินสนามกอล์ฟจะเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับสิ่งปลูกสร้างหรือไม่นั้น แม้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 จะมิได้กำหนดความหมายของสิ่งปลูกสร้างได้โดยเฉพาะ แต่ลักษณะสภาพของสะพาน ซุ้มต่างๆ และสิ่งต่างๆ ที่โจทก์ก่อสร้างในบริเวณสนามกอล์ฟล้วนก่อสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์แก่บุคคลต่างๆ ในพื้นที่สนามกอล์ฟทั้งสิ้นถือได้ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้าง ส่วนพื้นที่สนามกอล์ฟที่เหลือนอกเหนือจากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสนามหญ้า บ่อน้ำ สระน้ำ ทะเลสาบ บ่อทราย พื้นที่ปลูกต้นไม้หรือพื้นที่ว่างเปล่าอื่นๆ ได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์เพียงว่าเป็นการปรับปรุงพื้นที่ดินจากสภาพธรรมชาติเดิมขึ้นมาให้เหมาะสมกับการใช้สนามกอล์ฟเท่านั้น จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงในการปรับปรุงพื้นดินให้เป็นสนามกอล์ฟของโจทก์ว่า มีการจัดทำโครงสร้างอย่างใดที่พอจะถือได้ว่ามีสภาพที่เป็นสิ่งปลูกสร้างตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าลักษณะพื้นดินสนามกอล์ฟของโจทก์นอกเหนือจากที่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมีสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างด้วย คงฟังได้เพียงว่าเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับสิ่งปลูกสร้างตามความหมายใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 6 วรรคสาม