คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ที่ดินส่วนที่เหลือ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของหน่วยงานราชการในการเวนคืน และสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือ
พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ระบุให้อธิบดีกรมโยธาธิการเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตาม พระราชกฤษฎีกา แต่การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของกรมโยธาธิการจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ การแจ้งวางทรัพย์และขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สิน หรือการแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ก็แจ้งเป็นหนังสือออกโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การที่อธิบดีกรมโยธาธิการจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการไปต้องถือว่ากระทำการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ได้กำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์และการฟ้องคดีของ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไว้แล้ว โดยผู้ที่ไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทน ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งเพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัยก่อน หากผู้มีสิทธิได้รับเงิน ไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสองก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี การที่โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอเงินค่าทดแทนเพิ่มในส่วนที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลง และกล่าวถึงที่ดินส่วนที่เหลือว่าใช้ประโยชน์ได้น้อยไม่ได้ราคาโดยไม่ได้กล่าวอ้างว่ามีราคาลดลงเท่าใดและจะขอค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่ จึงไม่ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทน ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือ & ขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.เวนคืน
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่โจทก์ขอค่าทดแทนเพิ่มในอุทธรณ์ของโจทก์ ค่าทดแทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้จึงเป็นค่าทดแทนที่ต้องถือว่าโจทก์พอใจแล้วไม่มีเหตุที่โจทก์จะโต้แย้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องศาลเรียกค่าทดแทนเพิ่ม การกำหนดเงินค่าทดแทนจะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการ มิใช่เพียงข้อหนึ่งข้อใด เมื่อโจทก์และจำเลยไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นได้ ว่าที่ดินโจทก์ที่จะต้องเวนคืนมีราคาตามธรรมดาที่ซื้อขายกัน ในท้องตลาดเป็นราคาเท่าใด ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้ตาม ความเหมาะสมโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนเป็นคนละส่วนคนละกรณีกัน กับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ไม่ได้กำหนด เงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่โจทก์ โจทก์คงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพียงว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับ ที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนต่ำเกินไป ไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนว่าราคาลดลงด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3453/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การประเมินค่าทดแทนตามกฎหมาย และสิทธิในการเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือ
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษ ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะดังนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนจึงต้องบังคับตามมาตรา 21(1) ถึง (5) แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และในขณะที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ มีผลใช้บังคับคือวันที่ 1 มกราคม 2531 ที่ถูกโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาไม่สูงเกินกว่าจำนวนค่าทดแทนที่โจทก์เคยอุทธรณ์และเคยฟ้องต่อศาลและราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯต่ำกว่าจำนวนค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ดังนั้น เมื่อจำนวนค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้ เป็นการกำหนดโดยได้คำนึงถึง (1)ถึง (5) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จึงเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ต้องเวนคืนที่ดินแปลงใดแต่เพียงบางส่วน ถ้าเนื้อที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นน้อยกว่ายี่สิบห้าตารางวา หรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่าห้าวา และที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน หากเจ้าของร้องขอ ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วยนั้น บัญญัติขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนทำการเวนคืนทำการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากเจ้าของที่ดินเพราะที่ดินส่วนที่เหลืออยู่น้อยหรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไป เมื่อปรากฏว่าที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีจำนวน 361 ตารางวา และเป็นผืนเดียวติดต่อกัน มิได้ถูกแบ่งแยกเป็นส่วน ๆ หากที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนี้มีด้านใดด้านหนึ่งน้อยกว่าห้าวาซึ่งสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไปแล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดที่ดินส่วนที่เหลือนี้ทั้งหมดได้แต่โจทก์ใช้ที่ดินส่วนที่เหลือนี้เนื้อที่ประมาณ 321 ตารางวาทำถนนคอนกรีตเพื่อประโยชน์ของโจทก์จนเหลือที่ดินอยู่ตามที่โจทก์อ้างประมาณ 40 ตารางวา ซึ่งมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ต่อไป แสดงว่าสภาพของที่ดินในส่วนนี้เกิดจากการกระทำของโจทก์ มิใช่เกิดจากการเวนคืนโดยตรงโจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินเฉพาะส่วนนี้ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6720/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การหักราคาที่ดินส่วนที่เหลือที่สูงขึ้นออกจากค่าทดแทนตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสอง ได้กำหนดเป็นหลักการไว้ว่า ถ้าการเวนคืนรายใดทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีราคาสูงขึ้นก็ให้เอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนส่วนวรรคสี่กำหนดถึงวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคสองว่า ให้ใช้หลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแต่หากขณะที่ดินถูกเวนคืนไม่มีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 21 วรรคสี่ ออกใช้บังคับ ก็ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ที่เห็นว่าเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมมาใช้ หาใช่ไม่ต้องนำราคาที่สูงขึ้นมาหักออกจากค่าทดแทนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การคำนวณค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือ, การชำระดอกเบี้ย, และหลักเกณฑ์การประเมินราคา
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคสามและวรรคสี่กำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงโดยคำนวณตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเป็นเรื่องให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเป็นฝ่ายถือปฏิบัติเมื่อมีกรณีอสังหาริมทรัพย์เหลือจากการเวนคืนอันทำให้ราคาลดลงเกิดขึ้นเพื่อให้การคำนวณราคาเป็นระเบียบแบบแผนเดียวกันมิได้หมายความว่าหากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นไม่กำหนดราคาที่ลดลงของอสังหาริมทรัพย์เพราะไม่มีพระราชกฤษฎีกาออกมาให้กำหนดราคาแล้วผู้ที่ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงบางส่วนไม่สามารถจะเรียกเงินค่าทดแทนได้ การที่โจทก์อ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือมีราคาลดลงและโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นนั้นย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้ ที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลือจำนวน351ตารางวา อยู่ด้านในไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะย่อมทำให้โจทก์ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนนี้ไม่ได้เหมือนเดิมจำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินค่าทดแทนแก่โจทก์สำหรับที่ดินส่วนที่เหลือนั้นด้วย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา26วรรคท้ายบัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยใน อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคาร ออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ10ต่อปีคงที่จึงไม่ถูกต้อง