คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ที่ดินสาธารณประโยชน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 81 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดครองที่ดินสาธารณประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดต่อเนื่อง และไม่ขาดอายุความ
ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ เมื่อปรากฏว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ ดังนั้น แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6986/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ต่างกรรมต่างวาระ ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ แม้จะเคยถูกฟ้องในคดีก่อน
คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2512 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม2512 จำเลยบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองที่ดินหนองกก ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ปลูกบ้านอยู่อาศัยและปลูกต้นไม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 จำเลยได้เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างที่ดินเลี้ยงสัตว์หนองกกสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน รวมเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ โดยใช้รถไถเข้าไปไถปรับที่ดินเพื่อทำประโยชน์ แม้คดีก่อนศาลฎีกาจะพิพากษายกคำขอให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทแต่ก็ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งจำเลยเข้ายึดถือครอบครองหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว เป็นการครอบครองสืบเนื่องมาก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2514 ใช้บังคับ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ส่วนคดีนี้จำเลยใช้รถไถเข้าไปไถปรับที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1),108 ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นการกระทำหลังจากวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์2514 มีผลใช้บังคับ การกระทำจึงต่างกรรมต่างวาระแยกต่างหากจากการกระทำในคดีก่อน และความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 กับมาตรา 108 ทวิมีองค์ประกอบแตกต่างกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3772-3775/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ออกโฉนดโดยไม่ชอบ จำเลยมีสิทธิในที่ดินดีกว่า
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินที่ประกาศให้เป็นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันการที่โจทก์ออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยสิทธิจากการแจ้งการครอบครองภายหลังประกาศดังกล่าว แม้โจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตและโฉนดที่ดินยังไม่ถูกเพิกถอนก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์มิได้ครอบครองอยู่ก่อนแล้วจำเลยเข้าแย่งจากโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นกรณีที่ราษฎรฟ้องกันเองว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาสำนวนละ200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินสาธารณประโยชน์: การใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสิทธิในที่ดิน
ทรัพย์ของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้ ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา และไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดิน แม้โจทก์จะแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท
ท. เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านโบราณคดีถือว่าเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ เบิกความประกอบรายงานการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จัดทำขึ้นในทางการศึกษาวิจัยลักษณะของชุมชนโบราณที่มีอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ในประเทศไทยโดยดูจากภาพถ่ายทางอากาศ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินสาธารณประโยชน์: การแจ้งการครอบครองไม่ทำให้เกิดสิทธิ, อายุความใช้ไม่ได้กับที่ดินสาธารณะ
ทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้ ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินและไม่อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมสละที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ทำให้ที่ดินตกเป็นของแผ่นดิน แม้มีการโอนสิทธิภายหลัง
เมื่อไม่มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินพิพาทเพื่อก่อสร้างถนนสายอักษะตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และจำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีการเวนคืนที่ดินดังกล่าวตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ฉะนั้นที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกเวนคืนตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่เนื่องจากพฤติการณ์ของ บ. แสดงออกชัดว่าได้ยอมสละที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะเพื่อสร้างถนนสายอักษะตั้งแต่ปี 2508 และรับเงินค่าตอบแทนไปบ้างแล้ว ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้ต่อมาภายหลัง บ. ได้โอนที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทด้วย ก็หาทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524-2525/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินสาธารณประโยชน์-การฟ้องอาญา: การพิสูจน์สถานะที่ดินและเอกสารหลักฐานที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์
ที่ดินที่จะต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. และประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 มาตรา 5 จำกัดเฉพาะ ที่ดินรกร้างว่างเปล่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) เท่านั้น แต่ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องขึ้นทะเบียนและออกเป็น พ.ร.ฎ. แต่อย่างใด
