คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ธรรมนูญ 2515

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2519

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจนายกฯ ตาม ม.17 ธรรมนูญฯ 2515: คำสั่งชอบด้วยกฎหมาย, คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณา, ไม่ขัดแย้งประเพณี
มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและระงับการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร เศรษฐกิจ และราชการแผ่นดิน คำสั่งต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีออกเพื่อการนี้จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ ไม่ต้องคืนทรัพย์แก่โจทก์ การวินิจฉัยว่าคำสั่งหรือการกระทำชอบด้วยมาตรา 17 หรือไม่ อยู่ที่ความเห็นของนายกรัฐมนตรี มิใช่ความเห็นของโจทก์หรือผู้อื่น (อ้างคำพิพากษาฎีกาประชุมใหญ่ที่ 494/2510)
การที่คณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นเพื่อทำการสอบสวนต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วตามคำสั่งคณะกรรมการใช้ดุลพินิจไม่ยอมให้ผู้ร้องนำพยานบุคคลเข้าสืบประกอบเอกสารที่คณะกรรมการรับพิจารณาอยู่แล้ว ไม่ถือเป็นการรวบรัดวินิจฉัยโดยไม่เป็นธรรม การปฏิบัติตามคำสั่งนั้นถือว่าชอบด้วยกฎหมายตามที่มาตรา 17 ตอนท้ายของวรรคแรกบัญญัติไว้
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฯ มาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการดังกล่าวเป็นบทบัญญัติในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดอยู่แล้ว จึงไม่เป็นการขัดแย้งหรือจะต้องวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18032/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งนายกฯ ตามมาตรา 17 ธรรมนูญ 2515 ชอบด้วยกฎหมาย แม้เป็นการลงโทษทางอาญาและถอดถอนข้าราชการ
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย" และมาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า "เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ" ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีออกคำสั่งลงวันที่ 4 ตุลาคม 2516 สั่งว่าโจทก์มีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและลงโทษจำคุกโจทก์ 7 ปี เป็นการกระทำไปตามที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีฐานะสูงสุดในขณะนั้นให้อำนาจไว้ แม้จะเป็นคำสั่งที่ว่าโจทก์กระทำความผิดทางอาญาข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และลงโทษจำคุกโจทก์ 7 ปี ทั้งออกคำสั่งโดยไม่ได้มีการพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลก็ตาม คำสั่งดังกล่าวก็เป็นคำสั่งที่มีผลบังคับได้ตามบทบัญญัติในกฎหมาย ซึ่งเมื่อไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด และด้วยผลของคำสั่งดังกล่าวกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 2 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 3 ในขณะนั้นได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.2507 โดยออกคำสั่งกระทรวงกลาโหมให้โจทก์ออกจากประจำการ ถอดยศทหาร และย้ายประเภททหาร อันเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่กำหนดอำนาจหน้าที่ให้กระทำเช่นนั้นได้ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติในกฎหมาย โดยไม่อาจถือว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อโจทก์ได้