แม้หนังสือที่นายอำเภอมีไปถึงสารวัตรใหญ่มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ก็ตาม แต่ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้รับฟังเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาด้วย ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท & ฎีกาข้อเท็จจริง – ที่ดินสาธารณประโยชน์
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ประมาณ 17 ไร่ จำเลยมีคำสั่งให้แก้ไขเนื้อที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 20 ตารางวา โดยอ้างว่าน.ส.3 ของโจทก์เฉพาะที่ดินส่วนนั้นออกทับหนองน้ำสาธารณประโยชน์ และมีคำขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่ 20 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส.3ที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง เท่ากับกล่าวอ้างว่าคำสั่งเพิกถอนของจำเลยมีผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่ถูกเพิกถอน ซึ่งถ้าหากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีย่อมมีผลให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทกลับคืนมา คดีของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้แก้ไข น.ส.3 ของโจทก์และขอให้ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไปก็ตาม แต่การที่ศาลจะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยต้องได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ มิใช่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ดังนั้น คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จึงเป็นคำขออันเป็นประธาน เมื่อที่ดินพิพาทมีราคา 82,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ และโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบคำสั่งทำให้คดีขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 นั้น ล้วนเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3633/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติสภาตำบลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีคัดค้านการใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์โดยไม่ถูกต้อง
การที่สภาตำบลเกาะยาวน้อยเข้าไปใช้ที่ดินทุ่ง สงวน เลี้ยงสัตว์เพื่อก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แม้กระทำไปตามขั้นตอนระเบียบแบบแผนของทางราชการและเพื่อประโยชน์ของราษฎร ทั่วไป แต่เมื่อยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา เพิกถอนสภาพที่ดินดังกล่าวก่อน เป็นเหตุให้โจทก์และราษฎรส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยและโต้แย้งคัดค้านเพื่อประโยชน์ของราษฎรที่ใช้ที่ดินดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์นั้น โดย ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาให้เสื่อมเสียประโยชน์ของตำบล แต่อย่างใด การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าโจทก์มีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียประโยชน์ของตำบล อันจะเป็นเหตุให้สภาตำบลมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งสมาชิก ตำบลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ข้อ 8(4)ได้ ทั้ง ตามรายงานการประชุมสภาตำบลเกาะยาวน้อยก็ปรากฏเหตุให้โจทก์ พ้นจากตำแหน่งว่าโจทก์ขัดขวางการปฏิบัติงานของสภาตำบลทำให้ เสื่อมเสียชื่อเสียงของว. ประธานสภาตำบล และทำให้ราษฎรบางกลุ่มมองสภาตำบลไปในทางผิด เสื่อมเสียชื่อเสียงของสภาตำบล อย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ตรงกับเหตุตามข้อ 8(4) แห่งประกาศของ คณะปฏิวัติดังกล่าว จึงถือว่ามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1500/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกันที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์: ศาลไม่ผูกพันคำพิพากษาคดีอาญา และจำเลยมีสิทธิสืบพยานในคดีแพ่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินแปลงที่ 35และแปลงที่ 36 เนื้อที่รวม 25 ไร่ 1 งาน 85 ตารางวา ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินบางส่วนของนิคมสหกรณ์อำเภอพนาที่โจทก์และสมาชิกนิคมสหกรณ์อำเภอพนาได้ร่วมกันกันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน และโจทก์ได้ขึ้นทะเบียนคุมที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยให้การว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ พ.ศ.2498 และทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยเมื่อ พ.ศ.2503 ก่อนที่พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ในท้องที่อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2519 มีผลใช้บังคับหากตัวแทนโจทก์ได้ขึ้นทะเบียนคุมที่ดินทั้งสองแปลงให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ก็ขึ้นทะเบียนโดยมิชอบ จึงมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้คือ การกันที่ดินพิพาทและขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาถึงที่สุดแล้ว อ้างเหตุผลที่ยกฟ้องในฐานความผิดตาม ป.อ.มาตรา 362 และ365 ว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินที่ไม่ได้จัดสรรให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ เป็นที่ดินที่สงวนไว้สำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินตามฟ้องจึงยังคงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน หาใช่เป็นที่ดินที่มีเอกชนเป็นเจ้าของหรือกรมส่งเสริมสหกรณ์ผู้เสียหายมีกรรมสิทธิ์อย่างเอกชนไม่ คดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดดังกล่าวไม่มีประเด็นโดยตรงว่า การกันที่ดินพิพาทและขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง จำเลยจึงมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบตามประเด็นดังกล่าวได้ และการพิจารณาคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงมิชอบ
of 9